แนวทางอาหารแปรรูปไทย พิชิตใจชาวต่างชาติ





    ปี 2557 ประเทศไทยทำรายได้จากการส่งออกอาหารไปขายในตลาดโลก สูงถึง 1.01 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 2558 เหล่านักวิเคราะห์คาดการณ์ยอดส่งออกอาจสูงแตะระดับ 1.08 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะในสหภาพยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผลสำรวจของ Specialty Food Association สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่าชาวอเมริกาชื่นชอบและนิยมอาหารไทยสูงติด 1 ใน 3 อันดับแรก

    ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับผลวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ที่พบว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารไทยยังคงมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น จากการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคชาวต่างชาติชื่นชอบดีไซน์และเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า 

    OKMD จึงได้นำองค์ความรู้และประเด็นสำคัญจากงานวิจัยข้างต้น มาพัฒนาเป็นเนื้อหาสำหรับถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ในรูปแบบการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการตลาดเพื่อการส่งออก ภายใต้หัวข้อ “เข้าใจตลาดพัฒนาจากตัวตน  (Know  Global  Build Local)” โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญตลาดต่างประเทศและผู้ซื้อตัวจริงระดับโลก ร่วมถ่ายทอดความรู้และชี้แนะแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ยกระดับไปสู่ผู้ผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในระดับสากล โดยเฉพาะในประเทศที่มีความต้องการสินค้าและมีกำลังซื้อสูง เช่น สหภาพยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา
 
    นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกอาหารไทยในตลาดโลก และแนวโน้มความความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ว่า ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยไปยังคู่ค้าในต่างประเทศ ขณะนี้สหภาพยุโรปยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ร้อยละ 41 รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 11 

    ส่วนตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มความต้องการอาหารไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือตลาดอาเซียน+3 โดยกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คืออาหารพร้อมรับประทาน ฉีกซองเอาเข้าไมโครเวฟแล้วกินได้เลย ไม่ต้องยุ่งยากเสียเวลาในการปรุง 

    นอกจากนี้เทรนด์การบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็ยังคงมาแรง โดยเฉพาะอาหารปลอดสารพิษที่ผลิตด้วยกระบวนการไร้สารเคมี และหากเป็นผักผลไม้ออร์แกนิกก็จะยิ่งขายได้ราคาดีกว่าปกติหลายเท่าตัว
 
    ท่ามกลางความต้องการบริโภคอาหารไทยซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แม้ด้านหนึ่งจะถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการโกยรายได้เข้าสู่ประเทศ แต่ในแง่ของการวางกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับวิถีชีวิต และความต้องการของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมายนั้น ยังถือเป็นปราการด่านสำคัญที่ผู้ประกอบการขนาดย่อม โดยเฉพาะกลุ่ม OTOP และ SMEs จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน จากผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

    เริ่มตั้งแต่การวางกลยุทธ์ก่อนผลิตสินค้าออกมาวางจำหน่าย โดยวิเคราะห์ปัจจัยภายในคือการประเมินศักยภาพทางธุรกิจ การวางแผนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสำหรับการแข่งขัน และปัจจัยภายนอกคือศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ศึกษาตลาด และช่องทางการขาย รวมถึงการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้า ซึ่งทั้งสองปัจจัยข้างต้นถือเป็นหัวใจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จทางธุรกิจ
 
    “ไม่เพียงการวิเคราะห์ตลาดเพื่อวางทิศทางการผลิตสินค้า ได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น  แต่หากผู้ประกอบการไทยต้องการขายอาหารในตลาดโลกได้มากขึ้น สิ่งสำคัญคือสินค้าจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อย.  GMP, HACCP, BRC และมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปลอดสารพิษ ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายมากนัก แต่หากได้รับการรับรองมาตรฐานก็จะถือเป็นใบเบิกทาง หรือตั๋ว VIP ในการส่งสินค้าไทยเข้าไปเจาะตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา” นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าว

     ขณะที่ Mr.Jordan Smith, Director of Supply Chain, Pure Sales Inc. ตัวแทนผู้ซื้อของ United Natural Foods Inc. ผู้นำเข้าและกระจายสินค้าประเภท Natural & Organic ชั้นนำของโลก กล่าวว่า ขณะนี้คนทั่วโลกหันมานิยมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น หลายคนจึงมองหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่ปลอดสารพิษ

    โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งจริงจังถึงขั้นมีกฎหมายเฉพาะในการกำกับมาตรฐานอาหาร     ออร์แกนิก รองรับความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ต้องการย้อนกลับไปสู่การผลิตแบบดั่งเดิม โดยเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูก การดูแล และการเก็บเกี่ยว ต้องปลอดสารเคมี 100% ถ้าเป็นผักผลไม้ที่ดูสวยงามเป็นพิเศษ มักจะถูกตั้งคำถามว่ามีการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี หรือมีการดัดแปลงพันธุกรรมหรือไม่ ขณะที่ขั้นตอนการแปรรูปและบรรจุ ต้องไม่ผ่านการปรับแต่งโดยเฉพาะรสชาติและสีสัน
 
    ดังนั้น เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารไทย ผู้ประกอบการชาวไทยจึงควรผลิตสินค้าเหล่านี้ เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวซึ่งนับวันจะยิ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยนำเอาไอเดียในข้างต้นไปประยุกต์และพัฒนาต่อยอดอาหารไทย ที่ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐอเมริกานิยม 

    เช่น ซอสปรุงรสสำเร็จรูป ซึ่งเป็นเครื่องปรุงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่คนต่างชาติ เพราะช่วยให้สามารถทำอาหารไทยได้ง่ายมาก ไม่ต้องเป็นเชฟมืออาชีพก็ทำอาหารไทยได้อร่อยแบบต้นตำรับ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กลุ่มเส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวสายพันธุ์ไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวหอมแดง และผลไม้ไทย เช่น ทุเรียน มังคุด ต่างก็เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มความต้องการบริโภคสูงขึ้นเช่นกัน 
 
    สิ่งสำคัญที่จะทำให้สินค้าไทยขายในตลาดโลกได้มากขึ้น คือการพัฒนามาตรฐานและระบบการผลิต ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ ควบคู่ไปกับการสร้างจุดสนใจและความแตกต่างในทุกๆ  ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นสูตรหรือส่วนผสมใหม่ๆ การออกแบบออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามสะดวกต่อการใช้งาน  การเขียนบรรยายที่มาและสรรพคุณของวัตถุดิบและส่วนผสมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพืชผักสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวต่างชาติไม่รู้จัก รวมไปถึงอายุของสินค้าจะต้องอยู่ได้นานพอสมควร โดยอายุที่เหมาะสมสำหรับการส่งขายในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกานั้น อย่างน้อยจะต้องอยู่ได้ถึง 6 เดือน เพราะการขนส่งทางเรือใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ที่เหลืออีก 4 เดือน ต้องเผื่อไว้สำหรับวางขาย
 
    “ต่อไปในอนาคตกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ จะมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว แต่หากผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนากระบวนการผลิต จนผ่านเกณฑ์รับรองมาตรฐานปลอดสารพิษ  รับรองได้ว่ายอดขายจะเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว” Mr.Jordan กล่าว
 
    
Create by smethailandclub.com : แหล่งรวมข้อมูล เพื่อผู้ประกอบการ SME

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน