5 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่กำลังมาแรงและน่าจับตามองในอนาคต

 



    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ  บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์หรือEIC ออกบทวิเคราะห์ 5 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่กำลังมาแรงและน่าจับตามองในอนาคต  


    อาหารและการบริโภคอาหารทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หากผู้คนในยุคสมัยก่อนมาอยู่ในปัจจุบันคงจะแปลกใจมากที่มีเส้นพาสต้าที่ทำจากวัตถุดิบอื่นที่ไม่ใช่ข้าวสาลี หรือมีการสั่งอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานล่วงหน้าจากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน ในบทความนี้จึงได้สรุปแนวโน้มการบริโภคอาหาร ซึ่งรวมถึงวิธีการซื้อ การปรุง และการรับประทานอาหาร ตลอดจนแนวคิดของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการรับมือของผู้ผลิต ดังนี้

    - อาหารเพื่อสุขภาพ
    - อาหารสำเร็จรูป
    - อาหารฮาลาล
    - อาหารและเครื่องดื่มเสริม
    - อาหารเพื่อผู้สูงอายุ

อาหารเพื่อสุขภาพ

    ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปมีความใส่ใจและดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มธุรกิจร้านค้าอาหารจากธรรมชาติและอาหารออร์แกนิก เช่น Whole Food Market ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากสามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มดังกล่าว ประเภทอาหารในกลุ่มนี้รวมถึงอาหารออร์แกนิก ผลิตภัณฑ์อาหารปราศจากกลูเตนและแลคโตส รวมทั้งอาหารที่มีสัดส่วนของน้ำตาลและไขมันต่ำ 

    ทั้งนี้ ในปี 2013 มูลค่าของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปอยู่ที่ราว 161,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ที่ 15% ต่อปี โดยมีตลาดอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นตลาดออร์แกนิกที่ใหญ่ที่สุดของโลก มูลค่าตลาดรวมกันสูงถึง 95% ของตลาดออร์แกนิกทั่วโลก 

    สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารปราศจากกลูเตนพบว่า เป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันตก เนื่องจากในภูมิภาคดังกล่าวมีคนไข้โรคเซลีแอค (แพ้กลูเตน) มากกว่าประเทศอื่นๆ และปัจจุบันพบว่าการบริโภคอาหารที่ปราศจากกลูเตนเป็นเพียงแนวทางเดียวในการรักษาโรคนี้ นอกจากนี้ แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์ปราศจากกลูเตนยังเพิ่มขึ้นจากความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ความเชื่อว่าอาหารประเภทดังกล่าวดีต่อสุขภาพมากกว่าอาหารที่มีกลูเตนอีกด้วย

 

อาหารสำเร็จรูป

    ความต้องการอาหารประเภทดังกล่าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจากรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น การขยายตัวของจำนวนร้านค้าแบบลูกโซ่ และขนาดครอบครัวที่เล็กลง อาหารในกลุ่มนี้จะรวมถึงอาหารสำเร็จพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง อาหารส่งถึงบ้าน ตลอดจนกลุ่มอาหารแปรรูปที่เน้นความสะดวกสบายในการบริโภคและมีอายุการเก็บนาน โดยกลุ่มผู้บริโภคที่นิยมอาหารสำเร็จรูปจะให้ความสำคัญกับความสะดวก รูปแบบบรรจุผลิตภัณฑ์ คุณค่าทางอาหาร ความปลอดภัย ความหลากหลาย และความน่าดึงดูดของผลิตภัณฑ์ 

    สำหรับอาหารพร้อมทานซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้นๆ ในปี 2015 มีมูลค่ารวมถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา และมีอัตราการเติบโตที่ 6% ต่อปี โดยพบว่าสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด ในขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ก็มีแนวโน้มที่จะบริโภคอาหารประเภทดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับเช่นเดียวกัน

 
อาหารฮาลาล

    กลุ่มประชากรมุสลิมที่กำลังขยายตัว กอปรกับโอกาสทางธุรกิจในห่วงโซ่การผลิตที่ยังมีผู้เล่นน้อยราย ทำให้ตลาดเศรษฐกิจฮาลาลเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพลและมีการอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลกวันนี้ 

    อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นที่รู้จักในนาม “ตลาดพันล้านอันดับ 3 ของโลก” ถัดจากประเทศจีนและอินเดีย เพราะต้องรองรับประชากรมุสลิมที่มีมากถึงกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก โดยชาวมุสลิมมีข้อห้ามอาหาร 6 ชนิดตามหลักศาสนา ตามอักษรย่อ ABCD IS คือ แอลกอฮอล์ (Alcohol) เลือด (Blood) สัตว์กินเนื้อและนก (Carnivorous animals and birds) เนื้อของสัตว์ที่ตายแล้ว (Dead meat) อาหารที่ถวายให้กับเทพเจ้ายกเว้นพระเจ้าอัลลอฮ์ (Immolated food) และเนื้อสุกร (Swine) 

    ซึ่งอุตสาหกรรมนี้คาดว่าจะเติบโตด้วยอัตรา 10% ต่อปี จนมูลค่าตลาดอาจเพิ่มขึ้นจากเพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2013 ไปอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018  นอกจากนี้ เนื่องจากในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตของอาหารชนิดดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม จึงทำให้ยังมีโอกาสในธุรกิจอาหารประเภทนี้อีกมาก นับตั้งแต่ขั้นตอนการทำการเกษตร เรื่อยไปจนถึงการจัดจำหน่าย 

    อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าตลาดอาหารฮาลาลยังมีความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการค่อนข้างมาก เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานฮาลาลสากล ดังนั้น แต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องใช้องค์กรในประเทศตนเองในการออกใบรองรับดังกล่าว ซึ่งทำให้ผู้เล่นใหม่ในตลาดอาจต้องใช้เวลาในการศึกษาและทำความเข้าใจ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการส่งอาหารฮาลาลไปขายยังตลาดต่างประเทศ

 

อาหารและเครื่องดื่มเสริม

    ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีอิทธิพลในตลาด เนื่องจากผู้บริโภคยังคงสรรหาสิ่งที่ดีกว่าและทางเลือกที่มากกว่าในการตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น อาหาระและเครื่องดื่มที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมองและร่างกาย การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือการเสริมความงาม 

    อนึ่ง จากการศึกษาของสถาบันวิจัยอาหาร Leatherhead พบว่าตลาดอาหารเสริมของโลกในปี 2014 มีมูลค่า 54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อนหน้า โดยแม้ว่าส่วนแบ่งตลาดของอาหารและเครื่องดื่มเสริมจะคิดเป็นเพียง 5% ของมูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด แต่ผู้เล่นในตลาดกลับให้ความสนใจสินค้าประเภทนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก ผลิตภัณฑ์บำรุงหัวใจ และผลิตภัณฑ์เสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร 

    ตลาดสินค้าประเภทนี้ที่ใหญ่ที่สุดคือ ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคมีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ประเภทนี้และมีกำลังซื้อมากกว่าผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนา

 

อาหารเพื่อผู้สูงอายุ

    สืบเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจอาหารมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ทั้งนี้ สหประชาชาติคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ประชากรโลกมากกว่า 20% (ประมาณ 2.2 พันล้านคน) จะมีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้ ถือเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร เนื่องจากเป็นการเพิ่มกลุ่มผู้บริโภคอีกประเภทหนึ่งเข้ามา 

    อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับตัวหรือปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างชัดเจนมากนัก มีเพียงบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Amazon ที่ได้เปิด 50+ Active and Healthy Living Store เพื่อขายผลิตภัณฑ์ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บริษัท Nestle ที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบขวดกาแฟให้มีส่วนโค้งเพื่อให้จับถนัดมือและเปิดง่ายขึ้น และกลุ่มธุรกิจ Asahi ที่ได้ออกผลิตภัณฑ์สตูว์จานเดียวเพื่อรองรับความต้องการของครอบครัวเดี่ยวและผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่น เป็นต้น

 
    ทั้งนี้การที่ผู้บริโภคกระแสหลักเริ่มคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้นทำให้เราเห็นสัดส่วนอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐฯและยุโรป เช่นเดียวกันกับความต้องการอาหารและเครื่องดื่มเสริมที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งที่ตนบริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯและญี่ปุ่น 

    นอกจากนี้ รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบมากขึ้น และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ จะทำให้แนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายและประหยัดเวลา 

    โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ได้แก่ ราคา ความไม่ซับซ้อน ความสะดวกในการบริโภค ความสะดวกในการซื้อหา รวมทั้งความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย โดยตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดคือตลาดอาหารฮาลาลและตลาดอาหารเพื่อผู้สูงอายุ 

    ถึงแม้ว่าการคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจก็สามารถปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปเพื่อให้เข้าถึงทิศทางที่อุตสาหกรรมอาหารจะมุ่งไปในอนาคตได้ เช่น ผู้ผลิตสินค้าอาหารสำเร็จรูป สามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ทีละน้อย เพื่อทดสอบการตอบรับของลูกค้าเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการเปิดตัวสินค้าอย่างเต็มตัว

     ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตอาหารยังสามารถผันตัวเองไปเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบ (supplier) ให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิตได้ ในสภาวะที่ผู้ผลิตนั้นๆ ยังไม่สามารถผลิตสินค้าสำเร็จรูปได้อย่างเต็มตัวในขณะนั้น



RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน