เจาะอินไซต์ผู้บริโภค 4 พฤติกรรมใหม่ ดันธุรกิจเช่าเสื้อผ้าโตขึ้น 15%

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • ในปี ​​2010 ผู้บริโภคซื้อเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 60% จากเมื่อ 15 ปีก่อน โดย McKinsey & Company พบว่าการเพิ่มขึ้นของแฟชั่นแบบด่วน อาจทำให้เราใส่เสื้อผ้าชุดหนึ่งเพียง 7-8 ครั้งเท่านั้นก่อนที่จะเลิกใช้งานได้

 

  •  ธุรกิจให้บริการเช่าเสื้อผ้า จึงเติบโตเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกหนึ่งช่องทาง โดยในปลายปีที่ผ่านมาบริษัทให้บริการเช่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายต่างๆ หลายแห่งในสหรัฐอเมริกากลับมียอดสมาชิกเพิ่มมากขึ้นกว่า 15% ด้วยกัน

 

     ธุรกิจเช่าเสื้อผ้า อาจไม่ใช่เทรนด์ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่ทุกวันนี้กลับมีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคเองที่เริ่มเปลี่ยนจากการเช่าชุดเพื่อใส่ไปโอกาสเฉพาะพิเศษต่างๆ หรือเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมาเป็นการเช่าแทนการซื้อเพื่อใช้อยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เกิดอะไรขึ้นกับวงการเสื้อผ้าแฟชั่น มีอินไซต์อะไรของผู้บริโภคที่ซ่อนอยู่ ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง ไปดูกัน

เปลี่ยนจากซื้อบ่อยๆ มาเป็นเช่าใส่แทน

     Avery Hartmans หนึ่งในนักข่าวอาวุโสแห่ง Insider ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เขียนเล่าถึงประสบการณ์ในการหันมาใช้บริการเช่าเสื้อผ้าผ่านแพลตฟอร์มการเช่าชุดออนไลน์ “Nuuly” เป็นเวลาหนึ่งปีกว่าๆ ให้ฟังว่า เธอเริ่มต้นใช้บริการเช่าเสื้อผ้าออนไลน์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2021 หรือประมาณ 14 เดือนมาแล้ว เพื่อทดสอบดูว่าจะสามารถเลิกซื้อเสื้อผ้าและหันมาใช้บริการเช่าใส่ทั้งหมดแทนได้หรือไม่

     โดยเล่าปัญหาให้ฟังว่าก่อนหน้านี้เธอก็เป็นคนหนึ่งที่มักหงุดหงิดว่าในแต่ละวันจะเลือกใส่เสื้อผ้าชุดไหนไปทำงานดี ทั้งๆ ที่ก็มีเสื้อผ้าอยู่เต็มตู้ โดยก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เธอมักจะไปที่ร้าน H&M และ Zara ประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือนอยู่แล้ว เพื่อหาซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ทั้งที่ก็รู้อยู่แล้วว่า Fast Fashion หรือการซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นราคาถูกที่ผลิตจำนวนมาก นอกจากทำให้สิ้นเปลืองเงินแล้วยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย โดยเธอมองปัญหาส่วนหนึ่งของตัวเองอาจเป็นเพราะการเสพติดโดพามีน (Dopamine) หรือฮอร์โมนความสุข จากการช้อปปิ้งมากเกินไป จึงคิดว่าการเช่าเสื้อผ้าออนไลน์น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้เธอได้

      การเพิ่มขึ้นของ Fast Fashion ทำให้ผู้บริโภคซื้อเสื้อผ้ามากขึ้นและเลิกใช้เร็วขึ้น โดยระหว่างปี 2000-2014 การผลิตเสื้อผ้ามีราคาถูกลง และห่วงโซ่อุปทานมีความคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในช่วงกลางปี ​​2010 ผู้บริโภคซื้อเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 60% จากเมื่อ 15 ปีก่อน โดย McKinsey & Company กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของแฟชั่นแบบด่วน อาจทำให้เราใส่เสื้อผ้าชุดหนึ่งเพียง 7-8 ครั้งเท่านั้นก่อนที่จะเลิกใช้งาน

ทำไมลูกค้าจึงหันมาใช้บริการเช่าเสื้อผ้ากันมากขึ้น?

     โดย Avery ได้เล่าถึงผลลัพธ์การใช้บริการเช่าเสื้อผ้าออนไลน์แทนการซื้อเป็นเวลาหนึ่งปีกว่าให้ฟังว่า

     1.ช่วยเลิกเสพติดการช้อปปิ้ง

     ก่อนหน้านี้ในทุกเย็นวันศุกร์หากมีนัดพิเศษหรือไปแฮงค์เอาท์กับเพื่อน เธอมักจะวางแผนไปซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่อยู่เสมอ รวมถึงวันที่เครียดๆ จากการทำงานด้วย โดยที่บางครั้งซื้อมาอาจไม่ได้ชอบจริงๆ ก็ได้ แค่ขอแค่ได้รู้สึกว่าได้มีอะไรใหม่ๆ มาใช้ แต่หลังจากได้เริ่มทดลองเช่าเสื้อผ้าออนไลน์มาใช้ เธอกลับพบว่ารู้สึกมีความสุข สนุก ไม่ต่างจากการจ่ายเงินซื้อชุดใหม่ๆ เลย

     2. ช่วยประหยัดเงิน

     โดยวันไหนที่รู้สึกอยากช้อปปิ้งเธอจะเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ Nuuly ซึ่งมีสินค้าลงใหม่เกือบทุกวัน จากนั้นจะเข้าไปบันทึกรายการโปรดเพื่อทำการเช่าในอนาคต วิธีการนี้ช่วยทำให้เธอประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการเสียเงินซื้อเสื้อผ้า ซึ่งในแต่ละเดือนเธอต้องจ่ายค่าใช้บริการเช่าชุดเดือนละ 88 ดอลลาร์ สามารถเช่าได้ทั้งหมด 6 ชุดต่อเดือน หากเดือนไหนไม่ต้องการใช้บริการ ก็สามารถกดหยุดการเป็นสมาชิกได้ทันที

     3. อัปเดตเทรนด์ใหม่ได้ตลอดเวลา โดยไม่ทิ้งให้เป็นภาระโลก

     การเลือกใช้บริการเช่าแทนการซื้อ ทำให้เธอสามารถอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา และเปลี่ยนได้มากเท่าที่ต้องการ โดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเสื้อผ้าดังกล่าวจะถูกนำกลับมาหมุนเวียนให้ลูกค้ารายอื่นๆ ไปใช้ต่อได้ ไม่เหมือนการช้อปปิ้งเสื้อผ้าแฟชั่นเหมือนแต่ก่อน ที่ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทั้งในการใช้ทรัพยากร รวมไปถึงการทำลายทิ้งที่เป็นมลภาวะตามมา นอกจากนี้ยังทำให้ตู้เสื้อผ้าของเธอไม่แน่นเหมือนอย่างที่ผ่านมาด้วย เพราะตัวไหนไม่ใช้แล้วก็สามารถส่งคืนได้ แต่สำหรับตัวไหนที่ได้ลองเช่ามาใช้แล้วเกิดรู้สึกชอบ จะลองติดต่อเพื่อขอซื้อในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปก็ได้

     4. ช่วยปรับมุมมองการช้อปปิ้งเสียใหม่

     จากประสบการณ์ปีกว่าที่ได้ใช้บริการเช่าเสื้อผ้าแทนการซื้อ Avery ได้รู้จักเสื้อผ้าที่หลากหลายทั้งแบรนด์ทั่วไปและแบรนด์ระดับไฮเอนด์ ทำให้สามารถเห็นถึงความแตกต่างระหว่าง Fast Fashion กับเสื้อผ้าที่ตัดเย็บอย่างประณีต มีคุณภาพ จนทำให้เริ่มเกิดความคิดว่าต่อไปหากจะซื้อเสื้อผ้าสักชุดหนึ่ง อย่างน้อยต้องเป็นชุดที่เธอคิดว่าจะใช้ต่อไปได้อีกเป็นสิบปี จึงจะตัดสินใจซื้อ

     สำหรับข้อเสียในการใช้บริการนั้น เธอกล่าวว่าอาจมีบ้างในการที่เสื้อผ้าอาจชำรุดในบางจุด เพราะต้องผ่านผู้ใช้งานหลายคน แม้ทางแพลตฟอร์มจะตรวจสอบดีแล้วก็ตาม ดังนั้นบริการดังกล่าวจึงอาจจะไม่เหมาะกับผู้ที่รักและหวงแหนในเสื้อผ้าของตัวเอง อีกเรื่องที่ยังกระทบกับสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง ก็คือ การสูญเสียเชื้อเพลิงที่ใช้ขนส่งไปมา ถึงแม้ในการส่งเสื้อผ้าไป-กลับ ทาง Nuuly จะใส่มาในกระเป๋าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ก็ตาม

ธุรกิจให้บริการเช่าเสื้อผ้าโตขึ้นกว่า 15%

     นอกจากที่ Avery เล่ามาในฐานะของผู้บริโภค ในปลายปีที่ผ่านมาบริษัทให้บริการเช่าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายต่างๆ หลายแห่งในสหรัฐอเมริกากลับมียอดสมาชิกเพิ่มมากขึ้นกว่า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ โดย Jennifer Hyman ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง Rent the Runway บริษัทให้บริการเช่าเสื้อผ้าและเครื่องประดับระดับไฮเอนด์กล่าวกับ CNBC ว่าผู้ซื้อหลายคนเริ่มหันมาใช้บริการเช่ามากกว่าซื้อเยอะขึ้น ขณะที่ URBN ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของร้านค้าเสื้อผ้ารวมแบรนด์ชื่อดัง ได้แก่ Urban Outfitters, Anthropologie, Free People รวมถึง Nuuly รายงานว่าระหว่างที่กำลังเรียกรับรายได้ในไตรมาสที่สามในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า Nuuly มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 37% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าทีเดียว

     และนี่คือ เรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจให้บริการเช่าเสื้อผ้าในวันนี้ อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงกว่าเดิมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ผู้ประกอบการด้านสินค้าแฟชั่นคนไหนอยากลองนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองบ้าง ก็น่าสนใจไม่น้อย

ที่มา : https://www.businessinsider.com/renting-clothes-pros-cons-what-its-like-using-nuuly-2023-1?fbclid=IwAR0PmY5jbAxfgdXT95IdIcLeCcP8bkwboxZ3KL3gxGcGaeQvavbT2JXX76g

https://www.instyle.com/fashion/nuuly-review

https://www.eviemagazine.com/post/i-rent-my-clothes-every-month-best-way-experiment-fashion-affordable

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ย้อนตำนาน มาสคอตไทย ก่อน "น้องหมีเนย" มีแบรนด์ไหนทำมาร์เก็ตติ้งนี้บ้าง

หลายคนมี Brand Love ในใจ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าต้องดี จนเรากลายเป็นลูกค้าประจำ ยังต้องมี Brand Characters ที่จะช่วยให้คนจดจำได้ อีกหนึ่งทางเลือกที่ถ้าอยากสร้างแบรนด์ให้ปัง

ขายสินค้าออร์แกนิกให้เป็นแมส จากแนวคิดแบรนด์ KING Organic

KING Organic ผู้ผลิตผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูปออร์แกนิก จ.สมุทรสาคร ได้คิดกลยุทธ์การทำธุรกิจที่เรียกว่า “Mass Premium” ขึ้นมา เพื่อทำของพรีเมียม ให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขวางมากขึ้น ในราคาที่ใครๆ ก็สามารถจับต้องได้ มีวิธีการยังไง ไปดูกัน