ทักทาย จากสินค้าแฟชั่นทอมือ สู่ธุรกิจเพื่อสังคม

Text : กองบรรณาธิการ
Photo : กฤษฎา ศิลปชัย



     เพราะเชื่อว่าคิดแล้วลงมือทำจะเป็นตัวกำหนดเส้นทางสู่ความสำเร็จ กัญจิรา ส่งไพศาล ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเปิดบริษัทของตัวเอง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร เธอใช้ชื่อบริษัทว่า ธิ้งค์อะเดย์ อันหมายถึงคิดไอเดียไปเรื่อยๆ ซึ่งตรงกับเรื่องราวความสำเร็จของเธอที่กว่าจะมาเป็น “ทักทาย” แบรนด์สินค้าแฟชั่นทอมือจากเส้นใยธรรมชาติที่หลายคนพูดถึงในวันนี้ 




    


    ย้อนกลับไปในวันที่เป็นจุดเริ่มต้น กัญจิราคิดแค่ว่าเธออยากหาผ้าใยไผ่ที่ไม่ยับง่ายมาตัดเสื้อผ้าขาย จนไปพบว่าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำลังศึกษาการผลิตเส้นใยไผ่ด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ผ้าไม่ยับง่าย แต่โชคร้ายที่ว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่มีใครหยิบมาทำอย่างจริงจัง ซึ่งกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนออกมาเป็นผ้าซับซ้อนยุ่งยาก ที่สำคัญคือต้องเริ่มต้นใหม่ทุกอย่าง นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เธอต้องลุยเดี่ยวด้วยตัวเอง โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยในกระบวนการสิ่งทอ


     นอกจากต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และลองผิดลองถูกด้วยตัวเองแล้ว กัญจิราบอกว่าความยากอีกอย่างหนึ่งก็คือโรงงานผลิตตลอดกระบวนการล้วนมีขั้นต่ำในการรับผลิต ซึ่งเธอมองว่าเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ หรือคนที่อยากเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ไม่สามารถเริ่มต้นได้ แต่เธอก็โชคดีที่ได้เงินทุนจากหลายหน่วยงานมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเงินทุนต่อเนื่องโดยไม่มีอะไรผูกมัดนอกจากบริษัทต้องได้คืนทุนกลับมาในระยะเวลาที่กำหนด และต้องรายงานผลประกอบการทุกปี 





     

     ทว่า กัญจิราเริ่มต้นธุรกิจ โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องการขาย หรือเรื่องการตลาดเลย คิดแต่เพียงว่าอยากจะผลิตเสื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งช่วงแรกๆ เธอก็ไปหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องการผลิตเส้นใย ปั่นด้าย และทอผ้าออกมาเป็นผืน เมื่อทำสำเร็จและได้ตัดเสื้อผ้าออกมาขาย ผลปรากฏว่าเสื้อผ้าชุดแรกของเธอขายไม่ได้เลย แม้เนื้อผ้าจะดีและมีการตัดเย็บอย่างปราณีตก็ตาม นั่นเพราะ “ทักทาย” คอลเลคชั่นแรกมีราคาแพงลิ่ว เนื่องจากต้นทุนที่สูงตลอดกระบวนการผลิต


    เหตุนี้ผู้บริหารสาวจึงต้องหันกลับใส่ใจกับเรื่องต้นทุน ควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลต่อราคามากนักเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ เธอตัดสินใจลงพื้นที่ไปหาชาวบ้านต่างจังหวัดให้ช่วยทอมือให้ ซึ่งต้นทุนถูกกว่าทอในกรุงเทพฯ มาก หาดีไซน์เนอร์ใหม่ และหาทีมตัดเย็บเอง จนสามารถคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่รับไหว จึงเริ่มคิดถึงเรื่องการขายอย่างจริงจังอีกครั้ง


     กระนั้น ด้วยความที่เข้าใจว่าตลาดในเมืองไทยไม่ตอบรับเสื้อผ้าทอมือจากเส้นใยธรรมชาติ เธอจึงอยากหันไปลองตลาดต่างประเทศบ้าง ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับที่สถาบันสิ่งทอจัดโครงการโมเดิร์นไทยซิลขึ้น กัญจิราตัดสินใจนำเส้นใยทอผ้าเข้าร่วมประกวดในงานด้วย และได้รับคัดเลือกให้ไปแสดงผลงานที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่สำคัญงานนี้ทำให้มีแบรนด์ดังอย่าง หลุยส์วิตตอง มาแสดงความสนใจในผ้าทอมือที่เธอสู้อุตสาห์ปลุกปั้นมาจนสำเร็จ ทำให้แผนการตลาดของทักทายเบนเข็มไปสู่เป้าหมายตลาดต่างประเทศแทน แต่ท้ายที่สุดก็พลาดหวังจากการออกบูธที่ญี่ปุ่นประเทศแรก







    กัญจิราจึงหวนกลับมาลองตลาดไทยอีกครั้ง คราวนี้เธอลงทุนไปเปิดบูธแรกที่เกสรพลาซ่า จัดเวิร์คช้อปดึงคนเข้าบูธ ซึ่งครั้งนี้ผลตอบรับออกมาดี มีคนเข้าบูธเยอะจนเธอมั่นใจว่ายังมีคนไทยที่ชอบเสื้อผ้าแนวนี้เพียงแต่ไม่มีใครหยิบขึ้นมาทำให้มันน่าสนใจ จึงลุยตลาดไทยเต็มตัว แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งตลาดต่างชาติไป


     นับจากจุดเริ่มต้นที่คิดเพียงแค่อยากมีธุรกิจของตัวเอง กระทั่งจับพลัดจับพลูเข้าไปอยู่ในวงการสิ่งทอจวบจนปัจจุบัน กัญจิรามีโอกาสได้คลุกคลีกับชาวบ้าน ที่สอนให้เธอได้รู้ว่ากำไรธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปของเงินเสมอไป ถึงตอนนี้เป้าหมายของเธอเปลี่ยนไปจากเดิมมาก


    ภาพธุรกิจของเธอในวันนี้ไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่โตที่มีพนักงานหลักพันหลักหมื่น หากแต่เป็นธุรกิจเล็กๆ ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้เกี่ยวข้องตลอดกระบวนการผลิต ที่สำคัญผลประกอบการไม่ใช่ผลกำไรที่ทำให้ธุรกิจเติบโต หากแต่เป็นความแข็งแกร่งของกลุ่มวัฒนธรรมสิ่งทอที่จะสืบสานไปสู่ลูกหลานของไทยต่อไป ซึ่งนอกจากการทำธุรกิจส่งเสริมรายได้ที่เป็นธรรมให้กับชาวบ้าน รวมทั้งการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยแล้ว กัญจิรายังแตกแนวคิดอีกหลายอย่างเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ในสังคมไทย 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​