นิยามใหม่ของเฟอร์นิเจอร์ไม้ สไตล์ 'Niyahm'

 





เรื่อง : ยุวดี ศรีภุมมา
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย


    จากหนุ่มนักการตลาดที่ชื่นชอบงานออกแบบและการดีไซน์เป็นทุนเดิม ได้สั่งสมประสบการณ์ทำงานด้านออกแบบจากการส่งผลงานชิ้นแรกเข้าประกวดในโครงการสร้างนักออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์สู่ตลาดโลก หรือ Talent Thai ปี 2554 ซึ่งจากความชื่นชอบจนบ่มเพาะเป็นความเชี่ยวชาญนั้น ได้กลายเป็นที่มาของ Niyahm (นิยาม) เฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์เก๋ ให้ความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่มองของผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่าง “วงศ์วุฒิ ทรัพย์เหลือหลาย” ที่ได้ลงมือทำร่วมกับพี่ชาย “นิรินธน์ ทรัพย์เหลือหลาย”
 




    เส้นทางในการเกิดขึ้นของ Niyahm บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากวงศ์วุฒิ เริ่มต้นการทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากความชื่นชอบในด้านการออกแบบเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้มีต้นทุนด้านอื่นๆ มารองรับแต่อย่างใด จึงทำให้เขาดูเหมือนว่าจะเสียเปรียบคู่แข่งในตลาดเฟอร์นิเจอร์อยู่หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการผลิต ที่ต้องจ้างโรงงานในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่าคู่แข่งเจ้าอื่นในตลาดที่สามารถผลิตได้เอง หรือในเรื่องการควบคุมคุณภาพเฟอร์นิเจอร์ให้ได้ตรงตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ แม้กระทั่งด้านการขนส่งที่ยังต้องอาศัยบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนทำให้การเริ่มต้นธุรกิจนั้นไม่ง่ายอย่างที่หลายคนคิด 

 


    แต่ด้วยความชื่นชอบและเชี่ยวชาญในเรื่องของการออกแบบ ทำให้วงศ์วุฒิพลิกวิกฤตจากความเสียเปรียบให้กลายเป็นพลังผลักดันจน Niyahm เริ่มเป็นที่รู้จักและติดตลาดเฟอร์นิเจอร์ในที่สุด 

    “เมื่อประมาณปี 2555 Niyahm ได้เริ่มเปิดตัวครั้งแรกที่งานบ้านและสวนแฟร์ ครั้งแรกถือว่าโหดมากเพราะเรายังมีความเสียเปรียบธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เจ้าอื่นในทุกด้าน แต่เสียงตอบรับของลูกค้าก็ถือว่าดีมากสำหรับแบรนด์หน้าใหม่อย่างเรา อีกอย่างมีสื่อให้ความสนใจธุรกิจเราค่อนข้างมาก จึงทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว” 

 



    แม้ในช่วงต้นนั้น Niyahm จะเสียเปรียบคู่แข่งในด้านต้นทุนที่สูงกว่า แต่ก็ยังยืนหยัดต่อสู้ด้วยการเน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยอาศัยความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์เป็นจุดแข็ง ซึ่งจะเห็นได้ว่า Niyahm นั้นเป็นแบรนด์ที่มีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจน ด้วยการนำเสนอตัวตนผ่านความเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้เนื้อแข็งสีอ่อน ให้ความรู้สึกอบอุ่น เรียบง่าย โดยใช้หลัก Simple but not boring ทำให้ลูกค้าสามารถจดจำแบรนด์ของ Niyahm ได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ลูกค้าสามารถนำเฟอร์นิเจอร์ของ Niyahm ไปปรับใช้ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ความชื่นชอบของแต่ละคนได้อย่างลงตัวและมีความโดดเด่นสวยงาม แต่ไม่จำเป็นต้องหวือหวา 


 


    “ความเป็น Niyahm นั้น ชื่อมันมาจากเวลาที่เรามองเฟอร์นิเจอร์หรือของแต่งบ้านชิ้นหนึ่ง เราคิดว่ามันสวยมาก แต่พอเอามาวางในบ้าน กลับไม่สวย เพราะโดดเด่นเกินไป เราเลยมองว่า ความสวย เป็นความชื่นชอบ เป็นมุมมองของแต่ละบุคคล เป็นนิยามที่แต่ละคนจะมองและนำไปปรับให้เข้ากับความเป็นตัวเองที่สุด ดังนั้น เฟอร์นิเจอร์เราจึงเน้นที่ความเรียบง่าย โทนอบอุ่น เหมาะสำหรับบ้านทุกหลัง เข้าได้กับเฟอร์นิเจอร์ทั่วไป ไม่โดดเด่นออกมา ไม่หวือหวา เพราะมันคือ นิยามของแต่ละคน”

 



    ถึงตรงนี้ วงศ์วุฒิเล่าต่อว่า ในช่วงต้นนั้นเขาต้องใช้ความอดทนและพยายามอย่างมากที่จะทำให้ Niyahm สามารถเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ โดยใช้หลักการขายแบบง่ายๆ เลยก็คือ ใช้ความจริงใจและซื่อสัตย์ พร้อมกันนี้ Niyahm ยังใช้หลัก “เพื่อนขายของให้พื่อน” ด้วยการให้คำแนะนำและให้คำปรึกษากับลูกค้าในการเลือกเฟอร์นิเจอร์ การวาง Layout เฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับที่อยู่อาศัย เสมือนว่า ลูกค้า คือเพื่อนคนหนึ่งนั่นเอง ซึ่งการทำเช่นนี้จึงทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและแวะเวียนกันเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย รวมถึงมีการบอกกันปากต่อปาก จนทำให้ชื่อของ Niyahm กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ใครหลายคนนึกถึง 


 



    “สำหรับกลุ่มลูกค้าของ Niyahm นั้น ด้วยความที่เราวางคาแร็กเตอร์เรียบง่ายไว้แบบนี้ตั้งแต่แรก ทำให้ลูกค้าของเรามีทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ วัยทำงาน เพราะมัน Simple และแม้ว่าจะดูเรียบง่าย แต่ก็เต็มไปด้วยฟังก์ชันในการใช้งาน ส่วนใหญ่เราจะเน้นทำออกมาเป็นเซตและจัดวางโชว์เป็นห้อง เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นภาพอย่างชัดเจน” 

    เมื่อถึงจุดที่ธุรกิจของ Niyahm เริ่มนิ่งและอยู่ตัว รวมไปถึงตลาดขยายตัวกว้างขึ้น ทำให้วงศ์วุฒิตัดสินใจที่จะทำการผลิตเอง เพื่อให้ Niyahm นั้นสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าและรองรับความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบัน Niyahm สามารถทำทุกอย่างได้ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงในด้านการขนส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า เพราะที่ผ่านมา Niyahm ต้องพบเจอกับอุปสรรคในด้านการผลิตและการขนส่งที่ยังต้องจ้างบริษัทอื่นๆ จึงทำให้ธุรกิจขยายตัวได้ไม่เต็มที่ แต่ปัจจุบันนี้ Niyahm สามารถควบคุมทุกอย่างได้ จึงเชื่อว่าในอนาคตเฟอร์นิเจอร์ Niyahm จะสามารถเติบโตไปได้อีกไกล 


 



    “ตอนนี้ Niyahm เป็นที่รู้จักมากขึ้น ธุรกิจโตขึ้นเรื่อยๆ ตลาดก็กว้างขึ้น ผมคิดว่าเราน่าจะขยายตัวได้อีกมาก ตอนนี้เราสามารถจับตลาด Wholesale ได้แล้ว และด้วยความที่เราเริ่มผลิตเองได้ ขนส่งเองได้ ทำให้เรามีความได้เปรียบและมีกำลังในการสู้กับคนอื่นมากขึ้น”

    สำหรับในอนาคต Niyahm ยังมีความคิดในการขยายกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้น จากแค่เฟอร์นิเจอร์ไม้เพียงอย่างเดียว อาจจะเพิ่มของตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ไม้ชิ้นเล็กๆ เพราะในการผลิตมักจะมีเศษไม้เหลืออยู่เสมอ จึงทำให้วงศ์วุฒิเกิดไอเดียในการนำเศษไม้เหล่านั้นมาสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษไม้ที่เหลือได้อีกด้วย


 


    เรียกได้ว่า จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ด้วยความชื่นชอบในด้านการออกแบบ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้วงศ์วุฒิย่อท้อแต่อย่างใด ในทางกลับกัน เขากลับนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแรงผลักดันในการสรรค์สร้างเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีสไตล์เป็นของตนเอง โดยไม่วิ่งตามใครจนสูญเสียคาแร็กเตอร์และจุดยืน และสิ่งเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นจุดแข็งของเฟอร์นิเจอร์ไม้สไตล์ Niyahm ที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้ อีกทั้งยังถูกใจกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เพราะไม่ว่าใครก็ต่างมีสไตล์และความชื่นชอบเป็นของตนเอง Niyahm จึงกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้นิยามใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความหลากหลายได้อย่างลงตัว

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.facebook.com/niyahmdesign

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน