​จับตาเทคโนโลยีสุดล้ำ พลิกโฉมธุรกิจขนส่ง

Text กองบรรณาธิการ



     ในทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่สูงขึ้นจาก 17 เปอร์เซ็นต์ มาที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2554 – 2559 ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ นอกจากจะถูกนำไปใช้ในด้านการสื่อสารโดยตรงแล้ว ยังถูกนำไปพัฒนาปรับใช้กับธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย การขนส่งก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อลดข้อบกพร่องในการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็น ด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความโปร่งใสในการรับ/ส่งสินค้า เป็นต้น 







    ในด้านอุตสาหกรรมขนส่งมีเทคโนโลยีที่น่าสนใจได้แก่ Internet of Things หรือ IOT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้อุปกรณ์ต่างๆ สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันได้ เช่น ระบบเซ็นเซอร์หรือสมองกลฝังตัวต่างๆ หรือระบบการเชื่อมต่อกับดาวเทียมระบุพิกัดอย่าง Connected GPS เทคโนโลยีด้านข้อมูลอย่าง Logistics Cloud และ Big Data ทีใช้ในเรื่องของการเก็บและประมวลข้อมูล เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติต่างๆ เช่น Self-Automated Vehicle ซึ่งยุโรปนำมาทดสอบประยุกต์ใช้กับการขนส่งข้ามทวีปในปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นต้น


     จากเทคโนโลยีที่กล่าวถึงในข้างต้น จะพบว่าทั้งผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในอุตสาหกรรมขนส่งจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับ Connected GPS อย่างมาก ในฐานะที่เป็นเทคโนโลยีโซลูชั่นที่เข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการ Tracking หรือการติดตามเพื่อดูพฤติกรรมของรถที่กำลังขนส่งว่าเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ใช้ความเร็วเท่าไหร่ และขับออกนอกเส้นทางหรือไม่ เป็นต้น 


     นอกจากนี้ กรณีศึกษาของบริษัท DHL ประเทศไทย ยังพบว่า การติดตั้ง Connected GPS ทำให้บริษัทสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงได้เกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้ง เทคโนโลยี Connected GPS นั้นมีความซับซ้อนไม่มากนัก มีเพียงอุปกรณ์ส่งสัญญาณและการแสดงผลเท่านั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการและคนขับสามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากประโยชน์ข้างต้น กรมการขนส่งทางบกจึงได้ออกกฎข้อบังคับให้รถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งระบบ Connected GPS ภายในปี 2019 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการเร่งใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย


     ถัดมาคือ Big Data และ Logistics Cloud ที่ถูกมองว่าจะนำมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ที่ได้จาก Connected GPS เช่น เส้นทางการขนส่งสินค้า ความเร็ว สภาวะการจราจร และอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง เนื่องจาก Cloud Computing เป็นเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้เซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูลแบบเก่ามาก อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เก็บไว้เมื่อมีจำนวนมากก็จะต้องใช้เทคโนโลยี Big Data เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการขนส่งอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Big Data analysis เป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนสูง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการข้อมูล ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องจัดเตรียมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญก่อนจึงจะสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้ 


     ทังนี้  EIC หรือ Economic Intelligence Center คาดการณ์ว่า ตลาดเทคโนโลยี Connected GPS ในไทยจะมีมูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และตลาด Logistics Cloud จะมีมูลค่าราว 5 พันล้านบาท จากความต้องการของผู้ประกอบการที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและจากนโยบายของภาครัฐ อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตราว 6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตามจำนวนรถขนส่งสินค้าและการซื้ออุปกรณ์ใหม่จากการที่เทคโนโลยีเก่าเริ่มล้าหลัง จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้จัดจำหน่ายและผู้ให้บริการเทคโนโลยีในการขยายธุรกิจ 


     กล่าวได้ว่า เทคโนโลยี Connected GPS, Logistics Cloud และ Big Data กำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการขนส่งทางถนนครั้งสำคัญ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยแก้ไขปัญหาดั้งเดิมในการขนส่ง เช่น ความปลอดภัย การตรงต่อเวลา แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการวางแผนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี



RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน