ตลาด Plant Based แรงต่อเนื่อง เนเธอร์แลนด์ ห้ามโฆษณาเนื้อสัตว์ รายแรกของโลก

TEXT :    Sir.Nim

 

     กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์อาหารโลกที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคกันมากขึ้น กับกระแสการหันมาบริโภคเนื้อจากพืชหรือ Plant Based Food ปัจจุบันผลิตเป็นสินค้าออกมาวางขายกันมากมาย ล่าสุดเหมือนเทรนด์ดังกล่าวจะจริงจังขึ้นไปอีกขั้น เมื่อเมืองๆ หนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการออกประกาศห้ามไม่ให้มีการโฆษณาเนื้อสัตว์บนพื้นที่สาธารณะ เช่น รถบัส บิลบอร์ด หรือบนหน้าจอดิจิทัล เพื่อรณรงค์ช่วยลดการบริโภคเนื้อสัตว์ อันเป็นสาเหตุแห่งภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดเนื้อจากพืชและเนื้อทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากสัตว์มากขึ้นนั่นเอง

     เมืองดังกล่าวที่ว่า ก็คือ “ฮาร์เล็ม” (Haarlem) เมืองเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอัมสเตอร์ดัม มีประชากรอาศัยอยู่ราว 160,000 คน นโยบายดังกล่าวถูกนำเสนอขึ้นมาเมื่อปีที่แล้วโดยพรรคการเมืองอย่าง GroenLinks ที่ชูความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยผลการพิจารณาดังกล่าวได้รับการอนุมัติและประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ต้นเดือนกันยายน 2565) ซึ่งสำนักข่าว Trouw ได้รายงานรายละเอียดว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์จะถูกแบนหรือสั่งห้ามไม่ให้มีการติดอยู่บนรถบัสโดยสาร เช่น ด้านข้างรถ พนักพักพิงเก้าอี้ หรือแม้แต่พื้นที่สาธรณะอื่นๆ เช่น ป้ายรถเมล์ หน้าจอดิจิทัลใดๆ เลย โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ คือ ปี 2567 นั่นเอง เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางส่วนยังติดสัญญาโฆษณาในพื้นที่ดังกล่าวอยู่

     โดยเหตุผลก็เพื่อช่วยรณรงค์ หรือลดแรงกระตุ้น ความอยากบริโภคเนื้อสัตว์ลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมือง หลังจากพบว่าเดิมทีนั้นชาวเนเธอร์แลนด์บริโภคเนื้อสัตว์มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ซึ่งพบว่า 20 เปอร์เซ็นต์มีการบริโภคทุกวัน โดยข้อมูลจากองค์กรระดับโลกได้กล่าวไว้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตอาหารทั่วโลกคิดเป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของมนุษย์ โดยการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์คิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด มากกว่า ปริมาณมลพิษของการผลิตอาหารจากพืชถึง 2 เท่า

     ซึ่งก่อนหน้านี้เมืองอื่นๆ ของเนเธอร์แลนด์ เช่น อัมสเตอร์ดัมและกรุงเฮก ก็ได้มีการประกาศห้ามโฆษณาเกี่ยวกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น สายการบิน, รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมาแล้ว

     แน่นอนว่าแนวคิดดังกล่าวแม้จะส่งผลดีต่อโลก แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายคนที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางกฎหมายหรือเปล่า

     ผู้ประกอบการอาหารท่านใดที่กำลังทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมในเนเธอร์แลนด์ หรือกำลังคิดอยากไปเปิดตลาดก็ตามที อาจต้องศึกษาให้ดีๆ ก่อน ไม่แน่ว่าในอนาคตนโยบายดังกล่าว อาจขยายไปยังเมืองหรือประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาด้วยก็ได้ ซึ่งการออกกฎข้อบังคับหรือข้อกำหนดบังคับของเนเธอร์แลนด์ครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการรณรงค์ลดบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อลดภาวะโลกร้อน หลังจากที่ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทางเลือกหรือเนื้อสัตว์จากพืชออกมาวางขายมากมาย

ทำไมต้องเริ่มที่เนเธอร์แลนด์

     สำหรับข้อสงสัยที่ว่า เพราะเหตุใดเนเธอร์แลนด์จึงเป็นประเทศแรกที่กล้าออกมาประกาศแสดงจุดยืนในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง ถึงแม้จะเคยมีสถิติว่าชาวดัตช์บริโภคเนื้อสัตว์มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม จากที่ได้ไปสืบค้นมาพบว่าในปีช่วงไม่กี่ปีมานี้เนเธอแลนด์กลายเป็นประเทศที่ให้ความสนใจกับการบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์และเนื้อจากพืชกันมากขึ้น จนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

     โดยจากการรายงานของนักวิจัยตลาด IRI Nederland จากสำนักข่าว NOS1 กล่าวว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ชาวเนเธอร์แลนด์เองมีการหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น อาหารมังสวิรัติ(vegetarians) อาหารวีแกน (vegan) มากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วกันมากขึ้น เช่น ถั่วชิกพี, ถั่วเหลือง, เห็ด, กะหล่ำดอกและสมุนไพร โดยนับตั้งแต่ปี 2560 จำนวนผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็เพิ่มขึ้นถึง 51 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยอดการขายเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้ออื่น ๆ ลดลงกว่า 9 เปอร์เซ็นต์

     ยกตัวอย่างเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ชื่อ Albert Heijn เปิดเผยข้อมูลว่าตั้งแต่ปี 2559 ทางร้านมียอดจำหน่ายอาหารมังสวิรัติเพิ่มขึ้นกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ โดยมีผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์บนชั้นวางเพิ่มขึ้นกว่า 100 รายการ ในขณะที่ Jumbo ซูเปอร์มาร์เก็ตมีเนื้อสัตว์ทดแทนเพิ่มกว่า 200 รายการ โดยเหตุผลที่ชาวดัตช์เต็มใจที่จะบริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์มากขึ้น ก็คือ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ถึงแม้ว่าอาหารแบบดั้งเดิมของชาวดัชต์นั้น จะไม่เป็นมิตรกับมังสวิรัติเลยก็ตามที แต่กระแสมังสวิรัตินั้นกำลังพัฒนาขึ้น ซึ่งโดยปัจจุบันนับว่าเนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศที่มีรายชื่อติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศที่เปิดรับอาหารมังสวิรัติและวีแกนของโลกทีเดียว โดยนอกจากในซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ตามสถานีรถไฟต่างๆ ก็มักจะมีตู้อาหารมังสวิรัติไว้คอยบริการอย่างน้อย 1 ตู้ หรือในบางเมืองก็จะมีการจัดตลาดนัดอาหารจากพืชหรือผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน หรือแม้แต่ในการจัดงานกิจกรรมหรือเทศกาลต่างๆ ก็มักมีตัวเลือกเป็นอาหารมังสวิรัติอย่างน้อยหนึ่งรายการด้วย การหาอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ในเนเธอร์แลรนด์จึงสามารถทำได้ง่ายมาก

ทั่วโลกบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง

     นอกจากเรื่องราของเนเธอร์แลนด์แล้ว ดูเหมือนว่าแนวโน้มทั่วโลกก็เริ่มจะหันมานิยมบริโภคเนื้อสัตว์กันลดลงด้วย โดยจากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เคยเปิดเผยไว้ในปี 2563 ว่าตัวเลขการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อจำนวนประชากรลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปีก่อนหน้านี้ โดยสถิติลดลงกว่า 3 เปอร์เซ็นต์จากปี 2019 เหตุผลเนื่องมาจากโรคระบาดที่ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการคมนาคม, การท่องเที่ยว และขาดแคลนแรงงาน

              โดยก่อนที่จะเกิดโควิด-19 หน้านั้นสถาบัน Rabobank ก็เคยได้ทำการคาดการณ์ความต้องการโปรตีนจากสัตว์และอาหารสัตว์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงอยู่แล้ว เนื่องจากมีเทรนด์การบริโภคใหม่ๆ เข้ามา โดยระบุไว้ว่าการบริโภคเนื้อวัวจะลดลงกว่า 9 – 13 เปอร์เซ็นต์, เนื้อหมูจะลดลง 4 – 17 เปอร์เซ็นต์ และเนื้อปลาจะลดลง 6 – 11 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการบริโภคสัตว์ปีกในประเทศไทยจะลดลงถึง 1 – 4 เปอร์เซ็นต์

ทั้งที่ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เคยพยากรณ์ไว้ว่าหากปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์จากประชากรโลกไม่ลดลง ในปี 2593 ทั่วโลกจะมีปริมาณความต้องการไข่ไก่มากถึง 102 ล้านตัน, เนื้อสัตว์ปีก 181 ล้านตัน, เนื้อหมู 143 ล้านตัน, เนื้อแกะ 25 ล้านตัน และเนื้อวัว 106 ล้านตัน

ที่มา :

https://www.businessinsider.com/ban-meat-adverts-climate-concerns-european-city-haarlem-2022-9

https://www.geo.tv/latest/438755-dutch-city-to-ban-meat-ads-due-to-its-impact-on-climate

https://www.ditp.go.th/contents_attach/597176/597176.pdf

https://dld.go.th/th/images/stories/about_us/organization_chart/2561/strategy2561_2565.pdf

https://www.salika.co/2020/09/21/meat-industry-struggles-to-the-outbreak/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024