ต้องรู้อะไรบ้าง? ก่อนเริ่มธุรกิจเสื้อยืด

Text : sir nim
 

     ธุรกิจเสื้อยืด เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมที่หลายคนมักนำมาเป็นทางเลือกในการเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยมองว่าสามารถทำได้ไม่ยาก เป็นสินค้าที่ซื้อง่าย ขายคล่อง ไม่ต้องมีเงินลงทุนสูงมากนัก ก็สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ หรือแม้แต่จะใช้เพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มเติมให้กับธุรกิจหลัก อย่าง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โฮลเทล เสื้อยืดจึงนับเป็นอีกช่องที่หลายธุรกิจให้ความสนใจ แต่จะทำเสื้อยืดสักตัวต้องเริ่มต้นมาจากอะไร วันนี้เรามีหลายช่องทางให้เลือกกัน
 




เสื้อเปล่า + งานพิมพ์ องค์ประกอบหลักของธุรกิจ T-shirt


    ก่อนจะเริ่มต้นเลือกว่าจะผลิตวิธีใด ลองมาดูที่องค์ประกอบหลักของธุรกิจนี้ก่อน ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เสื้อเปล่าและงานพิมพ์ภาพและสี หรือการตกแต่งดีไซน์
 

เสื้อเปล่าเอามาจากไหน?


    วิธีการที่จะทำให้ได้เสื้อเปล่ามานั้นมี 2 วิธีการด้วยกัน คือ


     1.ซื้อสำเร็จรูป จากเว็บไซต์ออนไลน์ต่างๆ ที่เป็นโรงงานผลิต มีทั้งขายปลีกและส่ง โรงงานจะผลิตออกมาเป็นเสื้อเปล่าหลายสีให้เลือกตามไซส์มาตรฐาน เราเพียงไปเลือกสีเลือกไซส์ และจำนวนที่ต้องการ ราคาต่อ 1 ตัว หรือไปดูที่โบ้เบ๊ แพทตินัม ประตูน้ำก็ได้ ราคาอยู่ที่ประมาณ S = 50-60 บาท M = 60-70 L = 70-80 XL = 80-100 บาท หากเป็นไซส์พิเศษที่ใหญ่ขึ้นมาอีกราคาจะแพงขึ้นตามเนื้อผ้าที่ใช้


     ข้อดี เหมาะสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่ต้องลงทุนซื้อเยอะ คละไซส์คละสีได้ตามต้องการ สร้างความหลากหลายให้กับงาน
     ข้อเสีย คือ ราคาต่อตัวแพงกว่าผลิตเอง


    2.จ้างผลิต ตัดเย็บเอง โดยการไปซื้อผ้ามาเป็นพับๆ และนำมาจ้างตัดเย็บเอง แหล่งที่นิยมไปเลือกซื้อผ้ายืดกันมาก คือ วัดสน ซอยสุขสวัสดิ์ 35 เขตราษฎร์บูรณะ นอกจากเป็นแหล่งขายผ้ายืด ยังมีบริการรับตัดตามไซส์และเย็บด้วยเลย สำหรับการขายจะขายกันเป็นกิโลกรัมแบบยกพับ 1 พับมีประมาณ 20 กิโลกรัม ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 160 – 190 บาท สำหรับ Cotton No.20 ส่วน Cotton NO.32 จะแพงขึ้นมากว่าเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่ที่สีผ้าสีเข้มจะราคาแพงกว่า โดยผ้า 1 พับจะมีความยาวประมาณ 65-90 หลาแล้วแต่ชนิดของผ้า สามารถตัดเสื้อได้ประมาณ 80 - 120 ตัว ขึ้นอยู่ที่ไซส์ที่ตัดด้วย บางคนก็นิยมคละไซส์ โดยราคาค่าตัดผ้าต่อตัวอยู่ที่ 2-5 บาท เวลาตัดจะใช้โต๊ะตัดใหญ่ๆ วางผ้าทับไปทับมาและใช้เครื่องตัดออกมาทีเดียวในแต่ละส่วน ส่วนค่าเย็บราคาอยู่ที่ 12 – 20 บาท


    นอกจากผ้าแบบหน้าเดียว ยังมีผ้าทออีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาใช้ผลิตเสื้อยืด เรียกว่า ผ้าแบบถุงกลม หรือ Body Size เป็นผ้าที่ทอออกมาเป็นตัวติดกันทั้งด้านหน้าด้านหลัง ไม่มีรอยต่อของตะเข็บผ้า ไม่ระคายเคืองต่อผู้สวมใส สามารถตัดเสื้อได้จำนวนมากขึ้นต่อกิโลกรัม มีผ้าเศษเหลือน้อย สะดวก รวดเร็ว เพราะลดขั้นตอนการเย็บไปหนึ่งขั้นตอน แต่ข้อเสีย คือ ใน 1 พับจะตัดได้ 1 ไซส์เท่านั้น เพราะผ้าจะถูกทอมาให้พอดีกับขนาดของแต่ละไซส์


    ข้อดี ราคาต่อหน่วยถูกกว่าซื้อสำเร็จรูป สามารถออกแบบในรูปแบบที่ต้องการได้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับแบรนด์
     ข้อเสีย ต้องผลิตจำนวนมาก และลงทุนสูงกว่า ค่าผ้า ค่าตัดเย็บ หากอยากคละสีก็ต้องลงทุนต่อพับใหม่ เสียเวลาเยอะกว่า เพราะต้องติดต่องานในหลายส่วน
 

เพิ่มลวดลายด้วยงานพิมพ์


     งานพิมพ์ แบ่งออกเป็น  2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ การพิมพ์โดยใช้บล็อกสกรีน และการพิมพ์โดยใช้เครื่อง


    1.การพิมพ์โดยใช้บล็อกสกรีน หรือเรียกว่า Silk Screen เป็นอีกวิธีที่นิยมทำกันมาก โดยเฉพาะเหล่าบรรดานักศึกษา หรือพ่อค้าแม่ค้าที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ซิลค์สกรีน คือ วิธีการปาดหมึกพิมพ์ ผ่านตะแกรงไหมที่ถูกนำมาขึงเป็นบล็อค โดยหมึกจะซึมผ่านรูของตะแกรงไหมที่ออกแบบมาเป็นรูปต่างๆ ลงไปบนเนื้อผ้า
วิธีการนี้มีค่าใช้จ่ายหลักด้วยกัน 2 ส่วน คือ ค่าบล็อกและค่าสกรีน การทำบล็อกขึ้นมาสำหรับเสื้อ 1 ลาย จะนับตามจำนวนสีที่ใช้ เช่น เสื้อลายนี้ประกอบด้วยสี 3 สี ก็ต้องทำบล็อกขึ้นมา 3 สี ราคาขึ้นอยู่กับขนาดความใหญ่ของลาย เริ่มต้นที่ A4 = 200 บาท A3 = 350 บาท แหล่งทำบล็อกราคาถูกจะอยู่ย่านสนามกีฬาแห่งชาติ ย่านมาบุญครอง ในส่วนของค่าสกรีน ซึ่งคิดตามสีและตำแหน่งของลายด้วยเช่นกัน เช่น หากลายมี 3 สี ต้องสกรีน 3 ครั้ง ราคาก็จะเพิ่มขึ้นตามเนื้องานไปด้วย โดยเริ่มต้นสีแรกที่ 10 – 20 บาท สีต่อไป 5 - 10 บาท หากมีการสกรีนจำนวนมาก บางร้านอาจไม่คิดค่าบล็อก


     สำหรับสีที่ถูกนำมาใช้ในงานสกรีนมีหลายประเภทด้วยกัน แต่ที่นิยมใช้กันมากมี 3 ชนิด ได้แก่ สีจม สียาง และสีลอย สีจมเหมาะสำหรับใช้กับผ้าสีอ่อนๆ เท่านั้น เนื่องจากสีจะซึมลงไปในเนื้อผ้า เรียกว่าจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน หากเป็นเสื้อสีเข้มจึงอาจทำให้สีเพี้ยนหรือมองเห็นลายไม่ชัดเจน สามารถระบายความร้อนได้ดี ส่วนสียางซึ่งนิยมใช้กันมาก เพราะสามารถพิมพ์ได้ทั้งผ้าสีอ่อนและสีเข้ม มีความยืดหยุ่นสูงและให้สีสดมีความเงางามในตัว ระบายความร้อนได้ไม่เท่าสีจม และสุดท้ายสีลอย ลักษณะคล้ายสียาง แต่สีที่ได้จะออกมาด้าน สามารถพิมพ์ได้ทั้งผ้าสีอ่อนและสีเข้ม แต่ไม่เหมาะพิมพ์กับเสื้อกีฬาหรือเสื้อที่มีความมันของเส้นด้าย หาซื้อได้แถวสนามกีฬาแห่งชาติเช่นกัน


    ข้อดี มีความคงทน ราคาไม่แพง ถึงแม้ต้องลงทุนในหลายส่วน ลงทุนทำบล็อกครั้งเดียว ก็สามารถทำซ้ำได้เรื่อยๆ รวมถึงในบล็อกๆ เดียว ยังสามารถปรับเปลี่ยนสีได้ตามใจชอบด้วย จึงเหมาะกับงานที่คิดจะทำในระยะยาว
     ข้อเสีย ต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายส่วนไม่สามารถพิมพ์งานที่ละเอียดมากๆ มีหลายโทนสีได้
 

    2.การพิมพ์โดยใช้เครื่อง แบ่งออกเป็น 2 ระบบ ได้แก่ ระบบดีทีจีและระบบฮีททรานเฟอร์


     - DTG (Direct to Garment) หรือการพิมพ์แบบดิจิตอล เหมาะสำหรับรูปภาพที่ต้องการสีสัน ความละเอียดสูง วิธีนี้จะเป็นการพิมพ์สีลงไปบนตัวเสื้อเลย ผ้าที่ใช้ คือ ผ้า Cotton 100 เท่านั้น โดยราคาจะคิดตามขนาดของภาพตั้งแต่ 4 x 4 นิ้ว 1 ตัว = 90 บาท A4 = 140 บาท จนถึง A3 = 160 บาท


     - Heat Transfer หรืองานรีดร้อน ลักษณะคล้ายงานสกรีนดิจิตอล แต่ต่างกันตรงที่ขั้นตอนการสกรีนเสื้อและเนื้อผ้าที่ใช้ โดยเป็นการพิมพ์งานลงบนกระดาษ จากนั้นจึงนำไปรีดด้วยความร้อนเพื่อพิมพ์ลายลงไปบนเนื้อผ้าอีกที เนื้อผ้าที่ใช้จะมีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์ ไม่สามารถทำลงบนเนื้อผ้า Cotton เปล่าๆ ได้ และเหมาะพิมพ์ลงบนผ้าสีอ่อนมากกว่า


     ข้อดี สามารถพิมพ์ได้ละเอียด หลายเฉดสี ไม่ต้องทำจำนวนเยอะ ตัวเดียวก็สามารถผลิตได้แล้ว เหมาะสำหรับการรับจ้างผลิตเสื้อตามวาระโอกาสต่างๆ อาทิ เสื้อวันเกิด เสื้อคู่รัก รวมถึงการทดลองตลาดในช่วงแรกๆ
     ข้อเสีย ราคาต่อหน่วยสูง สีไม่ทนทานเท่าการพิมพ์แบบซิลล์สกรีน



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน