อนาคตส่งออกอัญมณีไทย...ทำอย่างไรเพื่อให้อยู่รอด




 

    สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2558 ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตในแดนบวกติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ระดับ 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 4.0 (YoY) 

     โดยความท้าทายของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปีนี้ ต้องจับตา 1) มิติของการแข่งขันระหว่างไทยกับคู่แข่งในตลาดคู่ค้าสำคัญ เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อผู้บริโภค 2) ข้อจำกัดทางการค้าของคู่ค้าที่เอื้อต่อการทำตลาดของคู่แข่ง 3) ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่มีความแตกต่างและซับซ้อนมากขึ้น 

    ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อธุรกิจ อาทิ ค่าเงินบาท สกุลเงินของคู่แข่ง โดยเฉพาะหลังจากทางการจีนปรับลดค่าเงินหยวน ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทย รวมทั้งทิศทางราคาทองคำและเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ในปีนี้ไปจนถึงระยะข้างหน้า

    การทำธุรกิจส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย เริ่มก้าวสู่จุดเปลี่ยน โดยความเคลื่อนไหวในธุรกิจที่เริ่มเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ 1) การพัฒนารูปแบบการผลิตให้ก้าวไปสู่ระดับ ODM และ OBM มากขึ้น 2) การขยายฐานการผลิต ตลาด และสาขาจำหน่ายในต่างประเทศมากขึ้น 3) การเพิ่มประสิทธิภาพสายการผลิตในประเทศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เป็นการฉีกรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการแข่งขันและผลตอบแทนทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้ในอนาคต

    ซึ่งด้วยสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญกับการวางแผนการทำตลาดในระยะต่อไป โดยนอกเหนือจากการปรับกลยุทธ์การตลาดให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ทั้งในส่วนของรูปแบบสินค้าและการกำหนดราคาจำหน่าย การบริหารจัดการต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการพัฒนาฝีมือแรงงานและการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตมากขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์และพลวัตความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตามเทรนด์การบริโภคหรือแฟชั่นที่ได้รับความนิยมในขณะนั้น ทั้งในกลุ่มตลาดหลักเดิมที่ไทยทำตลาดอยู่แล้ว และตลาดใหม่ที่ผู้บริโภคสนใจสินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับมากขึ้น ตลอดจนการหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงตัวผู้บริโภค 

    ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ค่อนข้างมีศักยภาพด้านเงินลงทุนและบุคลากร การหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบการผลิตไปสู่ ODM/OBM รวมถึงธุรกิจค้าปลีกเครื่องประดับในต่างประเทศ เช่น การขยายสาขาล้อไปตามผู้ประกอบการค้าปลีกที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน หรือภูมิภาคอื่นๆ ที่มีอัตราการบริโภคเครื่องประดับในระดับสูง น่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสทางการตลาดในการเข้าถึงผู้บริโภคและผลตอบแทนได้มากขึ้น

    สำหรับผู้ประกอบการ SME นั้น การปรับตัวที่พอกระทำได้เพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ OEM ก็คือ 1) การปรับปรุงการกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ (อาทิ การลงทุนในเครื่องจักร ซึ่งอาจจะใช้เครื่องจักรที่ราคาไม่สูงมากหรือเครื่องจักรมือสองในระยะแรกไปก่อน) เพื่อคงราคาจำหน่ายเดิมไว้ให้นานที่สุด ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้ได้ 2) การพยายามพัฒนาด้านการออกแบบร่วมกับลูกค้า ตลอดจนการหาช่องทางนำเสนอสินค้าไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เป็นช่องทางค้าหลักที่นำรายได้มาสู่ผู้ประกอบการ แต่ก็เป็นช่องทางสำคัญที่สามารถช่วยนำเสนอสินค้าไปสู่สายตาผู้บริโภคในวงกว้างได้เช่นเดียวกัน

    นอกจากนี้ ด้วยภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อในตลาด ผู้ประกอบการไทยควรมีการวางแนวทางการทำธุรกิจที่ชัดเจน (ทั้งกลุ่มเป้าหมายและเทรนด์การบริโภค) เพื่อนำมาวางแผนต่อยอดพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละตลาด ซึ่งก็น่าจะทำให้การดำเนินธุรกิจสามารถเดินไปข้างหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 


SME Thailand Club : เพื่อนคู่คิด ธุรกิจเอสเอ็มอี
ติดตามข้อมูลดีๆเพื่อชาว SMEs ได้ที่ www.smethailandclub.com

RECCOMMEND: MARKETING

วิกฤตสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อย กรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น ปรับตัวผลิตสินค้าผู้ใหญ่แทนสินค้าเด็ก

Oji Holdings ผู้ผลิตผ้าอ้อมในญี่ปุ่นประกาศยุติผลิตผ้าอ้อมเด็ก หันไปเพิ่มปริมาณการผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่แทน สาเหตุมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและจำนวนประชากรสูงวัยของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น

โอกาสโกอินเตอร์ของแบรนด์ไทย ทำงานกับนักธุรกิจระดับโลก งาน Gifts & Premium Fair ฮ่องกง

ฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดงานแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง และหนึ่งในนั้นคืองานแสดงสินค้าของขวัญและของพรีเมียมภายใต้ชื่อ Hong Kong Gifts & Premium Fair ซึ่งกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 เมษายน 2024