Tokyo Bike จักรยานปั่นงานเพื่อคนเมือง



 



เรือง กองบรรณาธิการ
ภาพ กฤษฎา ศิลปไชย์


    ยานพาหนะสองล้อของบ้านเราเริ่มเป็นที่นิยมสักพักใหญ่แล้วและท่ามกลางกระแสความนิยมดังกล่าวมีกลุ่มจักรยานน้องใหม่ที่เรียกว่า City Bike หรือจักรยานสำหรับขี่ในเมืองก่อกระแสเล็กๆ เรียกความสนใจจากคนกรุง ด้วยดีไซน์เฉียบและการออกแบบที่เหมาะเจาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง โดยที่มี Tokyo Bike เป็นหนึ่งในร้านจักรยาน City Bike รุ่นบุกเบิกที่ตอบโจทย์นักปั่นกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

    Tokyo Bike เริ่มก่อตัวจากกลุ่มนักปั่นเมืองกรุงที่รักการขี่จักรยานแบบไม่เน้นความเร็ว แต่เน้นสัมผัสบรรยากาศระหว่าทาง กลุ่มผู้ปลุกปั้นร้านจักรยานสไตล์คนเมืองประกอบด้วย 3 หนุ่ม จุฑาธุช เหมะรัต,ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ และ ธนพงศ์ บรรพจิต


 


    “เราอยากทำอะไรที่เราชอบมาตลอดและจักรยานเป็นอย่างหนึ่งที่เราได้ลองขี่ ได้ลองใช้งานดูแล้วชอบเราก็เลยคิดว่าลองมาทำอะไรกับจักรยานดูและได้ข้อสรุปว่า เปิดร้านจักรยานดีกว่า เราก็เลยลองหาจักรยานมาขายและก็ปิ๊งกับแบรนด์จักรยาน TokyoBike”

    จุดเด่นของ Tokyo Bike คือ สไตล์การออกแบบที่เรียบง่ายและเน้นการขี่ที่สบายเหมาะกับถนนในเมืองนอกจากนั้น ในขณะที่แบรนด์อื่นผลิตจักรยานหลากหลายประเภททั้ง Moutain Bike, Road Bike และ City Bike แต่ Tokyo Bike มุ่งมั่นผลิต City Bike เพียงอย่างเดียว จึงมั่นใจได้ว่าเป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจักรยานขี่ในเมือง และจากชื่อแบรนด์Tokyo Bike ก็สะท้อนความเป็นจักรยานในเมืองได้เป็นอย่างดี

    “Tokyo Bike เหมาะกับวิธีการขี่จักรยานของเราที่ชอบขี่รถในเมือง ชอบขี่ไปทำงาน ขี่สันทนาการไปหาของกิน และตัวดีไซน์ของ Tokyo Bike ที่เรียบง่ายเหมาะกับเรา ซึ่งการขี่จักรยานแบบเรียบง่ายนั้นทำให้เราไม่รู้สึกว่าการขี่จักรยานต้องมีการเตรียมตัวเรากลับเชื่อว่าใส่ชุดอะไรก็ขี่จักรยานได้”

 



    การเริ่มตั้งต้นทำธุรกิจจากความรักล้วนๆ ปราศจากความรู้และประสบการณ์ในสายธุรกิจมาก่อน ทำให้ก่อนเปิดร้าน Tokyo Bike ต้องเตรียมตัวอย่างเข้มข้นโดยเริ่มจากการทำรีเซิร์ชข้อมูลตลาดพฤติกรรมของกลุ่มคนที่ขี่จักรยานในเมือง ต้องค้นหาจักรยาน City Bike หลากหลายยี่ห้อเพื่อเปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อย รวมถึงการค้นหาข้อมูลด้านการนำเข้และการคำนวณต้นทุน

    "ตอนแรกที่ติดต่อญี่ปุ่นเริ่มจากเราอยากเอากระดิ่งจักรยานมาตกแต่งให้สวยและขาย เพราะเมืองไทยยังไม่มีกระดิ่งสวยๆ เหมือนต่างประเทศ ตอนเราสืบค้นข้อมูลพบว่า มีจักรยานแบรนด์เดียวที่เหมาะกับกระดิ่งของเราคือ Tokyo Bike เราก็เลยอีเมลติดต่อทางญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นก็ตอบกลับมาว่าเขากำลังสนใจตลาดเมืองไทยอยู่พอดี

    หลังจากนั้นเราก็ทำการบ้านกันจริงจัง 3-4 เดือน จนถึงวันที่ทางญี่ปุ่นมาเมืองไทยเขาบอกเราว่าจะมาคุยกับ 4 รายที่ติดต่อไว้ ในวันที่ไปพรีเซ้นต์ เรามั่นใจว่าเราพร้อมและเราเข้าใจเขาดีและคนใน Tokyo Bike ก็มีคาแร็กเตอร์คล้ายกับเรา สรุปทางญี่ปุ่นก็ติดต่อกลับมาว่า อยากร่วมงานกับเรา"

 


    จากร้านที่ไม่มีชื่อกลายเป็นที่รู้จักและเพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 1 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้ ปัจจุบันร้านTokyo Bike เริ่มทำการตลาดโดยอาศัยความมีชื่อของจักรยาน Tokyo Bike ดึงกลุ่มคนที่ชื่นชอบจักรยานชนิดนี้ แต่หาซื้อไม่ได้หรือต้องสั่งหิ้วในราคาสูงให้กลายเป็นลูกค้ากลุ่มแรก

    “จริงๆ เริ่มแรก Tokyo Bike มีตลาดอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มคนมองหาจักรยาน Tokyo Bike มือสอง และกลุ่มคนที่สั่งหิ้ว ซึ่งมีราคาสูงมาก เพราะไม่มีคนนำเข้าเป็นตัวเป็นตน ก่อนเราจะเข้ามาจักรยาน Tokyo Bike ราคาสูงกว่าราคาปัจจุบันประมาณ 5,000 บาท 

    จากตอนนั้นราคา Tokyo Bike 30,000 บาท เราชอบนะแต่เรายังไม่ซื้อเพราะแพงเกิน เมื่อเรามาเป็นตัวแทนจำหน่าย เราก็อยากให้ราคาสมเหตุสมผล พอเรารู้ว่ามีคนกลุ่มที่ชื่นชอบแบรนด์นี้แอบๆ อยู่ หน้าที่ของเราก็คือกระจายข่าวให้ไปถึงคนกลุ่มนี้”

    เนื่องจาก City Bike เป็นจักรยานน้องใหม่ นักปั่นอาจยังไม่คุ้นเคย ร้าน Tokyo Bike จึงอยากสร้างประสบการณ์การซื้อจักรยานให้แก่ลูกค้า ด้วยการเสนอบริการให้ลองขี่ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมถึงการให้คำปรึกษาแบบตรงไปตรงมา

    “เรามีบริการให้ลูกค้าได้ลองขี่ตามซอยก่อน 15 นาที เพราะเราอยากให้ประสบการณ์การขี่จักรยานแก่ลูกค้าจริงๆ การที่เขาจะเสียเงิน 20,000-30,000 บาทก็อยากให้เขาได้ลองว่า เหมาะกับเขาหรือไม่ บางคนมาที่ร้านบอกว่าอยากได้จักรยานแบบเร็ว เราก็ต้องตอบเขาตรงๆ ว่า จักรยานของเรามันไม่ใช่สไตล์นั้นเราอยากให้เขาได้จักรยานที่อยากขี่จริงๆ”

 




    จากการคลุกคลีกับวงการจักรยาน จุฑาธุชเชื่อว่าตลาดจักรยานโดยรวมยังมีแนวโน้มโตขึ้นได้อีก และกลุ่มจักรยาน City Bike ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น เพราะตอนนี้คนเมืองเริ่มหันมาใช้จักรยานเป็นยานพาหนะทางเลือกแล้ว

    “ตอนนี้เริ่มมีกลุ่มคนใช้จักรยานแทนรถยนต์ โดยขี่จากบ้านไปทำงานและคนกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆในช่วงแรกนักปั่นในเมืองกลัวว่าถนนจะขี่ได้ไหมและรถจะชนไหม เพราะกรุงเทพฯ เองก็ไม่ได้ดีไซน์ทางสำหรับจักรยาน แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นถนนบางสายก็ดีขึ้น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนขับรถกับคนขี่จักรยานเริ่มลงตัว ตอนนี้เรารู้สึกว่ารถยนต์เริ่มเห็นใจจักรยาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้แนวโน้มการใช้จักรยานเป็นไปในทิศทางที่ดี”

    ในอนาคตร้าน Tokyo Bike วางแผนว่าจะผลักดันให้ Tokyo Bike ค่อยๆ เติบโตโดยมีแผนโปรโมตแบรนด์ให้คนรู้จักมากขึ้นและเริ่มขยายตลาดออกต่างจังหวัด อย่างเช่น อุดรธานี เชียงใหม่ หรือ หัวเมืองใหญ่ๆทางภาคใต้ ซึ่งอาจเลือกเปิดรับตัวแทนจำหน่าย หรือเปิดร้านเองตามความเหมาะสม

    “ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ เริ่มรู้แล้วว่า ถ้าจะขี่จักรยานออกกำลังกายจะไปซื้อเสือหมอบ ถ้าจะขี่ไปทำงานก็จะซื้อ City Bike แต่ในต่างจังหวัดยังไม่ใช่ เขายังคิดว่าจักรยานหนึ่งคันก็เหมือนๆ กัน นั่นแสดงให้เห็นว่า ต่างจังหวัดยังมีพื้นที่ให้เราเล่นได้ เพียงแต่เราก็ต้องเลือกทำตลาดตามหัวเมืองใหญ่ที่ภูมิประเทศเหมาะกับจักรยานของเรา”

    ร้าน Tokyo Bike สะท้อนไลฟ์สไตล์การขี่จักรยานแบบคนเมืองอย่างชัดเจน เริ่มจากไลฟ์สไตล์การขี่จักรยานของกลุ่มเจ้าของร้านที่ขี่จักรยานแบบเน้นความง่าย ความไม่เร่งรีบ ความสะดวกสบาย พร้อมดีไซน์ที่สวยงาม และตัวไลฟ์สไตล์การขี่จักรยานคนเมืองได้ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบการปั่นชนิดนี้เข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นในการขยายสาขาของ Tokyo Bike จึงต้องคำนึงถึงจุดนี้ การจะเลือกตัวแทนจำหน่ายต้องแน่ใจว่า ตัวแทนจำหน่ายที่เลือกจะสะท้อนไลฟ์สไตล์ของ Tokyo Bike ได้ เพื่อให้ทุกการเติบโตของร้าน Tokyo Bike ยังจะคงกลิ่นอายสไตล์การขี่แบบคนเมืองไว้ไม่ให้เสื่อมคลาย

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ

SME อยากโตรับเทรนด์ ESG แม่ทัพกรุงศรีเอสเอ็มอี แนะ ลด-เพิ่ม-สร้าง โอกาสพลิกธุรกิจโตยั่งยืน

“ESG” คือตัวย่อของคำว่า Environment (สิ่งแวดล้อม)  Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล) เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ทว่าแม้แต่เอสเอ็มอี ก็สามารถสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน