Digital Marketing

ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Modern Marketing แนะเมื่อพฤติกรรมคนเปลี่ยน การตลาดต้องเปลี่ยนตาม

Text : นนท์ธวัช ไชยวัง Photo : กิจจา อภิชนรจเรข
 

 

Main Idea
 
  • เมื่อโลกของอี-คอมเมิร์ซขยายใหญ่ขึ้น การแข่งขันย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย และแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น แต่พฤติกรรมของคนบนโลกออนไลน์น่าจะยังดุเดือดเข้มข้นต่อไป
 
  • SME Startup จึงได้สัมภาษณ์ ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Modern Marketing ถึงคำแนะนำของการทำการตลาดออนไลน์ในยุคนี้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
 

 

     โควิด-19 คือสถานการณ์ที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่ ผู้คนถูกผลักให้เข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ร้านค้าไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ที่ต้องการเข้าถึงผู้บริโภคช่องทางออนไลน์ก็เป็นช่องทางเดียวที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างรวดเร็วและตรงกลุ่ม สะท้อนได้จากตัวเลขการจับจ่ายของผู้คนผ่านช่องทางออนไลน์ทั่วโลกมีอัตราที่สูงขึ้น

     แน่นอนเมื่อโลกของอี-คอมเมิร์ซขยายใหญ่ขึ้นกลยุทธ์การตลาดที่จะเข้าช่วงชิงเค้กก้อนโตบนแพลตฟอร์มออนไลน์นี้จะเปลี่ยนไปอย่างไรในวิถีของ New Normal ที่เชื่อกันว่าแม้สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น แต่พฤติกรรมของคนบนโลกออนไลน์น่าจะยังดุเดือดเข้มข้นต่อไป
 

พฤติกรรมเปลี่ยน..การตลาดเปลี่ยน

     ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ CEO YDM (THAILAND) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Modern Marketing กล่าวถึงรูปแบบการสื่อสารการตลาดออนไลน์ที่เปลี่ยนไปว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่ทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ ในการกักตัวอยู่บ้านช่วงโควิด-19 กลายเป็นนิสัยที่เคยชินของผู้คนนับจากนี้ไป เช่น การช้อปปิงออนไลน์ หรือการสั่งอาหารมารับประทานแบบดิลิเวอรี ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของบางคน แต่สถานการณ์จะกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้พากันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น และจะกลายเป็นความเคยชิน





     “ผมมองว่าผู้บริโภคจะซื้อของบนออนไลน์มากขึ้น ทำให้เจ้าของแบรนด์ต้องมีการปรับตัวมากพอสมควร เพื่อรับการเปลี่ยนไปของลูกค้า ยกตัวอย่าง ธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ ยักษ์ใหญ่ของบ้านเรายังต้องปรับบิสซิเนสโมเดลใหม่ เพื่อวางแผนจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ด้วยการคิดงานให้คนดูออนไลน์สร้างประสบการณ์ใหม่ให้เหมือนดูคอนเสิร์ตจริงๆ”

     จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตาม New Normal ผู้ประกอบการที่จะค้าขายทางออนไลน์ทั้งพ่อค้าแม่ค้าที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจ และผู้ประกอบการ SME ที่กำลังทำการตลาดให้ระวังเรื่องการแข่งขันที่สูงบนออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันกันทางด้านราคา โปรโมชันที่จะแข่งเดือดในขณะที่ลูกค้าก็มีกำลังซื้อที่แผ่วลงหลังจากที่พิษโควิดเล่นงาน ธนพลแนะนำว่า สิ่งสำคัญในการแข่งขันจากนี้ไปคือ การสร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าว่ามีความคุ้มค่าสูงในการเลือกซื้อสินค้าเรา



     “การตลาดจากนี้ไปผู้ประกอบการคงต้องระมัดระวังมากขึ้น การทำการตลาดควรเน้นการสร้างแบรนด์แบบยั่งยืน เน้นดูงบประมาณที่มี ค่อยๆ ทำอย่าเพิ่งบุ่มบ่าม ไม่ควรที่จะฮาร์ดเซลล์มากจนเกินไปเพราะจากการสำรวจพบว่า วงจรธุรกิจกลุ่มนี้จะอยู่ได้ไม่เกิน 10 ปี และมีลักษณะโมเดลเป็นวงจรชีวิตแบบระฆังคว่ำ ส่วนการทำการตลาดของแบรนด์ขนาดใหญ่จะต้องค่อยเป็นค่อยไป เน้นการสร้างแบรนด์แบบสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า มาแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า”
 

ประสบการณ์คือเรื่องสำคัญ

     ส่วนเรื่องสมรภูมิของธุรกิจการขายของออนไลน์ที่สูง ธนพลมองว่า ผู้ประกอบการ SME จะมีกำไรที่ต่ำลง ธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปอาจจะอยู่ลำบาก แบรนด์ที่จะอยู่ได้ต้องเข้าถึงแหล่งผลิต หรือแหล่งซื้อสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก หากเป็นสินค้าที่ผลิตเองจะต้องเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ โจทย์ใหญ่ของการสร้างแบรนด์แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่รู้อยู่แล้ว จุดนี้ก็ยังทรงพลังและต้องทำอยู่ดี แม้ว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปตาม New Normal แล้วก็ตาม คือการทำอย่างไรให้ลูกค้ารักเรา ไม่หนีเรา ถ้าสินค้าไม่แตกต่างก็ให้ท้าชนแข่งด้านราคา หรือการบริการไปเลย แต่กลยุทธ์นี้จะต้องมั่นใจว่าตัวเองชนะ เช่น การรับสินค้ามาในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งต้องสำรวจให้ดี เป็นต้น”





     ส่วนกุญแจอีกดอกหนึ่งที่สำคัญมากในการทำการตลาดกับผู้บริโภคยุค New Normal คือ การสร้างแบรนด์แบบการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เจ้าของแบรนด์ หรือนักการตลาดจะต้องคิดให้ลูกค้าทุกสเตป เพราะการสื่อสารยุคใหม่จะต้องให้ประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้า นอกจากนี้ การทำตลาดยุคนี้ยังต้องอาศัยทั้งออฟไลน์ผสมออนไลน์เข้าด้วยกัน เช่น กลยุทธ์แบบปากต่อปากที่ยังใช้ได้ในทุกวันนี้ แต่กลยุทธ์นี้จะเปลี่ยนไปบนออนไลน์ ซึ่งจะทรงพลังกว่า และเป็นไวรัลกระจายไปอย่างรวดเร็ว

      ในเมื่อการทำการตลาดแบบเดิมๆ ต้องเจอโควิด-19 เป็นอุปสรรคขวางกั้น เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ก็ถึงเวลาแล้วที่แบรนด์จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้รับกับวิถี New Normal เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ครั้งนี้อาจยืดเยื้ออีกนาน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup