หรือเราจะไม่ดึงดูดการลงทุน จากต่างชาติอีกต่อไป?





เรื่อง    ดร. บุญวรา สุมะโน
            สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

    ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสในการเจรจา Trans-Pacific Partnership (TPP) กับประเทศคู่ค้าอีก 11 ประเทศ รวมถึงประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน  ซึ่งคาดว่าผลของการเจรจาจะครอบคลุมประมาณ 40% ของมูลค่าการค้าโลก

   และอีกเรื่องคือการมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการหาช่องทางการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยนำนักธุรกิจกลุ่มทุนและนวัตกรรมใหญ่อย่าง Airbus, Rolls-Royce, JCB และ Lloyds มาด้วย ซึ่งนายกคาเมรอนมีกำหนดการเยือน 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย และคาดว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้ามูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

    นับเป็นข่าวดีสำหรับอาเซียน แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศไทยที่ตกขบวนโอกาสทางการค้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางข่าวร้ายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งการย้ายฐานการผลิตของซัมซุง การปิดตัวลงของกิจการจำนวนมาก ความผันผวนของตลาดหุ้น และฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ การถูกมหาอำนาจในเวทีโลกอย่างสหรัฐและอังกฤษเมินอย่างจังจึงเป็นเหมือนสัญญาณว่า วิกฤตินี้จะแก้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ยาก เพราะประเทศไทยอาจไม่น่าดึงดูดในสายตาประเทศคู่ค้าอีกต่อไป

    รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2015 ซึ่งจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ ทั้งหมด 61 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ASEAN 5 หรือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก็ระบุว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยตกลงมาจากอันดับที่ 27 ในปี 2556 มาอยู่อันดับที่ 30 ในปี 2558  โดยอยู่ตรงกลางของตารางและเป็นอันดับสามของอาเซียน ดังที่เป็นมาหลายปีแล้ว

    แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า มีดัชนีหลายตัวที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศอาเซียนอีก 4 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นดัชนีที่มีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความน่าดึงดูดต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

-     ความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่อการย้ายฐานการผลิต (Relocation Threats of Production) อันดับที่ 53

-     ผลิตภาพบริษัท (Productivity of Companies) อันดับที่ 33

-     ผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Productivity & Efficiency of Small and Medium Size Enterprises) อันดับที่ 53

-     จำนวนแรงงานฝีมือที่มีอยู่ในตลาด (Availability of Skilled Labor) อันดับที่ 46

-     ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของคนในประเทศต่อความท้าทายใหม่ (Flexibility and Adaptability of People when Faced with New Challenges) อันดับที่ 40

-     ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships Supports Technological Development) อันดับที่ 35

-     ความสามารถในการผลิตนวัตกรรม (Innovative Capacity) อันดับที่ 51

-     ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ วัดจากผลการสอบโทเฟล (English Proficiency - TOEFL) อันดับที่ 57

-     ทักษะด้านภาษาที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ (Language Skills Meets the Needs of Enterprises) อันดับที่ 53

-     ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขัน (Educational System Meet the Needs of a Competitive Economy) อันดับที่ 46

    ดัชนีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเคยเหนือกว่ามาตลอดอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งแม้ว่าในภาพรวมแล้วไทยจะยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่า แต่ยังมีดัชนีอีกหลายตัวที่แม้ไทยจะไม่ได้ที่โหล่ แต่ก็ถูกฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียหายใจรดต้นคอเตรียมเบียดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

    เช่น ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ที่ไทยอยู่อันดับที่ 56 นั้น อินโดนีเซียตามมาที่อันดับ 59 และฟิลิปปินส์ที่ 60  และระดับการปรับตัวของนโยบายรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Adaptability of Government Policy to Changes in the Economy) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ตามอยู่ที่ 35 ส่วนอินโดนีเซียนั้นก้าวไปอันดับที่ 21 แล้ว

    ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะรายงาน IMD ฉบับเดียวกันจัดอันดับความน่าดึงดูดของมาตรการส่งเสริมการลงทุน (Investment Incentive Attractive to Foreign Investors) ไว้สูงถึงอันดับที่ 20

   พูดง่าย ๆ ว่าเราพร้อมจะให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไม่แพ้ใครหากต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่เขามองดูเราแล้วจะอยากเข้ามารึเปล่าต่างหาก การถูกประเทศที่มีทุนใหญ่อย่างสหรัฐและอังกฤษมองข้ามไปนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงตนเอง เช่น ทำอย่างไรให้เรามีความสามารถในการผลิตนวัตกรรม ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และยกระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นต้น

    มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายที่จะทำเสร็จในวันเดียว แต่ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ก็น่าคิดว่าไทยอาจจะต้องเห็นประเทศอาเซียนอื่นอย่างอินโดนีเซียซึ่งมีศักยภาพในการเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาดขนาดใหญ่ และฟิลิปปินส์ซึ่งมีความพร้อมด้านกำลังแรงงานทักษะแซงหน้าไป ยังไม่นับเวียดนามซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในการสำรวจของ IMD แต่ก็คาดว่าจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในสายตามหาอำนาจขนาดที่ประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรีคาเมรอนต้องเดินทางมาจีบด้วยตัวเอง.

Create by smethailandclub.com : แหล่งรวมข้อมูล เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน