ชวนลูกค้า ชิม เที่ยว เวิร์กช็อป “เสมือนจริง” เทรนด์ธุรกิจที่ SME ต้องจับตา

TEXT: รุจรดา วัฒนาโกศัย





Main Idea
 


3 เรื่องต้องทำ เมื่อธุรกิจให้บริการ “เสมือนจริง”

 
  • ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
 
  • ต้องมีการโต้ตอบกับผู้ชมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และดึงดูดความสนใจ
 
  • จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้บริการให้พร้อม และเตรียมรับมือปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที



      หลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่คนออกจากบ้านไปช้อป ชิม ท่องเที่ยว หรือกระทั่งทำงานนอกบ้านไม่ได้ เราจึงต้องทำทุกอย่างผ่าน “หน้าจอ” ธุรกิจต่างๆ หันมานำเสนอประสบการณ์ “เสมือนจริง” (Virtual Reality) ให้กับคนที่ต้องติดอยู่ที่บ้าน


      อาทิ Airbnb ที่เปิดตัว Online Experiences ที่ให้ลูกค้าเดินทางผ่านโลกออนไลน์ไปทำกิจกรรมแปลกใหม่ได้จากบ้านตัวเอง โดยประสบการณ์ดิจิทัลเหล่านี้จะจัดโดยโฮสต์ของ Airbnb ใน 30 ประเทศทั่วโลก เช่น การทำสมาธิกับพระสงฆ์ การท่องเที่ยวเมืองเชอร์โนบิลแบบเสมือนจริง ออกกำลังกายกับนักกีฬาโอลิมปิก การเวิร์กช็อปทำอาหารกับครอบครัวในโมร็อกโก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้สามารถเข้าร่วมได้ผ่านโปรแกรม Zoom ในราคาเริ่มต้นเพียง 10 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 300 บาทเท่านั้น






      แม้แต่การดูคอนเสิร์ตเสมือนจริง ยกตัวอย่าง SM Entertainment ค่ายเพลงในประเทศเกาหลีใต้เปิดให้รับชมคอนเสิร์ตผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ และเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่ายในราคา 900 บาทสำหรับผู้รับชม 2 คน ทำให้สามารถขยายฐานผู้รับชมกว่า 7.5 เท่าเทียบกับการจัดโชว์แบบออฟไลน์ และพบว่าสามารถต่อยอดสร้างรายได้ส่วนเพิ่มให้กับธุรกิจกว่า 45 เปอร์เซ็นต์จากรายได้เดิม


      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่าธุรกิจบันเทิงเสมือนจริงน่าจะมีศักยภาพสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวมไม่ต่ำกว่า 1.7 พันล้านบาท และสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตได้มากกว่า 0.64 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทย
 

      แต่อย่างไร “เสมือนจริง” ก็ไม่ใช่ประสบการณ์ “จริง” เพื่อให้ลูกค้าอินไปกับประสบการณ์ที่ได้รับ ธุรกิจจึงต้องให้บริการโดยคำนึงถึงหลัก 3 ข้อนี้
 


 

1.ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าประสบการณ์ที่ได้คุ้มค่ากับที่จ่ายไป
                 

       CocuSocial โรงเรียนสอนทำอาหารที่เปิดเวิร์คช็อปทำอาหารแบบกลุ่มหรือชิมอาหารในทำเลที่แปลกใหม่ ได้นำเสนอคลาสเวิร์กช็อปเสมือนจริง โดยออกแบบให้เป็นคลาสส่วนตัวที่ต้องมีการโต้ตอบกัน รวมถึงเป็นสูตรอาหารที่ไม่เหมือนกับสูตรทั่วไป พวกเขาเพิ่มความน่าสนใจด้วยการมอบโอกาสพิเศษให้ลูกค้าได้เรียนกับเชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ อย่าง James Beard การเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญนี้ช่วยให้แบรนด์สร้างความแตกต่างได้





               
2.จำเป็นต้องมีการโต้ตอบกัน หากแบรนด์หวังจะประสบความสำเร็จในพื้นที่ดิจิทัล

     

       หลายธุรกิจที่ให้บริการเสมือนจริง บอกว่าพวกเขาตั้งใจสร้างประสบการณ์ออนไลน์ให้นานประมาณ 45 นาที มากที่สุดคือ  1 ชั่วโมง เพราะคนเรามักมีสมาธิต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งในเวลาไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งภายในกรอบเวลาที่ว่า โฮสต์ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผู้เข้าร่วมกำลังตั้งใจดูอยู่หรือไม่ ดังนั้น การพูดคุยเพื่อละลายพฤติกรรม หรือให้ถาม-ตอบแบบสด เป็นกลวิธีที่ทำให้คนมีส่วนร่วม
 



 
3.จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ใช้บริการให้พร้อม
และเตรียมรับมือปัญหาทางเทคนิคที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

   

        การให้บริการเสมือนจริงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีทั้งฝั่งโฮสต์และฝั่งผู้ใช้บริการ บางครั้งอาจเจอปัญหาวีดีโอและเสียงไม่ตรงกันก็เป็นได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะเข้าใจและยอมให้อภัยกับความผิดพลาดทางเทคนิคตราบเท่าที่มีการเอาใจใส่ที่ดีพอ


      ขณะเดียวกันก็ต้องตระเตรียมรายละเอียดเพื่อสร้างประสบการณ์ให้พร้อม เช่น เวิร์กช็อปการชิมไวน์ แบรนด์อาจสนับสนุนให้ผู้ชมซื้อไวน์ผ่านแอปพลิเคชันและจัดส่งทางออนไลน์ เพื่อให้สามารถชิมพร้อมกันระหว่างเวิร์คช็อปได้
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ธุรกิจจัดส่งดอกไม้ 1-800-Flowers ที่จัดเวิร์กช็อปการจัดดอกไม้สด ได้จัดเตรียมดอกไม้จำนวนมากส่งถึงบ้านผู้เข้าเรียนกว่า 3,000 รายก่อนเริ่มเรียน 1-2 วัน กิจกรรมนี้เป็นที่นิยมจนต้องปิดจองกิจกรรมชั่วคราวจนกว่าจะสามารถสำรองดอกไม้ได้เพียงพอต่อการจัดเวิร์คช็อปครั้งต่อไป





      เมื่อเทคโนโลยีกำลังเติบโตไปเป็นเครือข่ายไร้สาย 5G ที่มีความรวดเร็วในการส่งข้อมูลมากกว่าเดิม ประกอบกับเทคโนโลยีแว่นตา VR ที่ใช้ในการรับชมก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ บริการเสมือนจริงถือเป็นหนึ่งตัวเลือกที่มีศักยภาพของธุรกิจยุคใหม่ที่แม้แต่ SME ก็ทำให้บริการ “เสมือนจริง” เป็น “จริง” ได้เหมือนกัน



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: TECH

เจ๋งป่ะล่ะ! AI ผู้ช่วยเชฟคนใหม่ เก็บข้อมูลทำเมนูสุดโปรดเสิร์ฟลูกค้า ช่วยสแกนเศษอาหาร ลดต้นทุน ลดขยะ

ปัจจุบันโลกเรามีการนำ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มาใช้พัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่างๆ ขึ้นมากมาย ตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ ไปจนถึงเรื่องเล็กๆ ล่าสุดใครจะคิดว่า แม้แต่ถังขยะในครัวของโรงแรมและร้านอาหาร ก็มีการนำ AI เข้ามาใชั

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก จากไอเดียที่ไม่อยากให้น้องป่วย เมื่อผู้บริโภคไม่ได้มีแค่คนเท่านั้น

Mewre น้ำดื่มเพื่อสุนัขและแมวเจ้าแรกของโลก อีกหนึ่งสินค้านวัตกรรมที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์ชาว Pet Parent หรือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก เป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

โกเล ไอเดียสแน็กเพื่อสุขภาพจากก้างปลา เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา

“โกเล” (Gole Crispy) ปลาทูแท่งอบกรอบแคลเซียมสูง นวัตกรรมจากก้างปลาทะเล เปลี่ยน Waste ให้เป็นเงินล้าน ของทายาทโรงงานลูกชิ้นปลา เพื่อช่วยวิกฤตธุรกิจครอบครัว