อยากขายดีจนอินบ็อกซ์แตก ต้องลองกระตุ้นความอยาก ด้วยหลักจิตวิทยาลูกค้า




      ผู้บริโภคในปัจจุบันแตกต่างไปจากเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนนี้เราคุ้นเคยกับการตลาดออนไลน์และอินเตอร์เน็ตเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ว่าวิธีการขาย วิธีการทำการตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนเราก็ยังเลือกซื้อสินค้าตามความต้องการแบบเดิมๆ เรายังคงได้รับอิทธิพลจากปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจ ซึ่งจิตวิทยามีส่วนสำคัญในการทำการตลาดอยู่เสมอ


     และนี่คือ 6 วิธีที่ธุรกิจหรือแบรนด์ต่างๆ สามารถใช้จิตวิทยามากระตุ้นยอดขาย คุณอาจจะแปลกใจว่ามันง่ายกว่าที่คิด



 

ใช้ความแปลกใหม่
               

     ผู้คนสนุกกับอะไรที่แปลกไปจากเดิม ไม่เหมือนกับที่คุ้นเคย หากคุณมีผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มจะสามารถดึงดูดคนที่ชอบความแปลกใหม่ได้ วิธีนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อขายสินค้าแฟชั่น วิธีหนึ่งในการเพิ่มความแปลกใหม่และดึงดูดใจลูกค้าก็คือการออกสินค้า “รุ่นลิมิเต็ด เอดิชั่น” ผสมผสานความแปลกใหม่เข้ากับความพิเศษ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษและเป็นส่วนตัว
 

ใช้หลักการแห่งความสุข
               

     ความพึงพอใจเป็นความปรารถนาตามธรรมชาติในตัวคนเรา หากผู้บริโภครู้สึกดีกับการจ่ายเงินซื้อสินค้าในครั้งแรก ก็จะอยากซื้ออีก เพราะพวกเขาต้องการจะเดินออกจากร้านพร้อมกับความสุขที่มีสินค้าอยู่ในมือหรือได้รับบริการที่ดีจากแบรนด์ ดังนั้น จงมองหาวิธีที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าการซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ของคุณจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้า และเน้นย้ำว่าลูกค้าจะได้รับสิ่งนั้นๆ อยู่เสมอเมื่อเลือกแบรนด์ของคุณ



 

สร้างความผูกพันกับลูกค้าด้วยตัวคน หรือมี Human Touch
               

      บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา หรือบอกว่ามันทำให้ชีวิตของใครบางคนดีขึ้นอย่างไร ทำให้พวกเขามีความสุขขึ้นได้อย่างไร เมื่อเห็นคนอื่นพอใจและประสบความสำเร็จจะเกิดแรงผลักดันในเชิงบวก และทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้มากขึ้น เพราะรักแล้วก็ยินดีจ่ายเพื่อสนับสนุนใช่ไหมล่ะ
 

สร้างความอยากรู้อยากเห็น
               

      วิธีที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้าสนใจแบรนด์มากขึ้น ก็คือ การเก็บบางสิ่งบางอย่างไว้ ไม่บอกทุกอย่างตั้งแต่แรก เพื่อให้เขาติดตามอยากรู้สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ว่าจะเปิดตัวสินค้าใหม่ตัวไหน หรือสินค้านี้มีความพิเศษอย่างไร ตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้สร้างคอนเทนต์ที่ทำให้ลูกค้าอยากอ่านต่อ ให้คลิกต่อ และเมื่อใดก็ตามที่แบรนด์สามารถให้ข้อมูลที่พวกเขาต้องการก็จะสร้างความพึงพอใจให้คนซื้อ จนนำไปสู่การตกลงซื้อในที่สุด



 

สร้างสรรค์บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่
               

       นึกถึงเวลาที่แบรนด์ใหญ่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์สักอย่าง มักมีข่าวเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์นั้นเป็นเวลานานกว่าจะถึงวันเปิดตัวจริงๆ แบรนด์เหล่านั้นสร้างความคาดหวัง โดยบอกว่าผลิตภัณฑ์นี้จะดีกว่ารุ่นก่อน หรือดีกว่าคู่แข่งอย่างไร และทำไมผู้บริโภคถึงต้องซื้อ บอกผู้บริโภคที่ตั้งตารอว่ามีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่แบรนด์หรือธุรกิจของคุณจะนำเสนอจะสร้างความแตกต่างอย่างมากให้เกิดขึ้นกับชีวิต
               

      กระซิบว่าตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Apple ที่ทำให้ใครๆ ก็อยากจะจับจองเป็นเจ้าของก่อนใคร ซึ่งแบรนด์เล็กๆ ก็สามารถทำการตลาดด้วยวิธีนี้กับฐานลูกค้าของตัวเองได้ และดูว่าการบอกเล่าปากต่อปากในยุคดิจิทัลมีประสิทธิภาพแค่ไหน
 

ใช้หลักฐานทางสังคม
               

      แบรนด์สมัยนี้ได้รับแรงผลักดันจากการโฆษณาบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงลูกค้าที่พึงพอใจในสินค้าและบริการ ซึ่งคนกลุ่มหลังเป็นหลักฐานยืนยันชั้นดีว่าแบรนด์ของคุณน่ะเจ๋งและดีจริง โดยเฉพาะการรับรองโดยคนดังหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงนั้นถือว่าเป็นโบนัสเลยทีเดียว เนื่องจากผู้บริโภคมองหาหลักฐานทางสังคม ซึ่งนั่นคือการพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ที่พวกเขากำลังเลือกดูนั้นมีที่ยืนในโลกโซเชียล เป็นของดีที่ไม่จกตาคนซื้อนั่นเอง
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ฟังก์ชันแยกบิลจ่ายได้ เทรนด์ใหม่ที่ร้านอาหารต้องรู้ ลูกค้ายุคใหม่อยากจ่ายเท่าที่กินโดยไม่รู้สึกผิด

ไม่ใช่เรื่องต้องรู้สึกผิดอีกต่อไป หากไปกินอาหารกับเพื่อน แล้วอยากแยกรับผิดชอบจ่ายเฉพาะในส่วนที่ตัวเองสั่ง เทรนด์พฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภคชาวอเมริกาที่หันมาใช้แอปพลิเคชันแยกจ่ายบิลกันมากขึ้น

ต่อยอดธุรกิจยังไงให้อยู่นานและขายดี กรณีศึกษา ALDI ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ALDI คือ ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญญาติเยอรมัน มีต้นกำเนิดมาจาก 2 พี่น้องตระกูล Albrecht คือ “คาร์ล และ ธีโอ อัลเบรชต์” ที่รับช่วงต่อกิจการมาจากแม่ของเขาที่เปิดร้านขายของชำตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2