ส่องเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกยังนิ่งสนิท





    ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินโมเมนตัมหรือแรงส่งของเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกน่าจะแผ่วลงจากไตรมาสก่อน คาดขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ใกล้เคียงกับไตรมาสสี่ปี 2557

    อนึ่ง สภาพัฒน์ฯ จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมและประเมินตัวเลขจีดีพีรูปแบบใหม่ในวันที่ 18 พ.ค. นี้ รอติดตามว่าจะส่งผลต่อองค์ประกอบจีดีพีในแต่ละส่วนมากน้อยเพียงใด

    คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีมติหั่นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในรอบประชุมวันที่ 11 มีนาคม และ 29 เมษายน ที่ผ่านมา เป็นการตัดสินใจเลือกที่จะผ่อนปรนนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

    แต่อีกนัยยะหนึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาและหมายรวมถึงในระยะหลายไตรมาสข้างหน้า อาจมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ ซึ่งนั่นย่อมกระทบความกังวลต่อกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอย และผลการดำเนินงานของภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    ย้อนกลับมาดูเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนของหลายหน่วยงานในช่วงสามเดือนแรกของปี 2558 จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจยังคงไร้ทิศทาง จนเสมือนว่ากิจกรรมเศรษฐกิจยังคงนิ่งสนิท แทบไม่ขยับไปไหนหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

   เมื่อพิจารณาด้านอุปทาน จะเห็นได้ว่าผลผลิตภาคเกษตรยังคงหดตัวอยู่มากถึงร้อยละ 5.8 จากปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรในหลายตัวที่ไม่สร้างแรงจูงใจในการเพาะปลูก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคได้รับผลกระทบ

   ขณะที่เครื่องชี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมเองแทบจะไม่ขยายตัวเลย แม้จะปรับดีขึ้นจากไตรมาสสี่ ซึ่งสอดรับกับเครื่องชี้ทางด้านการใช้จ่ายที่ยังคงอ่อนแออยู่ทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ

    หากประเมินรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท จะเห็นได้ว่าการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน(5) รวมไปถึงตลาดจีนที่อ่อนแอ กดดันให้มูลค่าส่งออกไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 4.4 แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และตลาด CLMV ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

   ส่งผลให้ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้หั่นเป้าส่งออกในปีนี้ลงจากร้อยละ 4 เหลือเพียงร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ดีหากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงอ่อนแอเช่นนี้ อาจทำให้การส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ไม่ถึงเป้าที่ทางการตั้งไว้ ส่วนการนำเข้าที่หดตัวถึงร้อยละ 6.1 เกิดจากมูลค่านำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันปิโตรเลียมที่หดตัวเกือบร้อยละ 50 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตอ่อนแอ ซึ่งสอดรับกับเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย.

    ทางด้านเครื่องชี้ภาคการท่องเที่ยวที่สะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ นับได้ว่ามีการฟื้นตัวอย่างเด่นชัดที่สุด ขยายตัวกว่าร้อยละ 23.5 ต่อปี จากร้อยละ 7 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยรายได้จากการท่องเที่ยวที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น อย่างน้อยน่าจะช่วยลดทอนผลกระทบบางส่วนจากรายได้การส่งออกสินค้าที่หดหายไปได้

    เครื่องชี้ท้ายสุดที่จะกล่าวถึงคือการใช้จ่ายของภาครัฐซึ่งนับได้ว่าเป็นความคาดหวังในปีนี้ ดูเหมือนว่าการเบิกจ่ายงบประจำ ซึ่งมีรายจ่ายด้านเงินเดือน/ค่าตอบแทนเป็นหลัก ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุน จะเห็นได้ว่าเติบโตสูงกว่าร้อยละ 123 แต่แท้จริงแล้วส่วนหนึ่งเกิดจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมาที่มีการเบิกจ่ายล่าช้าจากผลกระทบปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศ

    อีกทั้งหากพิจารณาการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. 57-มี.ค. 58) คิดเป็นเพียง 118 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 28 ต่ำกว่าความสามารถการเบิกจ่ายในอดีต และต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้เกือบครึ่งหนึ่ง เพราะส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากข้อติดขัดในเรื่องของความรัดกุมในการตรวจสอบการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีความโปร่งใส่มากขึ้น

    กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าจากเครื่องชี้รายเดือนดังกล่าวข้างต้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้นั้นน่าจะยังไม่สู้ดีนักด้วยโมเมนตัมหรือแรงส่งของเศรษฐกิจ (qoq) ที่น่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 0.2

   โดยคาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.8 ต่อปี (yoy) ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับไตรมาสสี่ปี 2557 ที่เติบโตร้อยละ 2.3 ทั้งนี้ สภาพัฒน์ฯ จะแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้ อีกทั้งในรอบนี้จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บรวบรวมและประเมินตัวเลขจีดีพีในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อตัวเลขจีดีพีและองค์ประกอบจีดีพีแต่ละส่วนที่ถูกรายงานออกมาให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทำให้ต้องมีความระมัดระวังในการตีความและประเมินตัวเลขมากยิ่งขึ้น

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน