เอิร์ธบอร์น เปิดแนวคิดสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนลดต้นทุน

 

 
 
ความสำเร็จจากการมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่น้ำมันมะพร้าว โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกต่างๆ ซึ่งไม่เพียงเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรอย่างมะพร้าวไทย แต่ยังนำส่วนที่เหลือจากกระบวนการผลิตมาเพิ่มคุณค่าในเชิงธุรกิจ 
 
“จากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิต เราจึงต้องพยายามทำให้มีของเสียจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด เพราะที่ผ่านมาในการผลิตน้ำมันมะพร้าว จะมีวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตจำนวนหนึ่ง แต่แทนที่จะขายในรูปแบบของเสีย เราเอามาแปรรูปให้เป็นสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าการไปลดเงินเดือนพนักงาน หรือการกดราคาวัตถุดิบจากเกษตรกรเสียอีก การทำธุรกิจสมัยใหม่จึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่ใช่ไปลดต้นทุน เพราะการลดต้นทุนด้วยวิธีการแบบนั้น สุดท้ายก็จะกระทบมาถึงเราที่เป็นผู้ผลิต”
 
พิสิษฐ์ วีระไวทยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอิร์ธบอร์น จำกัด กล่าวถึงที่มาของแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยในการเริ่มต้นธุรกิจของพิสิษฐ์นั้น เขาเริ่มจากการผลิตน้ำมันมะพร้าวธรรมชาติบริสุทธิ์ ซึ่งพิสิษฐ์มองเห็นโอกาสในการทำตลาดสินค้าประเภทนี้ โดยอาศัยช่องว่างจากการเป็นผู้บุกเบิกตลาดรายแรก ถึงแม้จะมีเงินทุนไม่มาก แต่จุดแข็งของเขาคือการมีแหล่งวัตถุดิบและพื้นที่ตั้งโรงงานเป็นของตัวเอง
 
“ในการผลิตสินค้าอะไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะมองแค่การตลาด แต่เราก็ต้องคำนึงถึงเรื่องการผลิตด้วย เพราะถึงแม้จะทำการตลาดดี แต่ถ้าหากไม่มีวัตถุดิบให้ผลิตสินค้า เราก็ขายไม่ได้ พืชผลทางการเกษตรอย่างอื่นอาจจะมีเป็นฤดูกาล แต่มะพร้าวนั้นให้ผลผลิตเกือบตลอดทั้งปี และมีพื้นที่เพาะปลูกในเมืองไทยจำนวนมาก นั่นหมายความว่า เราสามารถมีวัตถุดิบรองรับในการผลิตหากตลาดของเราขยายในอนาคต”
 
ด้วยการวางแผนงานธุรกิจที่ดี ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะพร้าวของเอิร์ธบอร์นมียอดส่งออกเป็นอันดับต้นๆ และจากประสบการณ์การทำตลาดในต่างประเทศนี่เอง ทำให้พิสิษฐ์เห็นว่าผู้บริโภคต้องการทางเลือกใหม่ๆ อย่างสินค้าประเภท Non-Dairy Product หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของนมเพิ่มขึ้น จึงออกผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มจากมะพร้าว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มจากหางกะทิ ซึ่งเป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตน้ำมันมะพร้าวธรรมชาติของบริษัท เพื่อลดภาระในการกำจัดของเสียที่เป็นต้นทุนในการผลิต
 
“ตอนแรกเราตั้งเป้าหมายการเป็น Zero-Waste Manufacture ที่ผลิตแล้วออกมาไม่มีของเสีย ซึ่งเราสามารถทำได้แล้ว เป้าหมายต่อไปของเราคือ ทำการตลาดสินค้าอย่างเต็มที่เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักและเข้าใจสินค้ามากขึ้น ในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างอื่น เราจะต่อยอดจากอาหารเพื่อสุขภาพ ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้านความงามเพิ่มขึ้น”
 
นอกจากนี้ พิสิษฐ์ยังวางแผนทำตลาดโดยการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าเป็นของตัวเอง โดยเน้นเจาะตลาดกลุ่มผู้รักและใส่ใจในการดูแลสุขภาพ และเน้นการสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น โดยการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดีที่สุด แม้จะพัฒนาช้าและใช้เวลานาน แต่พิสิษฐ์เชื่อว่าสุดท้ายผู้บริโภคจะมองเห็นความตั้งใจอย่างแน่นอน
 
เคล็ดลับความสำเร็จของเอิร์ธบอร์น จึงไม่ใช่แค่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า แต่รวมถึงการพัฒนาคุณภาพให้ดีที่สุดด้วย
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน