มีอะไรอยู่ในตัวเลข? เทคนิคสื่อสารกับลูกค้าง่ายๆ ผ่านถ้วยไอศกรีม ให้ผลลัพธ์เกินคาดจากแบรนด์มีบุญ

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Meeboon Icecream

 

     ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย คือ หัวใจสำคัญของการทำสินค้าขายในเบื้องต้น แต่หากมีการสื่อสารที่ดีเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วที่สุด นอกจากจะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการขายและทำรายได้ให้กับธุรกิจได้มากขึ้นด้วย

     เหมือนกับชุดตัวเลข 1, 4 และ 5 ที่เห็นอยู่บนถ้วยไอศกรีมหลากสีในขณะนี้ รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ ตัวเลขเหล่านี้มีความสำคัญกับคนกินไอศกรีมยังไง ลองมาฟัง “น้ำปรุง ศรีสุวรรณ” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ “ไอติมมีบุญ” ไอศกรีมเพื่อสุขภาพที่ไม่ว่าสายไหนๆ คีโต - วีแกน - โลว์คาร์บ - เบาหวาน - แพ้นมวัว ก็สามารถรับประทานได้หมด ไปฟังเฉลยเรื่องราวที่มาของตัวเลขเหล่านั้นกัน

สารตั้งต้นตัวเลข

     “เบื้องต้นไอศกรีมของเราจะมี  2 สูตร คือ สูตรกะทิ และสูตรอัลมอนด์ โดยมีทั้งหมด 14 รสชาติ แบ่งเป็น Almond Based ซึ่งมีนมเป็นส่วนผสม 4 รสชาติ ได้แก่ อัลมอนด์, อัลมอนด์ช็อก, อัลมอนด์ช็อกบานาน่า, อัลมอนด์ช็อกกาแฟ และ Coconut Based อีก 10 รสชาติ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ รสทั่วไป ได้แก่ กะทิ, ชาเขียวมัทฉะ, ดาร์กช็อกโกแลต, ชาไทย,  กาแฟ, ใบเตย, ช็อกบานาน่า และรสผลไม้ ได้แก่ สตรอว์เบอรี, มิกซ์เบอร์รี และบลูเบอร์รี มีให้เลือก 2 ขนาด คือ 4 ออนซ์ และ 22 ออนซ์

     “โดยในทั้ง 2 สูตรนั้นจะให้คาร์บ (คาร์โบไฮเดรต) ในปริมาณที่แตกต่างกัน เราจึงพยายามหาวิธีสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย เพราะจริงๆ แล้วเราเป็นไอศกรีมเพื่อสุขภาพ ไม่ใช้น้ำตาล (Sugar Free) และแป้งในส่วนผสม จึงเหมาะกับลูกค้าที่ต้องการดูแลสุขภาพในหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มคีโตที่ในแต่ละวันต้องจำกัดการกินคาร์บ, กลุ่มคนเป็นโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมน้ำตาล, กลุ่มคนแพ้นมวัว (Dairy Free), กลุ่มวีแกน เจ มังสวิรัติ ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์, กลุ่มโลว์คาร์บ และกลุ่ม Gluten Free ที่แพ้แป้งสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ เราจึงต้องพยายามหาวิธีสื่อสารให้เข้าใจ” น้ำปรุงเกริ่นถึงที่มาและเหตุผลการนำตัวเลขเข้ามาใช้ในบรรจุภัณฑ์  

ถอดรหัสตัวเลข

     โดยชุดตัวเลขที่นำมาใช้บนบรรจุภัณฑ์ของไอติมมีบุญ ประกอบด้วย 3 ตัว ได้แก่ เลข 1, 4 และ 5 แต่ละเลขจะหมายถึงปริมาณคาร์บในแต่ละถ้วยที่จะได้รับ เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานได้ตามความเหมาะสมที่ต้องการ โดยมีความหมายดังนี้

     เลข 1 เน็ทคาร์บ 1 กรัม (เบสด์อัลมอนด์ / มีนมเป็นส่วนผสม) เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มคีโต, โลว์คาร์บ, ซูการ์ฟรี และกลูเตนฟรี

     เลข 4 เน็ทคาร์บ 4 กรัม (เบสด์กะทิ) เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มคีโต, วีแกน, โลว์คาร์บ, ซูการ์ฟรี และกลูเตนฟรี

     เลข 5 เน็ทคาร์บ 5 กรัม (เบสด์กะทิ / รสผลไม้) เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มคีโต, วีแกน, โลว์คาร์บ, ซูการ์ฟรี และกลูเตนฟรี (ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม)

     โดยหลังจากสร้าง How to ชุดตัวเลขในการเลือกรับประทานไอศกรีมของแบรนด์ขึ้นมาแล้ว น้ำปรุงเล่าว่าวิธีการต่อมาหลังจากที่ลูกค้าติดต่อเข้ามาขอซื้อไอศกรีม ก็คือ จะเริ่มต้นด้วยการสอบถามลูกค้าก่อนว่าเป็นผู้บริโภคกลุ่มใด เพื่อจัดส่งรสชาติที่เหมาะสมให้ลูกค้าได้เลือก ยกตัวอย่างเช่น หากลูกค้าแพ้นมวัวหรือวีแกน ก็จะไม่จัดส่งเลข 1 ซึ่งเป็นสูตรอัลมอนด์ที่มีนมวัวเป็นส่วนผสมไปให้ หรือสำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเบาหวาน ก็จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงเลข 5 ที่เป็นสูตรรสผลไม้ เป็นต้น

     ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มต้นออกแบบไอเดียขึ้นมา เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้ลงตัวมากขึ้นไม่ให้เหลือเป็นสต็อกค้าง จึงเลือกใช้วิธีสั่งผลิตถ้วยไอศกรีมตามตัวเลข 1, 4 และ 5 เป็นพื้นฐานขึ้นมาก่อน ส่วนในแต่ละรสชาติจะใช้วิธีสั่งพิมพ์เป็นสติ๊กเกอร์ขึ้นมา เพื่อนำมาแปะในภายหลัง

ผลลัพธ์ตัวเลข

     จากที่แค่ต้องการหาวิธีสื่อสารออกไปยังลูกค้า น้ำปรุงเล่าว่าด้วยไอเดียการนำตัวเลขมาใส่ลงในแพ็กเกจจิ้งที่แปลกไม่เหมือนใครบวกกับสีสันที่ใช้ จึงกลายเป็นการสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ที่ช่วยดึงดูดลูกค้าเพิ่มเข้ามาด้วยอีกทาง โดยในช่วง 2 ปีก่อนที่โควิด-19 เริ่มต้นระบาดใหม่ๆ และเป็นช่วงที่แบรนด์เริ่มหันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้ยอดขายบางเดือนพุ่งขึ้นมาเป็น 10 เท่าเลยก็มี เช่น เคยขายได้เดือนละ 50,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 5 – 6  แสนบาทเลยก็มี

     “เราเป็นแบรนด์เล็กๆ การทำให้ลูกค้าจดจำได้เป็นสิ่งจำเป็น ลูกค้าหลายคนที่ได้เห็นวิธีที่เราสื่อสารออกไป ก็ชมว่าคิดได้ยังไงเป็นไอเดียที่ดีมากเลย ทั้งเข้าใจได้ง่ายและตอบโจทย์ด้วย บางคนก็สารภาพว่าเข้ามาเพราะสีถ้วยสะดุดตา ดูน่ารัก เรียกว่าเป็นความพอดีที่ลงตัวมากกว่า ซึ่งเราจะไม่หยุดพัฒนาอยู่แค่ไอศกรีมโลว์คาร์บแน่นอน ต่อไปในอนาคตอาจจะมีไอศกรีมสำหรับคนออกกำลังกายที่ต้องการโปรตีนสูงออกมาเพิ่มก็ได้ เป็นชุดตัวเลขใหม่ที่คิดเพิ่มขึ้นมา” น้ำปรุงกล่าวทิ้งท้าย

     ไอเดียชุดตัวเลขของไอติมมีบุญ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจ ซึ่งบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรที่มากมาย หรือสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่เสมอไปก็ได้ แค่ตอบโจทย์ธุรกิจ ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคได้ ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่ดีแล้วได้เหมือนกัน

 

แรงบันดาลใจตัวเลข

     “จริงๆ แบรนด์ไอติมมีบุญเริ่มต้นมาจากสูตรไอศกรีมกะทิของครอบครัวพี่เองที่คุณพ่อคุณแม่ยังทำขายอยู่ แต่ด้วยความที่ช่วงหนึ่งแม่ของสามีป่วยเป็นโรคเบาหวาน พี่และสามี (วัชชระ สำราญสุข) จึงลองนำมาปรับสูตรเป็นไอศกรีมที่ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ใส่แป้งและดีต่อสุขภาพให้ท่านรับประทาน จนต่อมาภายหลังด้วยเทรนด์สุขภาพกำลังมา เราจึงต่อยอดนำมาทำเป็นธุรกิจขึ้นมา เพราะใจจริงก็อยากรักษาสูตรไอศกรีมเอาไว้ด้วย จากเริ่มแรกก็เป็นไอศกรีมรักสุขภาพทั่วไป ต่อมาภายหลังจึงพยายามทำการตลาดและเจาะกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจนมากขึ้นว่าไอศกรีมของเราเหมาะกับกลุ่มลูกค้าใดบ้าง จนกลายเป็นไอเดียชุดตัวเลขออกมา โดยที่มาของชื่อ “ไอติมมีบุญ” มาจากชื่อคุณแม่ของพี่เอง ท่านชื่อ “บุญมี” เราจึงนำมาตั้งให้คล้องจองกัน”

ไอติมมีบุญ

FB : meeboonicecream

โทร. 095 745 2871

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน