จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้สร้าง Bitkub ธุรกิจที่มีมูลค่ากว่าหมื่นล้านใน 4 ปี เริ่มต้นจากคอมฯ เก่าหนึ่งเครื่อง




          นาทีนี้ชายหนุ่มที่ฮอตที่สุดคงต้องยกให้ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้ง Bitkub ธุรกิจที่สนใจเรื่อง Crypto รายแรกของไทย เริ่มต้นต่อสู้ธุรกิจเพียงลำพังจากคอมพิวเตอร์เก่าๆ หนึ่งเครื่อง กับห้องเช่าเล็กที่ประตูน้ำเป็นออฟฟิศแห่งแรก ไม่ต้องบอกว่าธุรกิจเขาประสบความสำเร็จแค่ไหน ผ่านไปแค่ 4 ปีวันนี้ธุรกิจของเขาได้รับความสนใจจาก  SCBX ประกาศเข้าลงทุนใน “บิทคับ ออนไลน์” ด้วยการเข้าซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท
 
 
             เสื่อผื่นหมอนใบอาจเป็นตำนานของเศรษฐีในยุคเก่า


             นี่คือตำนานของมหาเศรษฐีในยุคดิจิทัล ที่เริ่มต้นด้วยคอมพิวเตอร์เก่าเพียงหนี่งเครื่องกับห้องเช่าเล็กๆ แถวประตูน้ำของชายหนุ่มที่ชื่อ จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา



 

ชายหนุ่มผู้มี Steve Jobs, Jeff Bezos เป็นแรงบันดาลใจ



             “ผมมองว่านักธุรกิจคืออาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับประเทศได้ นี่คือสาเหตุที่ผมอยากจะทำธุรกิจของตัวเอง”  จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง
               

              เขาเสริมด้วยว่า ในวัยเด็กนั้นเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่งชอบการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งเริ่มต้นทำงานสายวาณิชธนกิจที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งเป็นอาชีพแรกหลังจากเรียนจบจากสหรัฐอเมริกา แต่ก็ทนต่อสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีข้อจำกัดไม่ได้ จึงตัดสินใจกลับมาประเทศไทย เปิดบริษัทของตัวเอง เพื่อที่จะได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ โดยมุ่งหน้าที่จะทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
               

             “ผมมองว่าสตาร์ทอัพช่วยเปิดโอกาสให้ทำในสิ่งใหม่ๆ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนที่เป็นซีอีโอของบริษัทขนาดเล็กก็เป็นแบบหนึ่ง พอบริษัทใหญ่ขึ้นซีอีโอก็เปลี่ยนบทบาท ทำให้เราต้องปรับสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา”
               

              ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจของจิรายุสก็คือ Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple และ Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon เนื่องจากสองคนนี้ต้องฟันฝ่ากับคำหัวเราะจากคนอื่นในช่วงที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ จนพิสูจน์ตัวเองได้ว่าเป็นคนจำนวนน้อยที่คิดถูกและไม่เพียงแต่สร้างบริษัท แต่เป็นผู้สร้างและปฏิวัติวงการใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง ส่วนต้นแบบของการเป็นนักลงทุน ก็คือ Warren Buffett และ Peter Lynch





ครั้งหนึ่งถึงกับประกาศว่า...จะไม่ทำอีกแล้วในชีวิต

               

             เรียกได้ว่าหลังจากเรียนจบมาได้ไม่ถึงหกเดือน เขาย้ายงานกว่าสามแห่งตั้งแต่ที่เซี่ยงไฮ้มาจนถึงซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา โดยแต่ละแห่งนั้นทำงานเพียงแค่สองถึงสามเดือนเท่านั้น จนกระทั่งจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทแรกของเขาเกิดขึ้นที่ประเทศไทย
               

           “บริษัทแรกของผมชื่อ coin.co.th เป็นบริษัทที่เกี่ยวกับ Crypto Wallet รายแรกของประเทศไทย พนักงานมีผมอยู่คนเดียวเพราะไม่อยากจะขอเงินพ่อแม่ที่ส่งเรียนต่างประเทศมาหลายปีอีก โดยเริ่มจากการขอห้องว่างที่อยู่ชั้นสองของร้านขายเสื้อผ้าของครอบครัวที่ประตูน้ำเป็นออฟฟิศแห่งแรก คอมพิวเตอร์ก็ใช้ของเก่าตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย”
               

             สาเหตุที่สนใจธุรกิจเกี่ยวกับคริปโต เพราะสมัยเรียนที่ประเทศอังกฤษ วิชาที่ชอบเรียนที่สุดคือ ประวัติศาสตร์ทางด้านการเงิน ทำให้ได้รู้ว่าธุรกิจการเงินจะเปลี่ยนแปลงทุกๆ 50 ปี จนกระทั่งได้รู้จักกับ Bitcoin ครั้งแรกที่ประเทศจีน หลังจากที่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจึงมองเห็นว่านี่คือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกการเงินอย่างแน่นอน
               

             และยิ่งได้ไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก ก็ทำให้มีความรู้ในเรื่องของ Bitcoin มากยิ่งขึ้นจากอดีตผู้บริหารของ Paypal ช่วยย้ำความมั่นใจ ประกอบกับสิ่งแวดล้อมของที่นั่นมีแต่คนเป็นผู้ประกอบการ ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะของการเป็น Entrepreneurship แต่กลายเป็นว่าเมื่อเริ่มต้นเปิดบริษัท ก็ประสบปัญหาที่ทำให้เจ้าตัวขอประกาศว่า...จะไม่ทำอีกแล้วในชีวิต
               

              “10 เดือนแรกผมไม่ได้ไปไหนเลย อยากจะเก็บเงินไว้จ้างพนักงาน เพราะทำงานอยู่คนเดียว จนพอที่จะมีเงินทุนไว้จ้างพนักงานได้ก็ไม่มีใครยอมมาทำงานด้วยจนต้องให้ญาติมาช่วยสมัครเป็นพนักงาน ตอนนั้นก็เจอปัญหาว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศว่า Bitcoin เป็นสิ่งลวงโลกก็ถูกคุณแม่ขอร้องให้เลิกทำ แต่ผมยังเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำก็ยังขยายงานต่อจนมีพนักงานจริงๆ อยู่ 5-6 คน เริ่มขยายออฟฟิศ คราวนี้ ปปง. ส่งจดหมายไปที่บ้านให้ไปรายงานตัวว่าทำการฟอกเงินหรือเปล่า เรียกได้ว่าปัญหาและอุปสรรคมีมากมายจนบอกได้เลยว่าจะไม่กลับไปทำแบบนั้นอีกแน่นอน”





แจ้งเกิดอีกครั้งกับ Bitkub

               

            ต่อมาช่วงปี 2017 ตอนนั้น Bitcoin เริ่มได้รับการยอมรับ หลายประเทศเริ่มรับรองให้ถูกกฎหมายและเกิดกระแสฟีเวอร์ขึ้น จนกระทั่งเขาได้ตัดสินใจขายบริษัทให้กับ Gojek กลุ่มทุนจากประเทศอินโดนีเซีย จากนั้นก็ได้ไปประกวดฟินเทคกับทาง ก.ล.ต. ด้วยคอนเซปต์ของตลาดหลักทรัพย์ยุค 2.0 ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ จนตัดสินใจมาเปิดบริษัท Bitkub ซึ่งเป็นศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ไลเซนส์จาก ก.ล.ต.จนถึงปัจจุบัน
               

          จิรายุสตั้งเป้าหมายกับ Bitkub ไว้ว่าจะต้องเป็น “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าธุรกิจ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ บริษัทของประเทศไทยให้ได้ เพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ของไทยเติบโตตาม โดยมีความเชื่อว่าเมื่อนับหนึ่งได้แล้วจะสามารถมีสองและสามตามมาได้
               

           “เราอยากทำให้คนไทยเชื่อว่าเราทำได้และเป็นบริษัทที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ และเมื่อเราเป็นกลุ่มแรกที่มีความเข้มแข็ง บริษัทสตาร์ทอัพรุ่นน้องต่อจากนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนต่อเป็นทอดๆ เหมือนกับที่รุ่นใหญ่อย่าง Apple, Google, Microsoft สร้างตัวเองจนเข้มแข็งและเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพรุ่นเล็กจนเติบโตได้ ผมมองว่าสตาร์ทอัพไทยจะต้องมีภาพแบบนั้นสักวัน”
               

            จิรายุสให้มุมมองต่อคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเองว่าถ้าคุณเป็นกลุ่ม Lucky Sperm หรือพ่อแม่ไม่คาดหวังจะได้รับการเลี้ยงดูจากเรา แนะนำว่าให้เริ่มลงมือทำเลย ไม่จำเป็นต้องไปทำงานอย่างอื่นก่อน เพราะเมื่อเราล้มจะไม่เจ็บตัวมาก
               

            แต่ถ้ายังมีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่แนะนำว่าให้ไปหางานทำในอุตสาหกรรมที่เป็น New Economy จะดีกว่าเพราะหากเราล้มลงไปโอกาสที่จะยืนขึ้นได้มีไม่มาก การได้ทำงานในองค์กรยุคใหม่ก็เพียงพอที่จะทำให้เรารับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้แล้วและต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่โลกกำลังต้องการด้วย
               

            “การทำสตาร์ทอัพไม่ง่ายและสวยงามเหมือนในซีรีส์แน่นอน เราต้องมีความเชื่อมั่นมากกว่าคนอื่น เห็นต่างในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นและกล้าที่จะทำมัน ผมอยากเห็นวงการสตาร์ทอัพของไทยเติบโตเทียบเท่าประเทศอื่นและเมื่อ Ecosystem ของสตาร์ทอัพไทยเข้มแข็งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน” จิรายุสกล่าวทิ้งท้าย
 

            ขอขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก Ted Fund Newsletter




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำไม SME ต้องทำมาตรฐานคาร์บอน ฟังผอ.สำนักงานฯ มาตรฐานแห่งชาติ แนะ รู้ให้ทันเกมธุรกิจยุคโลกเดือด

ในวันที่ผลกระทบจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก รุนแรงและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นพันธกิจร่วมที่ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องกลับมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันกอบกู้โลก

SME เซ็ตธุรกิจยังไงให้โตในยุคโลกเดือด ฟังไกด์ไลน์จากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์

ทุกวันนี้สภาพอากาศน่ากลัวขนาดไหน ต้องบอกว่าถึงขั้นที่ขึ้นเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ว่า ตอนนี้ภาวะโลกร้อนได้สิ้นสุดลงแล้ว และกำลังย่างเข้าสู่ "ภาวะโลกเดือด"

Egg E Egg Egg ร้านอาหารจีน สูตรแต้จิ๋ว ขายวันละ 3 ชั่วโมง เตรียมส่งไม้ต่อรุ่นที่ 3

Egg E Egg Egg คือชื่อของร้านอาหารบรรยากาศที่บ้าน ตั้งชื่อตามเสียงไก่ขัน ขายเมนูง่ายๆ ผ่านกระบวนการปรุงแบบภัตตาคาร ขายแค่บรานซ์ (Branch) วันละ 3 ชั่วโมง