เจาะแนวคิด ระเฑียร ศรีมงคล 10 ปี KTC จากองค์กรคอนเซอร์เวทีฟ ก้าวกระโดดยังไงให้เติบโตยั่งยืนในยุคดิจิทัล

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

 

     ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความเร็ว การยึดหลักทำธุรกิจในรูปแบบเดิมเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป

     KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรธุรกิจที่ยืดหลักการดำเนินธุรกิจแบบคอนเซอร์เวทีฟมาตลอดแบบค่อยก้าวทีละก้าว เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา จึงเป็นตัวจุดประกายให้เกิดการคิดใหม่ ทำใหม่ สร้างโอกาสการเติบโตของธุรกิจในรูปแบบใหม่ ปีนี้จึงตั้งเป้าเติบโตแบบก้าวกระโดด แค่เพียงโปรเจกต์เดียวก็มีมูลค่าสูงกว่าหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่ายอดรวมรายได้ของบริษัทในแต่ละปีในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา

     กลยุทธ์อะไรที่เคทีซีนำมาใช้ปรับตนเองจากองค์กรคอนเซอร์เวทีฟ สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดด ทิศทางต่อไปในการดำเนินธุรกิจจะออกมาในรูปแบบไหน ลองมาฟังแนวคิดจาก ระเฑียร ศรีมงคล ชายผู้ซึ่งเคยพลิกวิกฤตจากธุรกิจที่เคยขาดทุนนี้ให้กลับมีกำไรขึ้นมาได้กัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาก็สามารถทำกำไรนิวไฮได้ถึง 6,251 ล้านบาท สร้างสถิติกำไรสูงสุดต่อเนื่อง

รู้จักตนเอง เชื่อใน Ecosystem

     “ถ้าไม่เจอโควิด-19 เราอาจมีรายได้และทำกำไรได้มากกว่านี้ แล้วเราก็คงไม่ได้คิดอยากโตในรูปแบบนี้”

     ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เกริ่นถึงที่มาของจุดต้นเรื่องให้ฟัง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้แผนการดำเนินธุรกิจของเคทีซีในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

     ซึ่งหากลองวิเคราะห์ดูแล้วการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลของเคทีซีครั้งนี้แตกต่างจากสถาบันการเงินอื่นๆ ที่เคยทำมา เพราะไม่ใช่การทุ่มงบประมาณเพื่อสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมาอย่างเดียว แต่คือ การเลือกสร้าง Ecosystem และเครือข่ายพันธมิตร เพื่อขยายรากฐานธุรกิจออกไปให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ต้องการใช้งานได้มากขึ้น

      “ที่ผ่านมาเราอาจเห็นองค์กรและสถาบันการเงินต่างๆ พยายามมุ่งสู่การทำสตาร์ทอัพ และดิจิทัลทรานฟอร์มเมชั่น  แต่เคทีซีเราเป็นคนในโลกเก่า เรายังยืดหลักการทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งก็ต้องมีกำไร เราไม่คุ้นเคยกับการเอาเงินมาเผาเล่น หรือลงทุนล่วงหน้าไปเยอะๆ ก่อนแล้วค่อยมาเก็บเกี่ยวผลผลิตภายหลัง แต่เราก็รู้ว่ามันเป็นเทรนด์ของโลกอนาคตที่จะต้องเกิดขึ้น เราจึงพยายามหาทางออกเพื่อทำอะไรสักอย่างที่มั่นคงและต้องทำได้ดี ในที่สุดเราก็พบคำตอบว่าเราเชื่อในสิ่งที่เรียกว่า “Ecosystem” เชื่อในความสัมพันธ์ของการอยู่ร่วมกัน

     “ในปีนี้เราจึงตั้งเป้าทำ 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก คือ เราจะสร้างรอยัลตี้แพลตฟอร์มหรือระบบคะแนนสะสมขึ้นมาเพิ่มอีกหนึ่งตัว ซึ่งทุกคนคงรู้จักกับ KTC Forever ดีอยู่แล้วว่าเรามีจุดแข็งด้านนี้ แต่ปีนี้เราจะสร้าง MAAI By KTC ขึ้นมาเพิ่มในไตรมาสแรกนี้ เพื่อเป็นตัวช่วยสนับสนุนพาร์ตเนอร์ของเราให้สามารถทำการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น โดยเป็นแพลตฟอร์มแบบครบวงจรมีโซลูชั่นตั้งแต่ 1. ระบบบริหารจัดการสมาชิก 2. ระบบบริหารจัดการคะแนน และ 3. ระบบบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ในรูปแบบคูปองอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าปีแรกนี้ต้องมีพันธมิตรไม่น้อยกว่า 10 ราย และมีสมาชิกถึง 1 ล้านคนให้ได้

     “ส่วนที่สอง คือ การขยายสินเชื่อมีหลักประกัน “เคทีซี พี่เบิ้ม” ให้สูงขึ้นไปอีก โดยจากเดิมเราตั้งเป้าไว้ว่าในปีนี้จะทำให้ได้ 2,200 ล้านบาท แต่หลังจากไปคุยกับบอร์ดบริหารแล้วมองเห็นโอกาสที่สามารถทำได้มากกว่า จึงปักเป้าใหม่ขยับไปที่ 11,500 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีปีไหนที่เคทีซีตั้งเป้าถึง 1 หมื่นล้านบาทมาก่อน อย่างปีที่ผ่านมาเราตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่ถึง เพราะเราใช้เอาต์ซอร์สข้างนอก ไม่ได้บริหารเอง ประจวบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิดด้วย โดยปีนี้ที่กล้าตั้งเป้าแบบก้าวกระโดดได้ เพราะเราใช้กลยุทธ์เชิงรุกในแต่ละพื้นที่ ผ่านบริการพี่เบิ้ม เดลิเวอรี ให้บริการสินเชื่อถึงหน้าบ้านของลูกค้า รวมไปถึงการผูกไปกับเครือข่ายของธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศกว่า 900 สาขา และกรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง โดยจะแบ่งเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียน 80 เปอร์เซ็นต์ และสินเชื่อเช่าซื้อ 20 เปอร์เซ็นต์

     “ปีนี้จึงเป็นปีที่เราจะเติบโตด้วยการขยายฐานลูกค้าออกไป เราเชื่อว่าอีโค่ซิสเท็มที่ตั้งใจสร้างขึ้นมานี้จะเป็นระบบฐานรากที่ดีให้เศรษฐกิจไทยได้ ซึ่งถ้าพาร์ตเนอร์เราดี สังคม เศรษฐกิจ ประเทศก็จะดีขึ้นได้ การทำธุรกิจจะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ อยู่เฉยๆ แล้วแฮปปี้กับกำไรที่เพิ่มขึ้นทุกปี หรืออาจต้องเสี่ยงบ้างในพื้นฐานที่เราคิดว่าทำได้ และให้ผลดีกว่าไม่ว่าลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์ของเรา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ กล่าวถึงบทสรุปในข้อแรก

 

คิดแบบ Moonshot กล้าคิด กล้าทำ

     โดยนอกจากการรู้จักตัวเองดี และเลือกวิธีการบาลานซ์ตัวเองปรับให้เข้ากับสิ่งใหม่ได้แล้ว มากกว่าที่จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างไปตามกระแส โดยที่ไม่ถนัด อีกสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดเคทีซีภาพลักษณ์ใหม่ในวันนี้ ก็คือ การยอมปรับ Mindset โดยไม่ยึดติดเพียงกรอบเดิมๆ อย่างเดียวอีกต่อไป ซึ่งอย่างที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเคทีซีกล่าวไว้ว่าที่ผ่านมานั้น เขาเลือกที่จะดำเนินธุรกิจในรูปแบบคอนเซอร์เวทีฟ คือ ค่อยๆ ก้าวอย่างมั่นคง แต่ในวันนี้เมื่อมองดูทุกอย่างพร้อม ทั้งทรัพยากรบุคคล และโอกาสที่มีเข้ามา ก็กล้าที่จะกระโดดลงไปในสนามเล่นใหม่อย่างไม่รีรอ

     “10 ปีที่ผ่านมา เราเป็นองค์กรที่คอนเซอร์เวทีฟ คือ ค่อยๆ ก้าวเดินมาตลอด แต่ปีนี้เราจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เราได้เห็นแล้วว่าภายใต้วิกฤตจากโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราสามารถปรับตัวได้ แล้วปรับได้ค่อนข้างดีด้วยในขณะที่หลายคนอาจมีปัญหา แต่เราสามารถทำนิวไฮได้โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา เราสามารถทำได้ถึง 6,251 ล้านบาท เติบโต 17.2 เปอร์เซ็นต์  จึงทำให้เราคิดย้อนได้ว่าจริงๆ แล้วเราควรจะโตได้มากกว่านี้ไหม แล้วมีเหตุผลอะไรถึงจะไม่กล้าทำ ที่ผ่านมาเราโตด้วยความระมัดระวังมาตลอด แต่ตอนนี้เรามีจังหวะแล้ว ทำไมเราไม่คิดแบบ Moonshot ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องก้าวกระโดดบ้างแล้ว เพื่อไปในพื้นที่ใหม่ แล้วค่อยไปสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่”

     ซึ่งแนวคิดแบบ Moonshot ที่ผู้บริหารคนสำคัญของเคทีซีได้นำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจรูปแบบใหม่นั้น เป็นคำที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี แห่งสหรัฐอเมริกา ในยุคที่มีการส่งจรวดไปสำรวจดวงจันทร์ในปี 2512 ซึ่งต่อมานักวางแผนกลยุทธ์หรือนักการตลาดในธุรกิจต่างๆ มักนำมาใช้สื่อความหมายถึงการคิดในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำ หรือไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพราะเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเดิม ด้วยวิธีการเดิมๆ ได้

     และนี่คือ 2 ปัจจัยหลักที่องค์กรทำรายได้ติด 1 ใน 50 บริษัทของไทย เลือกนำมาใช้พัฒนาปรับปรุงตนเองจากองค์กรคอนเซอร์เวทีฟ สู่การคิดแบบ Moonshot หาประโยชน์จากโอกาสที่มีเข้ามา แต่ขณะเดียวกันยังคงรักษาความเป็นตัวตนของตนเองเอาไว้ได้ เหมือนกับที่ผู้บริหารคนสำคัญของเคทีซีได้กล่าวทิ้งท้ายจากวิกฤติโควิด-19 ที่มาเยือน

 “โลกมีไว้เหยียบจะแบกโลกไว้ทำไม ชีวิตนี้ต้องมองโอกาสบ้าง อย่ามองแต่ปัญหาอย่างเดียว”

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 

RECCOMMEND: TECH

“จุลินทรีย์คึกคัก” นวัตกรรมกำจัดสารเคมีตกค้างบนดิน ตัวช่วยเกษตรกรประหยัดทุน ได้ธุรกิจยั่งยืน

จุลินทรีย์คึกคัก ตัวช่วยแก้ปัญหาสารเคมีตกค้าง สร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร ด้วยฝีมือคนไทยจากบริษัท ไบโอม จำกัด บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงตอบโจทย์การทำธุรกิจแบบยั่งยืน

เทคนิคขายของออนไลน์อย่างไร ให้สต็อกไม่จม ออร์เดอร์ไม่หลุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด

รู้จักเทรนด์ Hyper Automation ช่วย SME กำจัดงานซ้ำๆ น่าเบื่อให้หมดจากองค์กร

Automation หรือ "ระบบอัตโนมัติ" ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่อนาคตจะพัฒนาไปสู่ Hyper automation เพื่อช่วยกำจัดความยุ่งยากของการทำงานที่ซ้ำซากน่าเบื่อ และก่อนจะสายเกินไป เพื่อให้ธุรกิจตามทันเทคโนโลยี ลองมาทำความรู้จักกับเทรนด์นี้พร้อมกัน