เจาะ 3 พฤติกรรม “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำนักท่องเที่ยวเปลี่ยน! จองปุ๊บปั๊บ ทะลักกลางสัปดาห์

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
    
     3
พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยน จากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน
 
  • ศุกร์ - อาทิตย์เต็ม ก็หันมาจองห้องพักกลางสัปดาห์มากขึ้น
 
  • นิยมจองใกล้ๆ ล่วงหน้าไม่เกิน 1 อาทิตย์ เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้
 
  • เลือกที่พักที่เข้าร่วมโครงการก่อน เพื่อจะได้รับสิทธิ์ส่วนลด และคูปองอาหารเครื่องดื่ม
     

          

     ย่างเข้าสู่ฤดูไฮซีซั่นของทุกปีเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกคนต่างรอคอย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พักน้อยใหญ่ ซึ่งแม้จะต้องบอบช้ำกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาตั้งแต่ต้นปี แต่เมื่อเวียนมาถึงไฮซีซั่นท้ายปีความหวังก็เริ่มกลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการสนับสนุนจากภาครัฐอย่าง “เราเที่ยวด้วยกัน” เข้ามา จากบรรยากาศเงียบเหงาก็ดูจะคึกคักมากขึ้น เรียกว่าอาจดีกว่าเมื่อปลายปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ


     โดยเฉพาะจากการขยายระยะเวลาโครงการเพิ่มขึ้นเฟส 2 ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นพฤศจิกายน 2563 – สิ้นมกราคม 2564 (จากเดิมกรกฎาคม – ตุลาคม 2563) ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูไฮซีซั่นพอดี โรงแรมที่พักหลายแห่งกลับมียอดจองเข้ามาแบบล้นทะลัก แถมด้วยเงื่อนไขและสิทธิ์พิเศษที่ได้รับจากโครงการ ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปด้วย โดยจากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการที่พักตัวจริงเสียงจริง สามารถสรุปออกมาได้ 3 ข้อดังนี้




 
ห้องพักกลางสัปดาห์ถูกจองเต็มมากขึ้น
               

     ยอดการจองห้องพักเข้ามาของลูกค้าที่ใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน จะไม่ใช่แค่เฉพาะวันศุกร์ – อาทิตย์หรือวันหยุดยาวอย่างที่ผู้ประกอบการหลายคนคุ้นชินกันอีกต่อไปแล้ว ด้วยค่าห้องพักที่ลดลงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ บวกกับคูปองส่วนลดที่ใช้ได้สูงสุด 900 บาทต่อ 1 สิทธิ์ห้องพักในวันธรรมดา (จันทร์ – พฤหัส) ในขณะที่วันศุกร์ – อาทิตย์จะได้รับสูงสุดแค่เพียง 600 บาท จึงจูงใจให้ลูกค้าส่วนหนึ่งพยายามหันมาจองห้องพักในวันธรรมดามากขึ้นด้วย


     โดยผู้ประกอบหลายคนที่ได้สอบถามมาแจ้งว่า ปกติในช่วงกลางสัปดาห์ห้องพักจะค่อนข้างว่าง ถึงจะมีลูกค้าเข้าพักก็จะไม่เยอะมากเท่ากับศุกร์ - อาทิตย์ แต่หลังจากที่รัฐเริ่มมีการขยายโครงการสนับสนุนออกมาเฟส 2 ทำให้ยอดจองในวันธรรมดากลับเพิ่มสูงขึ้น จากที่เคยว่างก็กลายเป็นเกือบเต็มหรือบางวันก็เต็มไปแล้วด้วย ทำให้ตั้งรับแทบไม่ทันเช่นกัน แต่ถึงจะมียอดจองห้องพักเพิ่มมากขึ้น แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะจองวันหยุดสุดสัปดาห์ศุกร์ – อาทิตย์เข้ามาก่อนอยู่ดี เมื่อเห็นว่าถูกจองเต็มแล้ว ไม่เหลือห้องว่างจึงค่อยขยับมาเลือกในวันธรรมดามากขึ้น




 
นิยมจองใกล้ๆ ล่วงหน้าไม่เกิน 1 อาทิตย์
               

     อีกหนึ่งพฤติกรรมของลูกค้านักท่องเที่ยวที่ดูเปลี่ยนไปในช่วงเวลานี้ ก็คือ จากส่วนใหญ่ที่จะนิยมวางแพลนยาวล่วงหน้าเป็นหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนก่อนเข้าพัก ก็หันมาจองกันแบบใกล้วันเข้าพักล่วงหน้าแค่ 3 – 7 วันมากขึ้น เหตุผลอาจเป็นเพราะว่าเงื่อนไขการใช้สิทธิ์โครงการที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกได้หากทำการจองไปแล้ว


     โดยผู้ประกอบการที่พักเล็กๆ รายหนึ่งเล่าว่าก่อนเข้าสู่เดือนพฤศจิกายนตารางห้องพักของเขายังว่างอยู่มาก มีลูกค้าจองมาไม่ถึง 10 รายได้ซ้ำ แต่พอย่างเข้าสู่ต้นพฤศจิกายนได้ไม่นานเท่าไหร่ กลับมีลูกค้าจองเข้ามาแบบถล่มทลาย บางวันจองเข้ามามากถึง 20 - 30 รายได้ด้วยซ้ำ จนบางวันต้องปิดรับการจองลง เพื่อกลับไปตั้งตัววางแผนใหม่ เพราะไม่สามารถทำห้องพักให้ได้ทัน




 
ยอดจองกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ มาจากลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการรัฐ
               

     โดยจากข้อ 1 และ 2 ที่กล่าวมา ผู้ประกอบการที่พักที่ให้ข้อมูลต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกค้าที่ใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการสนับสนุนอื่นๆ จากภาครัฐในช่วงเวลานี้สูงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว โดยเห็นได้ชัดมากขึ้นตั้งแต่ที่มีการขยายระยะเวลาโครงการออกมาเฟส 2 เนื่องเป็นช่วงไฮซีซั่นเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวพอดี ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการได้รับส่วนลดค่าห้องพัก และคูปองส่วนลดค่าอาหารเครื่องดื่มก็ได้


     โดยผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นทิ้งท้ายว่าจะพยายามนำรายได้ที่ได้จากช่วงฤดูไฮซีซั่นนี้เก็บออมไว้ใช้ให้ได้นานที่สุด เนื่องจากไม่แน่ใจในสถานการณ์เศรษฐกิจในปีหน้า หรือหลังจากหมดโครงการสนับสนุนจากภาครัฐไปแล้วจะเป็นอย่างไร ก็ไม่รู้เลย



               

     จาก 3 ข้อที่กล่าวมานี้ อาจพอสรุปภาพของโครงการให้เห็นได้บ้างว่าประสบความสำเร็จได้ดีในระดับหนึ่ง แม้ปัจจุบันจากที่ได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกัน ยังมีสิทธิ์ที่พักเหลืออยู่อีกกว่า 2 ล้านสิทธิ์ หรือ 2 ล้านห้องพักด้วยกัน ซึ่งนักท่องเที่ยวหรือผู้ประกอบการที่พักท่านใดสนใจอยากสมัครเข้าร่วมโครงการก็ยังไม่สายเกินไป โดยสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024