TEXT: กองบรรณาธิการ
PHOTO: สุนันท์ ล้อสมทรัพย์
Main Idea
- ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วง Double day หรือเทศกาลต่างๆ เป็นโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้ตักตวงออร์เดอร์มากกว่าช่วงเวลาปกติ
- แต่จะทำอย่างไรให้โอกาสเหล่านี้ไม่กลายเป็นวิกฤตสร้างปัญหาทางธุรกิจ เช่น สต็อกจม ส่งของไม่ทัน ทำให้สูญเสียลูกค้าในที่สุด
เมื่อเทคโนโลยีทำให้การซื้อสินค้าทำได้ง่ายๆ เพียงใช้ปลายนิ้วกดโทรศัพท์ การทำธุรกิจยุคนี้จึงไม่ใช่แค่ต้องอาศัยการช่องทางออนไลน์เท่านั้น หากแต่ยังต้องพาตัวเองไปอยู่ในทุกๆ แพลตฟอร์มได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งสร้างโอกาสทางการค้ามากขึ้นเท่านั้น ทว่าท่ามกลางโอกาสที่เกิดขึ้นถ้าบริหารจัดการไม่ดีก็อาจกลายเป็นวิกฤตได้ หากสต็อกไว้น้อยเมื่อลูกค้าสั่งของแต่ไม่มีสินค้า โอกาสลูกค้าจะเปลี่ยนใจไปซื้อร้านอื่นก็เกิดขึ้นได้ทันทีในยุคที่ผู้บริโภคไม่ชอบรอ
ดลฉัตร พุฒกลาง Country Manager, Anchanto ประเทศไทย
เทรนด์ทำธุรกิจเปลี่ยน เงินลอยอยู่ในอากาศ
ตั้งแต่เกิดโควิดเทรนด์การทำธุรกิจเปลี่ยนไป ก่อนหน้านั้นการค้าขายมักเกิดในช่องทางออฟไลน์เป็นหลัก เปรียบเทียบในการใช้จ่ายซื้อสินค้าเงินจำนวน 100 บาท ผู้บริโภคจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพียงแค่ 2 บาทเท่านั้น ในขณะที่เมื่อเกิดโควิดเงินจำนวน 100 บาทลูกค้าซื้อผ่านทางออนไลน์มากกว่า 60 บาท
นอกจากนี้ผู้บริโภคโดยเฉพาะคนไทยชอบเปรียบเทียบราคาสินค้า ชอบค้นหาสินค้าที่ดีที่สุดจากหลายๆ แพลตฟอร์ม อาทิ TikTok, Facebook ฉะนั้นผู้ประกอบการจะไม่ปลอดภัยเลยถ้ายังขายสินค้าเพียงแค่ช่องทางเดียว
“การเพิ่มช่องทางขายสินค้าอาจต้องใช้พนักงานเพิ่มมากขึ้นด้วยซึ่งทำให้มีทั้งค่าใช้จ่าย การเทรนพนักงานใหม่ซึ่งอาจต้องใช้เวลากว่าจะทำงานเป็น และพนักงานนั้นก็อาจลาออกได้ทุกเมื่อ ฉะนั้นแทนที่จะจ้างพนักงานเพิ่ม ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถช่วยทำหน้าที่แทนพนักงานได้ เช่น เทคโนโลยีในการรับออร์เดอร์ที่สามารถรับออร์เดอร์พร้อมๆ กันได้จากหลายแพลตฟอร์มมารวมไว้ในเที่เดียวโดยอาจใช้พนักงานแค่คนเดียว” ดลฉัตร พุฒกลาง Country Manager, Anchanto ประเทศไทย กล่าว
ขายของออนไลน์แบบไหนตอบโจทย์ผู้ซื้อปี 2024
ถึงแม้การค้าขายบนโลกออนไลน์มาแรงขึ้นทุกวันและยังคงไม่มีวี่แววจะลดลง แม้แต่ในปี 2004 ดลฉัตร แสดงความคิดเห็นว่า การขายของบนโซเชียลยังคงมาแรง ดังนั้นสิ่งที่จะตอบโจทย์การขายของบนโลกออนไลน์ได้ต้องตามเทรนด์ให้ทัน หนึ่งในเทรนด์ที่ยังได้รับความนิยมในการขายของบนออนไลน์คือ การไลฟ์สด เนื่องจากลูกค้าสามารถเห็นสินค้าและสามารถสื่อสารกับเจ้าของสินค้าได้แบบเรียลไทม์
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับจากผู้ประกอบการ อาทิ ความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้า
“แต่ปัญหาหลักๆ ที่เคยได้ยินจากผู้ประกอบการออนไลน์คือ การจัดการออร์เดอร์ ยิ่งมีการขายของหลายแพลตฟอร์มทำให้การบริหารจัดการสต็อกค่อนข้างยุ่งยาก จะสต็อกสินค้าอย่างไรให้พอดีกับออร์เดอร์ เพราะการสต็อกสินค้านับเป็นต้นทุนที่เยอะที่สุด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลหรือ double day ที่ผู้ประกอบการต่างทุ่มทำแคมเปญการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย”
ดลฉัตร กล่าวต่อไปว่า สิ่งหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้คือ การเก็บข้อมูลซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในการขายของออนไลน์ เช่น ข้อมูลราคาของคู่แข่ง หรือข้อมูลสินค้าที่มีคนทำมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคนขายของแบบเดียวกันจำนวนมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนทำการตลาด
“ปัญหาบางอย่างก็ไม่สามารถจัดการด้วยตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว อาจต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริม เช่น การรับออร์เดอร์ที่ AI ทำได้รวดเร็วกว่าคนทำให้ออร์เดอร์ไม่หลุด เก็บรวบรวมออร์เดอร์ที่หลากหลายมารวมไว้ในที่เดียวทำให้ง่ายต่อการจัดส่งและทำให้สินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว”
ท้ายสุดดลฉัตรย้ำว่า ปี 2024 การขายของออนไลน์ก็ยังมาแรง ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อมกับการปรับตัวอยู่เสมอ แค่เพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์อาจไม่พอคงต้องมีหลายๆ ช่องทาง และไม่อาจที่จะปฏิเสธเทคโนโลยีเครื่องมือในการช่วยธุรกิจ ไม่มีของเสียโอกาส เสียลูกค้า ไม่เจอเราแล้วก็อาจไปหาเจ้าอื่นไปแล้วก็ไม่กลับมา มีสต็อกก็ต้องเตรียมพื้นที่ เตรียมคนเตรียมการจัดการทั้งหมด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี