ต้นทุนเพิ่ม 100% ธุรกิจอาหาร ตจว. เสี่ยงเจ๊งสูง

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่จะประกาศใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่จะถึงนี้เป็นต้นไปนั้น มองว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารมากพอสมควร โดยเฉพาะร้านอาหารในตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากค่าแรงรวมกันต่อเดือนจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทเท่านั้น หากมีการปรับค่าแรงเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน จะส่งผลให้ค่าแรงต่อเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 9,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 100% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงในเขตของกรุงเทพฯ และปริมาณฑล ที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทก่อนหน้านี้ หรือจากค่าแรงต่อเดือน 7,500 บาท เป็น 9,000 บาท

พาณิชย์เทงบก้อนสุดท้ายขยายเวลา "ร้านถูกใจ"

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หลังหารือกับผู้ผลิตสินค้าที่ร่วมโครงการ “ร้านค้าถูกใจ” อาทิ สหพัฒน์ ล็อกซ์เล่ย์ น้ำตาลมิตรผล เพื่อวางแนวทางการดำเนินโครงการในปี 2556 หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ขยายโครงการ “โชห่วยช่วยชาติ” ออกไปถึงเดือนมีนาคม 2556 ขณะนี้กรมเตรียมนำงบประมาณที่เหลืออีก 200 ล้านบาท มาดำเนินโครงการร้านค้าถูกใจ แต่จะยกเลิกเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าจ้างขายสินค้าในร้านทั้งหมด เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นตัวจริง ที่ไม่ได้หวังค่าจ้างขายสินค้า ซึ่งจะไม่เน้นการเพิ่มจำนวนร้านค้า แต่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้าเดิม

ผลวิจัยระบุ SMEs สู้ค่าแรงไม่ไหวส่อลอยแพ 6 แสนคน

ศูนย์วิจัยธุรกิจบัณฑิตย์ระบุปัญหาค่าแรง 300 ทำเอสเอ็มอี 8 แสนถึง 1 ล้านรายตกที่นั่งลำบาก คาดตกงาน 6.4 แสนคน แนะรัฐใช้งบ 1.4 แสนล้านบาทตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่างค่าจ้าง บรรเทาความเดือดร้อน

กสิกรไทยเร่งผู้ประกอบการปรับตัวรับ AEC

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2556 ยังคงมีปัจจัยทางเศรษฐกิจจากภายนอกประเทศที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า ขณะที่สถานการณ์ในยูโรโซนยังคงเปราะบาง ส่งผลให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความ ผันผวนเพิ่มขึ้น ทั้งจากอัตราแลกแปลี่ยนและความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ของคู่ค้าระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศเรื่องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ จะเพิ่มแรงกดดันด้านต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย

อุตฯปิดโครงการฟื้นฟู SMEs น้ำท่วม

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนาสรุปผลการดำเนินโครงการ และพิธีปิดโครงการ “ฟื้นฟูผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยด้วยกระบวนการพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” โดยมีนายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Productivity Mindset กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืน” พร้อมการเสวนาแสดงผลการปรับปรุงจากผู้บริหารขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการ ณ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ห่วง 6 ปัจจัยเสี่ยง ปี 56 กด SMEs ทรุด

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 ส.อ.ท. มีความกังวล 6 ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้ชะลอตัว หรือทรุดตัวลง ประกอบด้วย 1.ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ และการขาดแคลนแรงงานทุกกลุ่ม, 2.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก, 3.ความผันผวนราคาน้ำมันตลาดโลก, 4.การปรับราคาของวัสดุดิบในการผลิตสินค้าอย่างเหล็ก เคมีภัณฑ์ กระดาษ, 5.ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ และ 6.ความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐ ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการลดต้นทุนของประกอบการโดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์

อุตฯรองเท้าจัด "ดีไซเนอร์พบผู้ผลิต" ช่วย SMEs

นายครรชิต จันทนพรชัย นายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย เปิดเผยว่า ในปี 2556 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าน่าจะเป็นปีที่เหนื่อยกว่าปีที่ผ่านมา และต้องปรับตัวกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามามีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะการปรับค่าแรง 300บาททั่วประเทศ ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ ผู้ผลิตรายเล็กๆ ซึ่งเน้นผลิตสินค้าราคาถูก ดีไซน์ตามแบบแบรนด์ดัง

จ่อลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 15% ล่อใจทุนนอก

นายสาธิต รังคศิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า แม้ว่าขณะนี้ภาษีนิติบุคคลของไทยจะลดจาก 30% เป็น 23% ในปีที่ผ่านมา และเหลือ 20% ในปีนี้ แต่ก็ยังสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค อาทิ ฮ่องกง และ สิงคโปร์ ที่เก็บภาษีนิติบุคคลที่ 16-17% ซึ่งทำให้ไทยยังเสียเปรียบประเทศดังกล่าวในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทยดังนั้น กรมสรรพากรจึงตั้งเป้าหมายที่จะปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลให้เหลือ 15 % เพื่อให้ต่ำที่สุดในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเลือกเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น