5 เทคนิคเป็น Brand Community ที่ใครๆ ก็ร้ากก! และอยากมาอยู่ด้วย

TEXT : กองบรรณาธิการ





      เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่ชื่นชอบหรือสนใจในเรื่องเดียวกันย่อมเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ซึ่งหากสามารถรวมกันให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนขึ้นมาได้ ย่อมจะเกิดประโยชน์ขึ้นมาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ ไปจนถึงการเป็นผู้สร้างเทรนด์หรือการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในเรื่องนั้นๆ ได้ ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าที่ผ่านมานั้นหรือแม้แต่ทุกวันนี้เองหลายแบรนด์ธุรกิจก็ยังคงพยายามสร้าง Brand Community หรือชุมชนของตนเองขึ้นมา เพื่อรวบรวมเหล่าผู้บริโภคที่ชื่นชอบในเรื่องเดียวกัน รวมถึงเพื่อใช้เป็นช่องทางสื่อสารออกไปสู่ลูกค้าตัวจริงของแบรนด์


      แต่จะทำอย่างไรจึงจะเกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ต่อไปนี้ คือ 5 เทคนิคการเป็น Brand Community ที่ใครๆ ก็รักกัน และอยากมาอยู่ด้วยกัน



 

ต้องเป็นตัวจริงที่หลงใหลในสิ่งเดียวกัน 


      กฎข้อแรกของการเป็น Brand Community ที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ แบรนด์จะต้องเป็นตัวจริงที่มีความรักหรือชื่นชอบในสิ่งเดียวกันอย่างแท้จริงกับผู้คนในชุมชนที่สร้างขึ้นมาด้วย โดยอาจเริ่มต้นค้นหาจากจุดเด่นของแบรนด์ที่มี ไปจนถึงการค้นหาบุคลิกตัวตนหรือจุดร่วมความสนใจที่มีคล้ายๆ กันระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคก็ได้ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันแล้ว หากแบรนด์สามารถเป็นผู้นำให้องค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ได้แล้ว ก็ไม่ยากที่จะทำให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จนใครๆ ก็อยากเข้ามาอยู่ร่วมด้วย เกิดเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งและมีคุณค่าขึ้นมาได้ในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่แบรนด์จะใช้ประโยชน์จากช่องทางที่มีอยู่เพื่อนำเสนอเรื่องราวของตนออกไป รวมถึงการขอความคิดเห็นหรือสอบถามความต้องการต่างๆ จากผู้บริโภคเพื่อนำมาใช้ปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้นไปได้



 

ไม่ลบคอมเมนต์ ให้เกียรติกับทุกความคิดเห็น 


     กฎข้อต่อมาของการเป็นชุมชนที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ คือ แบรนด์ต้องเปิดกว้าง ให้อิสระกับทุกความคิดเห็นจากผู้บริโภคที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับแบรนด์โดยตรง หรือการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่นำเสนอออกไป เพราะธรรมชาติของการเป็นชุมชนที่มีผู้คนอยู่หลากหลาย การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ซึ่งอาจมีทั้งแง่ลบและบวกแน่นอน หากไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมาชิกหรือใคร ควรปล่อยให้คงอยู่อย่างนั้น อย่าลบโพสต์ หรือปิดกั้น และให้ผู้คนในชุมชนได้ตัดสินใจกันเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่ออย่างไร ซึ่งการไม่ปิดกั้นดังกล่าวยังช่วยทำให้แบรนด์ได้รู้จักทัศนคติและตัวตนของผู้บริโภคตัวจริง รวมถึงข้อมูลความต้องการบางอย่างที่แบรนด์อาจไม่เคยรู้จากที่ไหนเลยก็ได้ ดังนั้นแล้วควรปล่อยทุกอย่างให้ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติแบบที่เป็น




 
ทำให้รู้สึกว่าเหมือนได้คุยกับคนจริงๆ 
 

      นอกจากการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกแล้ว การจะทำให้เกิดการเป็นชุมชนที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ อีกส่วนหนึ่ง คือ แบรนด์เองควรรับฟังและให้ความสำคัญกับสิ่งที่สมาชิกได้สอบถามเข้ามาด้วยแม้เป็นสิ่งเล็กน้อย โดยควรมีผู้รู้และเข้าใจเกี่ยวกับแบรนด์และสินค้าที่เป็นบุคคลจริงๆ ดูแลด้วย ไม่ใช่แค่พูดคุยกับระบบอัตโนมัติ เพราะอาจทำให้เกิดระยะห่างขึ้นมาได้ ซึ่งการที่แบรนด์ได้สร้างชุมชนขึ้นมา ส่วนหนึ่งย่อมทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า นี่คือ อีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับแบรนด์ได้โดยตรงและง่ายขึ้น โดยลดทอนรูปแบบความเป็นทางการออกไป ฉะนั้นโปรดอย่าทำให้พวกเขาผิดหวังและรอคอยนาน โดยในที่นี่แบรนด์อาจสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาด้วยก็ได้ เพื่อสร้างความเป็นกันเอง และช่วยให้เป็นที่จดจำได้ง่ายขึ้น




 
ให้โอกาสในการมีส่วนร่วม 


     แน่นอนว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เหล่าสมาชิกเข้ามาอยู่ในชุมชนของแบรนด์ นอกจากความชอบและความสนใจที่คล้ายกันแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความชื่นชอบในตัวแบรนด์ด้วยก็ได้ ดังนั้นแล้วอย่าปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป ลองนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น อาจให้เหล่าสมาชิกได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและออกแบบสินค้าของแบรนด์ในรูปแบบที่พวกเขาอยากได้หรือต้องการจริงๆ การทำเช่นนี้นอกจากอาจทำให้รู้ทิศทางที่ชัดเจนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้ว ยังทำให้ลูกบ้านหรือเหล่าสมาชิกเกิดความภาคภูมิใจและผูกพันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานที่ออกมานั้นๆ ด้วย และแน่นอนว่าพวกเขาย่อมต้องช่วยกันอุดหนุน เพราะนี่คือ สิ่งที่พวกเขาได้ร่วมกันคิด



 
 
พัฒนาระบบและโครงสร้างให้มีแข็งแรงอยู่เสมอ 
     

     การจะสร้างให้เกิดชุมชนออนไลน์ที่ดีขึ้นมาได้ ย่อมต้องการความเป็นธรรมชาติก็จริงอยู่ แต่การจะทำให้ชุมชนเติบโตขึ้นได้ การมีระบบและโครงสร้างที่แข็งแรงก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน ดังนั้นแบรนด์จึงควรพัฒนาปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ไม่ติดขัด หรือล่มง่ายๆ ดูแลรักษาความปลอดภัยข้อมูลของเหล่าสมาชิก รวมถึงรองรับการเติบโตของชุมชนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพราะแน่นอนว่าหากชุมชนดี น่าสนใจ ใครๆ ก็อยากเข้ามาอยู่ร่วมด้วย





 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024