ส่องโลกอาหรับ ขุมทรัพย์ผู้ประกอบการไทย




    ในดินแดนอันมีบ่อน้ำมันเป็นขุมทรัพย์ แน่นอนว่าเศรษฐกิจของตะวันออกกลางย่อมเติบโตในระดับที่น่าจับตามอง กรอปกับข้อมูลจาก อัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ ประธานสภานักธุรกิจไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เปิดเผยว่า ตะวันออกกลางเป็นอีกช่องทางสำคัญ ที่จะสามารถสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี 

    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันมีดูไบเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงเป็นประเทศแรกๆ ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม โดย สภานักธุรกิจไทยในดูไบ และรัฐตอนเหนือของสหรัฐอาหรับเอมิเตส์ (Thailand Business Council Dubai and the Northern Emirates of UAE) ระบุว่า ดูไบมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการค้า และจุดส่งออกต่อ (re-export) สำคัญที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง 

    จึงเป็นโอกาสดีหากสินค้าไทยจะรุกเข้าไป และให้ดูไบเป็นสะพานเชื่อมสู่ประเทศอื่นๆ ภายใต้ข้อกำหนดทางภาษีที่เอื้ออำนวยคือ สินค้านำเข้าชั่วคราวเพื่อส่งออกต่อ ภายใน 6 เดือน ไม่ต้องเสียภาษี 

    ส่วนรัฐคูเวต ถือเป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อการอุปโภคบริโภค อีกทั้งยังมีการดำเนินนโยบาย “Look East Policy” คือให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังมีการใช้นโยบายการค้าเสรี 

    ในขณะที่ความน่าสนใจของราชอาณาจักรบาห์เรน คือมีระบบเศรษฐกิจเสรี ต่างชาติสามารถลงทุนเป็นเจ้าของกิจการได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นประเทศปลอดภาษีและสนับสนุนเรื่องภาษีศูนย์เปอร์เซ็นต์แก่บริษัทจดทะเบียนรายได้ส่วนบุคคลและอื่นๆ นอกจากนี้ บาห์เรนยังเป็นประตูการค้าสู่ประเทศอิรัก และกลุ่มประเทศ GCC (Gulf Cooperation Council) ได้แก่ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน อันเป็นความร่วมมือของรัฐต่างๆในอ่าวอาหรับ 

    สำหรับรัฐสุลต่านโอมาน ถือเป็นตลาดที่ยังมีช่องทางในการเพิ่มปริมาณสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เข้าไปได้ โดยจุดแข็งคือสินค้าไทยได้รับการยอมรับในคุณภาพ แต่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งคือ รัฐกาตาร์ ด้วยเป็นประเทศเล็ก อันมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเป็นลำดับสองของโลก และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC 

    ทั้งนี้ อัครวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า แง่มุมและความประทับใจอันดี จากการที่ชาวตะวันออกกลางเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย จะส่งผลให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดกลุ่มนี้ได้อย่างไม่ยากนัก อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีความยืดหยุ่น และคล่องตัวในการทำธุรกิจ จึงมีความได้เปรียบมากกว่าเมื่อเทียบกับยุโรป โดยสถานะของสินค้าไทยในมุมมองของคนอาหรับนั้นอยู่ในระดับกลาง กล่าวคือมีคุณภาพดี มีราคาเหมาะสม และมีลักษณะเป็นของตัวเองอย่างเด่นชัด 

    “ณ ตอนนี้ ตะวันออกกลางให้ความสำคัญกับสินค้าไทยในระดับหนึ่ง ผมเชื่อว่านี่เป็นโอกาสของเรา ทว่าการที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าสู่ตลาดบน อาจจะแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่จากยุโรปได้ยาก และหากเข้าสู่ตลาดล่าง ก็จะเจอการแข่งขันด้านราคาจากจีน แต่โดยมุมมองคนอาหรับเราจะอยู่ตรงกลาง ดังนั้น ถ้าสินค้าไทยเข้าไปในช่องทางนี้ น่าจะมีโอกาสมากกว่า” 

    เช่นเดียวกับข้อมูลของ จารุดล ตุลยกิจจา อุปนายก สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทย และเครื่องประดับ กูรูอีกท่านที่มีประสบการณ์ในตลาดตะวันออกกลาง กล่าวว่าในโลกอาหรับ มีทั้งสินค้าราคาสูง และราคาต่ำ ทว่าขาดสินค้าราคาระดับกลาง เช่นนั้นแล้วสินค้าไทยจะมีช่องทางอยู่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ 

    “สินค้ายุโรปส่วนใหญ่ มีการตั้งตัวแทนในพื้นที่ ซึ่งจะเชี่ยวชาญในการทำตลาด ทำให้สินค้ายุโรปเดินไปได้ไกล ส่วนคนไทยหากพร้อมจะศึกษาตลาด พร้อมจะพัฒนา ก็สามารถขึ้นมาเทียบเท่าสินค้ายุโรปได้ เพราะสิ่งสำคัญคือจะทำให้คนเหล่านี้ไว้วางใจในสินค้าของเรา” 

    โดยสิ่งที่กูรูทั้งสองเน้นย้ำตรงกัน คือความสำคัญของการทำ R&D เพื่อศึกษาสิ่งที่ชาวอาหรับต้องการเช่นเดียวกับ ดร.บุณยพร ยี่มี ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ผู้ประสบความสำเร็จกับการรุกตลาดตะวันออกกลาง ชี้แนะถึงปัญหาว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการคิดเพียงแต่นำสินค้าของตนไปเสนอ ทว่าไม่ได้คำนึงว่าเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ หรือเป็นที่ต้องการหรือไม่  

    “จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องจับความรู้สึกนึกคิด จับความต้องการของผู้บริโภคให้ได้ และจากประสบการณ์ อยากแนะนำผู้ที่คิดจะบุกตลาดนี้ ให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศอันคิดว่าเป็นตลาดทางการค้าในอนาคตก่อน โดยสำคัญคืออยากให้เดินทางไปพร้อมระเบียบวินัย เพราะกลุ่มประเทศอาหรับค่อนข้างเคร่งครัดในเรื่องพฤติกรรม” 

    ท้ายสุด ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาพัฒนาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ฝากถึงผู้ประกอบการไทยว่า โดยความเป็นจริงแล้วตลาดตะวันออกกลางไม่มีค่อยมีอุปสรรค การกีดกันทางการค้ามีน้อย ทว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่ประสบความสำเร็จในตลาดนี้มากนัก เนื่องจากมีสิ่งยังไม่เข้าใจ และปฏิบัติไม่ตรงจุด ด้วยเพราะขาดการศึกษาพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคอย่างจริงจัง 

    “บ้านของชาวอาหรับ มีประตูใหญ่ และหนาหนัก เปิดออกได้ยาก ฉะนั้นเราต้องพยายามไปอยู่หลังประตู ไม่ใช่หน้าประตู เพราะเมื่อเราสามารถเข้าสู่ในบ้านของเขาได้ เราก็จะสามารถค้าขายได้เป็นระยะเวลานาน โดยความหมายของผมนั้น หน้าหรือหลังประตูคือใจของชาวตะวันออกกลาง ทำอย่างไรให้เขาเชื่อใจ แล้วรักษาความเชื่อใจเอาไว้ให้นาน เพราะเขาจะให้โอกาสเราเพียงครั้งเดียวเท่านั้น” 

    ส่องโลกอาหรับกันพอประมาณ ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนรุกตลาดตะวันออกกลางอย่างจริงจัง!!! 

Create by smethailandclub.com

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน