Text : rujrada.w

     การสร้างอวัยวะเทียมมีความสำคัญทั้งในด้านการแพทย์และโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ยังไม่มีใครทำได้มาก่อน อย่างการพัฒนากระจกตาชีวภาพ ทั้งที่กระจกตาเป็นอวัยวะที่คนศึกษาน้อย แต่มีความต้องการในตลาดเยอะ ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ จึงมีความคิดว่าต้องสร้างกระจกตาขึ้นมาใหม่เพราะไม่อยากให้คนต้องรอบริจาคอย่างเดียวอีกต่อไป

     “ปกติแล้วกระจกตาของคนเราจะใส แต่ถ้าได้รับบาดเจ็บ เกิดอุบัติเหตุ ติดโรคหรือติดเชื้อจะขุ่นและซ่อมตัวเองไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนกระจกตาที่ได้รับบริจาคจากผู้เสียชีวิต แล้วทั้งโลกปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอเปลี่ยนกระจกตาอยู่กว่า 10 ล้านคน แต่มีผู้โชคดีได้รับบริจาคมาเพียง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และผู้ป่วยบางรายต้องใช้เวลารอ 2-3 ปี เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนที่ต้องรอจำนวนมาก”

โลกสดใสเพราะกระจกตาสดใหม่

     ถ้าการวิจัยสำเร็จ กระจกตาชีวภาพที่ได้มาก็เหมือนเรียกคืนโลกใบใหม่ที่สดใสให้กับผู้ป่วยได้ในเวลาที่รวดเร็ว เทียบกันแล้วระยะเวลาการรอน้อยลงกว่าเดิมมาก จากที่ต้องรอเป็นปีอาจเหลือแค่ 1 เดือนหรือน้อยกว่านั้นเป็นหลักสัปดาห์ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ จะได้กระจกตาที่ ‘สดใหม่’

     “คำว่าสดใหม่ในที่นี้คือ สมมติเราอายุ 40 ปี แต่ผมได้รับกระจกตาบริจาคจากคนอายุ 70 ปี เราได้ของคนแก่มา ถามว่าใช้ได้ไหม ใช้ได้ แต่ก็จะเป็นกระจกตาที่มีอายุมาก เพราะว่ากระจกตาของเราเสื่อมตามวัย อาจจะบาง อาจจะไม่ดีเท่าของเด็กๆ และเป็นสิ่งที่เราเลือกไม่ได้ด้วย”

     หากใช้กระจกตาบริจาค นอกจากอายุของกระจกตาที่เราเลือกไม่ได้แล้ว ยังเลือกคุณภาพการมองเห็นไม่ได้ด้วย เพราะกระจกตาของคนเราอาจจะมีความโค้งไม่เท่ากัน ค่าสายตาไม่เท่ากัน เมื่อได้รับบริจาคมาแล้วเอามาใส่ก็ไม่พอดีกันเสียทีเดียว

     ในการวิจัยของ ดร.ข้าว การสร้างกระจกตาชีวภาพมีหลายเลเวล เจเนอเรชันแรกเป็นการสร้างวัสดุที่คล้ายกับกระจกตาขึ้นมาจากวัสดุธรรมชาติ เจเนอเรชันที่สองจึงเริ่มใส่สเต็มเซลล์เข้าไป

     “พอเรามีสเต็มเซลล์เข้าไปอยู่ในวุ้นกระจกตาของผู้ป่วย สเต็มเซลล์จะค่อยๆ กินวุ้นและสร้างวุ้นขึ้นมากลายเป็นเนื้อเยื่อใหม่ที่จำลองการสร้างกระจกตาเหมือนตอนที่เราเป็นเด็กแรกเกิด สุดท้ายคนไข้ก็จะได้กระจกตาชิ้นใหม่ที่อายุน้อยและอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต”

     ปัจจุบันทั่วโลกกำลังพัฒนาสเต็มเซลล์ใน 2 ทางเลือก คือ ใช้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเอง กับใช้สเต็มเซลล์กลางที่ถูกทำให้สามารถใช้ได้กับทุกคน ซึ่งสเต็มเซลล์กลางที่สามารถใช้ได้กับทุกคนอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเพราะไม่มีขั้นตอนการเก็บสเต็มเซลล์จากคนไข้ที่อาจทำให้ต้องใช้เวลาสร้างอวัยวะนานขึ้นไปอีก

เปลี่ยนงานวิจัยให้เป็น Startup เพิ่มความเร็วการพัฒนา

     งานวิจัยของ ดร.ข้าวเริ่มต้นจากในห้องแล็บจนกระทั่งมาถึงเฟสการทดลองในสัตว์ก็ถึงเวลาที่ต้องสปินออฟออกมาเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง

     “ถ้าเราต้องอยู่กับระบบขอทุนวิจัยคงไม่ทันใคร จึงจำเป็นต้องตั้งบริษัท ด้วย 2 เหตุผล คือ 1. เราจะสู้คนอื่นไม่ทัน และ 2. เราจำเป็นต้องสร้างโรงงานผลิตที่มีมาตรฐานเพื่อนำไปใช้ทดสอบในคน ผมไม่สามารถจะผลิตในห้องแล็บเหมือนปัจจุบันแล้วนำไปใช้ทดสอบในคนได้แล้ว เพราะมีเรื่องกฎหมายและต้องผ่านการรับรองที่ได้มาตรฐาน เช่น การรับรองการผลิตเครื่องมือแพทย์ GMP”

     Startup ที่ชื่อว่า รีไลฟ์ ไบโอเอนจิเนียริ่ง หรือ ReLife ได้เงินลงทุนก้อนแรกจากบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด 100 บาท เงินก้อนใหญ่นี้เอาไปสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องมือ และวางระบบใหม่ทั้งหมด เพื่อไปสู่สเต็ปถัดไปคือทดสอบในคนไข้จริง

     “รอบนี้เราได้เงินลงทุนมา 100 ล้านบาทจาก Angel Investor ที่เข้าใจว่างานวิจัยแบบนี้ต้องรอ สเต็ปถัดไปที่ต้องทำการบ้านคือต้องมีหลักฐานไปโชว์นักลงทุนว่ามีความเป็นได้ที่จะสำเร็จ ซึ่งหลักฐานนั้นคือผลการทดสอบการทดลองในสัตว์ และเงิน 100 ล้านที่เป็นฟีดเล็กๆ นี้เราจะเริ่มทำการทดลองในคนกลุ่มเล็กๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งถ้าได้ผลที่ค่อนข้างเป็นบวก เราจะเอาผลนั้นไปขอระดมทุนรอบต่อไป”