​เรื่องกุ้งไทยในวิกฤติที่ต้องฝ่าฟัน

 

เรื่อง มนตรี บุญจรัส
    กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด 
    (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)

                สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งในบ้านเรา ดูจะซึมเศร้าเหงาหงอยลงไปอย่างผิดหูผิดตา วัดได้จากตัวเลขการส่งออกของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรย้อนหลังไปในปี 2541 - 2547 ตัวเลขการส่งออกกุ้งทุกชนิดที่นำมาแช่เย็นเป็นน้ำแข็ง หรือเรียกแบบชาวบ้านว่ากุ้งแช่แข็ง ก็อยู่ในหลักแสนกว่าไปจนถึงสองแสนตันต่อปี แต่ถ้ามาดูสถิติจากปี 56 และ 57 ที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกกลับลดลงอย่างน่าใจหาย โดยเหลืออยู่ในระดับแค่หลักไม่กี่หมื่นตันเท่านั้นเอง (ที่มาสำนักเศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร) ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาดีได้ดังเดิมจนถึงปัจจุบันนี้

                จากกระแสข่าวที่ไม่ดีนัก เกี่ยวกับสถานการณ์ทางด้านการประมงจากประเทศอินโดนีเซีย ที่ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับชาวประมงไทย ด้วยการประกาศระงับการออกใบอนุญาตทำประมง และระงับการต่อใบอนุญาตให้แก่เรือประมงที่เข้าไปในน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการนำกฎหมาย “ยิงและจม” (Shoot and Sink) มาใช้ ทำให้อำนาจเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียสามารถที่จะจมเรือประมงของคนไทยที่ลอบเข้าน่านน้ำผิดกฎหมายได้อย่างเสรี ทำให้เรือประมงไทยไม่กล้าเข้าไปในน่านน้ำที่ยังไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ เพราะหมิ่นเหม่ต่อการบุกรุกน่านน้ำ ซึ่งดูเหมือนเป็นการกีดกันกันทางการค้าอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็อาจจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลของเขาไม่พอใจที่ชาวประมงไทยยิงเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียตายไป 2 คน ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศกฎหมายใหม่ทางทะเลออกมาใช้ ก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าทางการไทยจะมีการจับตัวและคลี่คลายคดีได้แล้วก็ตาม

            พายุลูกใหญ่อีก 2 ลูกที่กระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์การประมงของไทยก็คือ มาตรการต่างๆ จากทางอเมริกาและยุโรป ล่าสุดที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ปรับลดอันดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยจากระดับเทียร์ 2 วอตช์ ลิสต์ (Tier 2 Watch List) ลงสู่ระดับต่ำสุดหรือเทียร์ 3 (Tier 3) โดยใช้ข้ออ้างโจมตีปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานทาส แรงงานเถื่อน แรงงานเด็ก แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงไทย ทำให้ผู้คนทั่วโลกมองสินค้าจากประเทศไทยในแง่มุมที่ติดลบ โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ซึ่งวันนี้ยังถูกสหรัฐฯจับขึ้นบัญชีดำเป็นสินค้าเฝ้าระวัง อันนี้ยังไม่นับรวมเรื่องในอดีตเกี่ยวการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ที่เราเคลียร์กับสหรัฐมาหลายปี แต่ก็ยังไม่มี่อะไรชัดเจนขึ้นมาเลย
 
            ส่วนพายุลูกที่ 2 เมื่อสหภาพยุโรป (EU) พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี (GSP) ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรแก่สินค้าจากไทย ซึ่งกุ้งก็เป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย จึงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกหายไปทันทีถึงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพราะจะต้องเสียภาษีสำหรับสินค้ากุ้งสดจากร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 12 และสินค้ากุ้งต้มสุกจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 20 เมื่อเป็นเช่นนี้ พี่น้องเกษตรกรไทยโดยเฉพาะผู้เลี้ยงกุ้งส่งออกจะเอาอะไรไปสู้กับประเทศอื่นๆได้  ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกกุ้งของเราร่วงลงอย่างที่เห็น

          มาดูสถานการณ์การผลิตกุ้งของไทย นอกจากจะพบกับปัญหาภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นที่ อำเภอยางตราด จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดตราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา จังหวัดพังงา และกระบี่ ฯลฯ แล้ว

         ก็ยังจะประสบกับภาวะปัญหาอาการของโรคตายด่วนและโรคตัวแดงดวงขาว โรคหัวเหลือง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากไวรัสทำให้กุ้งล้มตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การผลิตกุ้งทั้งหมดหายไปกว่าร้อยละ 50 จากปี 2555 จาก 540,000 ตัน เหลือเพียง 250,000 ตันในปี 2556 ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงจาก 3,075 ล้านเหรียญสหรัฐฯเหลือเพียง 2,169 ล้านเหรียญ

      สำหรับการดูแลแก้ไขจากภาครัฐและเอกชน ยังคงต้องรอต้องลุ้นอยู่ และยังไม่มีมาตรการอะไรที่เด่นชัดในช่วงนี้ ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเอง ควรจะดูแลแก้ปัญหาให้แก่ตนเองในเบื้องต้น ไม่ว่าจะดูแลแก้ปัญหาปรับระดับค่าพีเอช (PH) ของน้ำให้เหมาะสม การใช้จุลินทรีย์ (Bacillus Subtilis spp) สำหรับแก้ปัญหาและย่อยสลายขี้เลนไม่ให้ตกค้าง บูดเน่า อยู่ที่ก้นบ่อ

    การแก้ปัญหากุ้งล่อง ลอยหัว พีเอชแกว่งจากน้ำหนืดน้ำเขียวเข้มมากเกินไป รวมถึงการใช้ใบพัดตีเคล้าน้ำมิให้เกิดการแยกชั้นในระหว่างที่มีฝนตก ฝนหลงฤดู และการลดจำนวนปริมาณอาหาร อย่าให้กุ้งกินจนเหลือตกค้างบูดเน่าอยู่ในบ่อ ในช่วงที่อากาศหนาว ฟ้าหลัว และอากาศปิด ฯลฯ สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัย หรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024