อย่ามองข้าม ฉลากสินค้า เรื่องเล็กๆ ที่อาจจะกลายเป็นปัญหา

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับแพคเกจจิ้งมากกว่าฉลากสินค้า จึงทำให้มองข้ามปัญหาที่อาจจะตามมากับฉลากสินค้าโดยไม่รู้ตัว

 

  • อาชีพตรวจสอบสินค้าเป็นอาชีพที่รับรายได้จากการนำจับความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยของผู้ประกอบการ อาจต้องเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา มากกว่าที่คิด

     ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้า หรือแพคเกจจิ้ง แต่มีเรื่องหนึ่งที่อาจเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มองข้ามไม่ได้ คือ “ฉลากสินค้า”

ความเสียดายที่กลายเป็นปัญหา

  • รัตนา เป็นผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบธุรกิจอาหาร วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและมินิมาร์ทต่างๆ เธอดำเนินการจดแจ้ง อย. กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างถูกต้องและเรียบร้อย จึงพิมพ์ฉลากสำหรับติดข้างกล่องมาจำนวนหลายหมื่นชิ้น เพราะทางโรงพิมพ์แนะนำว่ายิ่งพิมพ์มากเท่าไหร่ราคาต่อชิ้นยิ่งถูกลง เธอเลือกทำตามเพราะถ้าต้องใช้งานอยู่แล้ว เลือกที่จะทำในราคาต้นทุนที่ต่ำดีกว่า

 

  • เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเขตบ้านที่รัตนาอาศัยอยู่ได้มีการดำเนินโครงการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเลขหมายประจำบ้านในพื้นที่เขตเทศบาลขึ้นใหม่ เพื่อให้ตรงกับสำนักทะเบียนกลาง โดยเปลี่ยนแปลงการกำหนดบ้านเลขที่ในระบบเดิม ซึ่งกำหนดเลขที่บ้านตามพื้นที่ของหมู่ เป็นการกำหนดเลขที่บ้านตามพื้นที่ของแต่ละถนน ตรอก ซอย

 

  • บ้านหลังเดิมที่เคยใช้เลขที่บ้านเดิม จึงถูกเปลี่ยนเลขที่ใหม่โดยปริยาย ฉลากจำนวนหลายหมื่นชิ้นที่รัตนาพิมพ์มาถูกใช้ไปไม่มาก ยังคงเหลืออีกเป็นนับหมื่นชิ้น ประกอบกับสถานการณ์ช่วงโควิดที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว

 

  • เธอรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้การจดแจ้งที่ดำเนินไปก่อนหน้านี้มีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน แต่การทิ้งฉลากนับหมื่นก็หมายถึงการทิ้งเงินจำนวนมากเช่นกัน ความเสียดายทำให้เธอตัดสินใจที่จะใช้ฉลากที่มีบ้านเลขที่เก่าต่อไปจนกว่าจะหมด รอบพิมพ์ครั้งหน้าจะเปลี่ยนเลขที่บ้านใหม่พิมพ์ทุกอย่างถูกต้อง ขอแค่ให้หมดครั้งนี้ไปก่อนเท่านั้น ด้วยคิดว่าฉลากที่ติดข้างกล่องอาหารไม่น่าจะสร้างปัญหาใดๆ ให้ เพราะคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยดูรายละเอียดเลยด้วยซ้ำ

 

  • วันหนึ่งรัตนาถูก อย.แจ้งจับและปรับเพราะถูกร้องเรียนเรื่องที่อยู่บนฉลากกับข้อมูลจดแจ้งไม่ตรงกัน เธอยอมรับทุกอย่างและเสียดายว่า ถ้าวันนั้นเธอไม่เสียดายที่จะต้องทิ้งเงินคงไม่เป็นปัญหาที่ทำให้เธอต้องจ่ายมากกว่าการพิมพ์ฉลากใหม่ แต่เธอแค่สงสัยว่าแล้วทำไมต้องเป็นเธอ ในเมื่อสินค้าประเภทอาหารที่มีวางจำหน่ายมีเป็นหมื่นเป็นแสนรายการ

 

  • ปัจจุบันมีคนที่ทำอาชีพคอยตรวจสอบสินค้าที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปว่ามีการจดแจ้งถูกต้องหรือไม่ เพื่อรับเงินสินบนรางวัลจากการเปรียบเทียบปรับ และบังเอิญวันนั้นความโชคร้ายตกเป็นของเธอ

 

ฉลากสินค้าไม่ถูกต้องเสียหายอย่างไร

     ในเรื่องนี้ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ชี้แจงไว้ว่า การขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่แสดงฉลาก ไม่ถูกต้อง มีความผิดดังนี้

     ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ตรวจสอบอย่างไรว่าฉลากสินค้าถูกกฎหมาย

     หากผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสงสัยว่าฉลากของตนนั้นถูกต้องตามที่กฎหมายไว้หรือไม่ สามารถขอให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากพิจารณาให้ความเห็นในฉลากนั้นก่อนได้ โดยมีค่าใช้จ่ายจำนวนเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อชนิดของสินค้าที่ยื่นคำขอ ตามมาตรา มาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

     ใช้เวลาดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำขอความเห็นเกี่ยวกับฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลากภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่รับคำขอความเห็นเกี่ยวกับฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ถ้าตรวจพบว่าฉลากสินค้าไม่ถูกต้องจะถูกดำเนินการอย่างไร

     เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเห็นว่าฉลากใดไม่เป็นไปตามมาตรา ๓๑ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเลิกใช้ฉลากดังกล่าวหรือดำเนินการแก้ไขฉลากนั้นให้ถูกต้อง ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รายละเอียดที่ควรมีในฉลากสินค้า

     สำหรับลักษณะของฉลากสินค้าที่ดีก็จะต้องมีการบ่งบอกถึงรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนด้วยตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ในเรื่องของ ลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ.2541

     1. ชื่อประเภทของสินค้า บอกว่าจำหน่ายสินค้าอะไร ลักษณะอย่างไร ผลิตจากไหน ต้องระบุใส่ไปให้ครบถ้วน

     2.ชื่อหรือเครื่องหมายทางการค้าที่จดทะเบียน

     3.ข้อมูลสถานที่ตั้งของสถานที่ผลิต หรือ ผู้ที่ได้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา

     4. ขนาดของสินค้า หรือ น้ำหนักของสินค้า

     5. ข้อมูลวิธีการใช้งานหรือขั้นตอนในการใช้งานผลิตภัณฑ์

     6. ข้อแนะนำหรือข้อห้าม

     7. คำเตือนของสินค้า

     8. วันเดือนปีที่ผลิต หรือ วันเดือนปีที่หมดอายุ

     9. ราคา

     10. รูปภาพและส่วนประกอบสินค้า

     ทั้งนี้หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามีกฎหมายกำหนดให้สินค้าบางประเภท เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยสินค้าที่ควบคุมฉลากจะต้องปิดฉลากและระบุรายละเอียดลงในฉลากให้ครบถ้วน หากผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลาก ผู้ผลิต เพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อขาย ฝ่าฝืนจะมีความผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

     การที่กฎหมายกำหนดให้สินค้าบางประเภทเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เนื่องจากกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก โดยผู้บริโภคควรที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เพื่อช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า รวมถึงสามารถนำรายละเอียดที่ระบุไว้ในฉลากไปเปรียบเทียบกับสินค้ายี่ห้ออื่นได้ด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024