ส่องแนวคิด Let's plant meat ปั้นธุรกิจแพลนต์เบสยอดพุ่ง 300% สวนเศรษฐกิจภาวะของแพง

 

 

     ว่ากันว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องรู้จักพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เหมือนกับ “นิธิฟู้ดส์” ผู้ผลิตเครื่องเทศและเครื่องปรุงรสชั้นนำที่ได้ทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิต “แพลนต์เบส”ภายใต้ชื่อ “Let’s plant meat” นับเป็นการจับเอาเทรนด์รักสุขภาพมาผสมผสานกับหน่วยธุรกิจเดิม ช่วงชิงความได้เปรียบทำให้ปีที่ผ่านบริษัทมียอดโตขึ้น 300%

      สมิต ทวีเลิศนิธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคโปรตีนทางเลือกโดยวัตถุดิบที่ทำจากพืช จนได้ลองหันมาบริโภคมังสวิรัติด้วยตัวเอง และได้พบว่าตัวเลือกอาหารสำหรับคนไทยที่หลีกเลี่ยงการทานเนื้อสัตว์ยังคงมีน้อย ด้วยราคาที่สูง รวมถึงยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความอร่อยและขาดความหลากหลายทางรสชาติ จึงเกิดเป็นแนวคิดที่อยากใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส ประกอบกับได้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารที่มีอยู่มาร่วมกันพัฒนาอาหารทางเลือกอย่างแพลนต์เบสให้มีรสชาติอร่อยตอบโจทย์คนไทย และสามารถผลิตได้เองในราคาถูก อีกทั้ง เล็งเห็นว่าธุรกิจแนวนี้ในตลาดไทยยังมีจำนวนไม่มากและยังมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว โดยข้อมูลจาก Krungthai COMPASS ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย พบว่า มูลค่าตลาดแพลนต์เบสฟู้ดในประเทศไทยอาจสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2567 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

3 เคล็ดลับตัวช่วยปั้นธุรกิจโต

     นิธิฟู้ดส์เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ปี 2541 จากการทำธุรกิจเครื่องเทศอบแห้งและเครื่องเทศเจียว ต่อมาได้ขยายธุรกิจมาเป็นผู้ผลิตเครื่องปรุงรส จนเมื่อปลายปี 2562 เป็นช่วงที่บริษัทได้ริเริ่มธุรกิจแพลนต์เบสในเมืองไทย ภายใต้ชื่อ Let’s plant meat” โดยมี 3 ปัจจัยเป็นตัวขับเคลื่อน ได้แก่

1. อาหารเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่ตัวเลือกแต่เป็นเรื่องจำเป็น

     จริงอยู่ที่โควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใส่ใจกับสิ่งที่บริโภคเข้าไปมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของการลดบริโภคเนื้อสัตว์หรือหันมาเป็นผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

     “สำหรับ Let’s plant meat” เราไม่เพียงแค่เชื่อในเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นและพัฒนาธุรกิจขึ้นมารองรับเท่านั้น แต่เรามีแพสชั่นในการทำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานแพลนต์เบสฟู้ดและเป็นตัวเลือกหลักเพื่อลดผลกระทบจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ทั้งในแง่ของความเสี่ยงจากการเกิดโรคที่น้อยกว่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำปศุสัตว์ อีกทั้งเป็นการเสริมความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม เพื่อการมีสุขภาวะที่ดี”

     ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกจากพืชให้มีความพร้อมสำหรับตลาดไทยเพราะเราต้องการเป็นผู้ที่ไปยืนรออยู่ปลายทางพร้อมกับอาหารทางเลือกที่เป็นทางรอด ในวันที่แพลนต์เบสฟู้ดกลายเป็นอาหารทางเลือกหลักสำหรับการบริโภค

2. ความพร้อมของตัวเอง

    การมีธุรกิจเครื่องปรุงรสถือเป็นต้นทุนที่มีติดตัวและทำหน้าที่เป็นเหมือนธุรกิจพี่เลี้ยง (Business Brotherhood) ให้กับ “Let’s plant meat” ได้ ทั้งในแง่ทรัพยากรทางปัญญาจากทีมวิจัยและพัฒนาอาหารที่มีอยู่โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากธุรกิจเครื่องปรุงรสเพื่อต่อยอดในเรื่องการพัฒนาและคิดค้นรสชาติแพลนต์เบสฟู้ดที่อร่อยและตอบโจทย์คนไทย รวมถึงความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีการผลิต ที่ช่วยให้ไม่ต้องลองผิดลองถูกมากกับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

     “สำหรับผลประกอบการในปี 2564 ถือว่าสามารถเติบโตท่ามกลางช่วงแห่งความท้าทายนี้ได้อย่างน่าพอใจโดยเรามียอดขายที่โตขึ้นถึง 300% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าว่าจะโตต่อไปอีก 1-2 เท่าในปีถัดไปหรือทันทีที่การค้าระหว่างประเทศกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง เนื่องจากเรามีความต้องการจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่รออยู่” 

3. มีพาร์ตเนอร์ที่ดี

     นอกเหนือจากการรู้จักเทรนด์ผู้บริโภค รู้จักความพร้อมของตัวเอง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเดินหน้าธุรกิจใหม่สำหรับ Let’s plant meat” นั่นก็คือ การมองหาความร่วมมือด้านต่าง ๆ กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เสมอ เพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจให้มีความพร้อมในการแข่งขัน

     “เราไม่ได้รอบรู้ในทุกด้าน การมีหน่วยงานเข้ามาให้คำปรึกษาก็เปรียบเสมือนมีผู้ช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจให้กับเรา โดยในปีนี้เราได้ร่วมงานกับดีพร้อม ช่วยให้เราได้พัฒนาธุรกิจในหลายด้าน ทั้งการเชื่อมโยงตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านการจับคู่ธุรกิจ การพัฒนาระบบคุณภาพ ความปลอดภัยของอาหาร และระบบฮาลาล ซึ่งเมื่อแนวโน้มการค้าระหว่างประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ สินค้าของเราก็พร้อมเข้าไปเจาะตลาดกลุ่มประเทศต่าง ๆ ได้ทันที เพราะได้เตรียมความพร้อมด้านระบบความปลอดภัยของอาหารที่สอดคล้องกับข้อกำหนดของกลุ่มประเทศต่าง ๆ  ไว้ล่วงหน้าแล้ว” สมิต กล่าวทิ้งท้าย

 

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย