เจาะโอกาสตลาดเครื่องดื่ม 2 แสนล้าน กลุ่มไหนมาแรง และยังโตได้แม้ในยุคโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ





     รู้ไหมว่าในปี 2564 นี้ ตลาดไหนที่ยังพอเติบโตได้แม้จะไม่ได้หวือหวาเหมือนยุคก่อนหน้านี้ หนึ่งในนั้นคือ “ตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์” (Non-alcoholic Beverage) แบบพร้อมดื่ม ที่คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่ารวมที่ประมาณ 1.97 - 1.99 แสนล้านบาท หรือเติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 0.5-1.5 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะสินค้าเครื่องดื่มเฉพาะกลุ่ม และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ที่คาดว่าจะยังเติบโตได้ดีแม้ในสถานการณ์โควิด-19
 

ตลาดเครื่องดื่มดั้งเดิมแปรผันตามกำลังซื้อและเศรษฐกิจ
           

     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานมูลค่าตลาดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์แบบพร้อมดื่มในปี 2564 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในกรอบ 0.5 - 1.5 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ประมาณ 1.97 - 1.99 แสนล้านบาท จากฐานต่ำในปี 2563 ที่อัตราการเติบโตของเครื่องดื่มรายประเภทส่วนใหญ่หดตัว นอกจากนี้ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายต่างเริ่มปรับกลยุทธ์การขายให้เข้ากับวิถีชีวิต New Normal มากขึ้น มีการขยายช่องทางขายมาสู่ออนไลน์มากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้  อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การฟื้นตัวในปี 2564 น่าจะยังไม่กลับสู่ระดับเดียวกับปี 2562 เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนในการระบาดของโควิด-19 รวมถึงกำลังซื้อโดยรวมที่ยังเปราะบางและยังไม่ดีขึ้นมากนัก จากความเสี่ยงเรื่องการมีงานทำและความกังวลต่อความมั่นคงของรายได้
               

     แต่อย่างไรก็ตามหากการแพร่ระบาดระลอกใหม่สามารถควบคุมได้ในระยะ 1-2 เดือนนี้ ก็จะส่งผลบวกต่อตลาดเครื่องดื่มโดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นช่วงพีคของธุรกิจเครื่องดื่ม โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม และโซดา โดยในภาพรวมแนวโน้มตลาดเครื่องดื่มแบบดั้งเดิมและทำตลาด Mass น่าจะแปรผันตามกำลังซื้อและสภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่จะยังรักษาส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้



               
           
เครื่องดื่มเฉพาะกลุ่ม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพยังเติบโตได้ดี


     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินค้ากลุ่มกาแฟพร้อมดื่มแบบ Specialty ที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าคอกาแฟ และน้ำผสมวิตามิน เครื่องดื่มวิตามิน ตลอดจนกลุ่ม Functional Drink เครื่องดื่มที่ให้คุณประโยชน์อื่นๆ จะเติบโตได้ดีกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาด เนื่องจากยังสามารถดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อและมองหาเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เฉพาะได้  และปัจจุบันก็ผู้ผลิตก็การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งในระยะยาวคาดว่ากลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเพิ่มส่วนแบ่งได้มากขึ้น โดยมีความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด



 

แนวทางปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันและโอกาสธุรกิจ


     ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันในตลาดจะยังมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดและดึงดูดกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งเราจะยังได้เห็นการปรับตัวของธุรกิจในหลากหลายรูปแบบ ดังนี้


1.การหาช่องว่างของประเภทเครื่องดื่มดั้งเดิม


     เช่น การพัฒนาน้ำผสมวิตามินที่ตอบโจทย์เทรนด์ Functional Drink มากขึ้น มีการเติมสารอาหาร/วิตามิน แต่มีรสชาติไม่แตกต่างจากน้ำดื่มและให้พลังงานต่ำ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องดื่ม Functional Drink  ในช่วงแรกที่มีการแต่งกลิ่นแต่งรสชาติ รวมถึงเครื่องดื่มวิตามินต่างๆ เพื่อทดแทนวิตามินจากอาหารได้บางส่วน


2.การตอบโจทย์ตลาดเฉพาะกลุ่ม


     เช่น กลุ่มกาแฟสำเร็จรูป Specialty อย่างกาแฟ Cold Brew กาแฟจากเมล็ดพันธุ์พิเศษ เป็นต้น


3. การมุ่งเน้นเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่


     เช่น เครื่องดื่มชูกำลังรสชาติใหม่และปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม ให้คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ที่หันมาเน้นภาพลักษณ์ที่ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้เล่นกีฬา แต่ขยายฐานลูกค้าไปสู่ลูกค้าทุกกลุ่มที่มี Active Lifestyle



 
           
จับตาปัจจัยกระทบต่อต้นทุนธุรกิจและความต้องการผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยน


     นอกจากการแข่งขันในตลาดที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังซื้อที่ยังเปราะบางแล้ว ในปี 2564 นี้ยังมีปัจจัยท้าทายที่ส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจและแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย นั่นคือ


     1.การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มครั้งที่ 3


     ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนในการพัฒนาและทำตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเก็บภาษีจะมีความเข้มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราขั้นบันไดตามปริมาณน้ำตาลต่อเครื่องดื่มปริมาตร 100 มิลลิลิตร ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 และจะทยอยปรับอัตราขึ้นแบบก้าวหน้าทุก 2 ปี จนถึงอัตราเพดานที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวก็ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาด ซึ่งถือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ผลิตทยอยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ทั้งสูตรลดน้ำตาล ลดความหวาน หรือใช้สารให้ความหวานทดแทน


      รวมถึงการมีฉลากสินค้า ‘ทางเลือกสุขภาพ’ ที่จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องไปกับทิศทางความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จะเห็นได้จากสินค้าเครื่องดื่มสุขภาพ เครื่องดื่มให้พลังงานต่ำ และเครื่องดื่มวิตามินที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 


     2.เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม


     กระแสรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าที่สอดคล้องไปกับความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคยุดใหม่ โดยเฉพาะปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค อย่างขวดพลาสติกที่มีสัดส่วนปริมาณขยะในทะเลมากที่สุด เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ เครื่องดื่มชนิดขวดแก้ว/กระป๋องอลูมิเนียม/กล่องกระดาษที่น่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และปรับไปใช้กับเครื่องดื่มหลายประเภทยิ่งขึ้น


     นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการนำขยะบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยกระบวนการรีไซเคิล หรืออัพไซเคิลได้อย่างเป็นระบบ ยังจำเป็นต้องมีระบบการเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งจูงใจให้ผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์ไปคืนและได้รับเงินสดหรือส่วนลดการใช้บริการต่างๆ ได้ ก็มีโอกาสที่ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยจะนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน
               

     นี่คือแนวโน้มของตลาดเครื่องดื่มในปี 2564 ที่ยังคงมีโอกาสและความท้าทายในอนาคต ซึ่ง SME ที่สนใจก็สามารถศึกษาและนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างแต้มต่อและโอกาสให้กับธุรกิจของตัวเองได้
 
               
     ที่มา : เรียบเรียงข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2