การเริ่มต้นธุรกิจจากความคิดและความชื่นชอบของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าทั้งชีวิตต้องจมอยู่กับธุรกิจไปเลย ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีซักเท่าไหร่ เพราะวันหนึ่งเมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว เราต้องมองหาวิธีให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องมี “เรา” คอยกำกับและสั่งการ อาจจะเพื่อแตกไลน์ธุรกิจ หยุดพักเพื่อใช้ชีวิตในบั้นปลายจากผลกำไรของธุรกิจอย่างมีความสุข หรืออีกหลายๆ เหตุผล

การจะทำแบบนั้นได้ต้องอาศัยการวางแผนอย่างดีมาตั้งแต่ต้น และพยายามตระหนักว่าเราเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ไม่สามารถแบ่งงานไปทำได้ในทุกหน้าที่ การสร้างโครงสร้างขององค์กรและธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของธุรกิจอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ 3 สิ่งสำคัญที่ถือเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจก็คือ
1. Visionary ผู้กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต
2. Executor ผู้ดูแลตรวจสอบว่าการจัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าแล้วหรือยัง รวมถึงบริการก่อนและหลังการขายด้วย
3. Controller ผู้ดูแลสวัสดิการ รวมถึงควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับพนักงาน
ทั้ง 3 สิ่งนี้ มีความสัมพันธ์กัน และต้องคอยทำงานช่วยเหลือประสานกัน หากทำไม่ได้ย่อมทำให้ธุรกิจอยู่ในความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเรามีวิสัยทัศน์ที่ต้องการเสิร์ฟความสุข และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า แต่ฝ่าย Controller ไม่เข้มงวดกับพนักงาน ไม่สร้างแรงจูงใจอย่างเช่นการช่วยเหลือเรื่องการขึ้นเงินเดือน ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กร คนเก่งๆ ลาออก และเหลืออยู่เพียงแค่คนที่พอทำงานได้ แต่บริการได้ไม่ถึงขั้นที่ตั้งวิสัยทัศน์เอาไว้ หากยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน เราจะแยกตัวอย่างออกเป็นทีละข้อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ผู้กำหนดวิสัยทัศน์ (Visionary)
การเป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ นับได้ว่าเป็นตัวเลือกที่หัวเรือใหญ่ควรทำหน้าที่นี้มากที่ดี เพราะเราจะได้เป็นผู้คิดค้นแนวคิดและแนวทางใหม่ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจขับเคลื่อนไปได้โดยไม่เป็นรองคู่แข่ง นอกจากนั้นยังต้องคอยกำหนดกลยุทธ์ในด้านต่างๆ สร้างทีมที่เก่งๆ ขึ้นมาทำงานให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหน้าที่นี้จัดได้ว่าเป็นเสาหลักของธุรกิจ และต้องมีความรับผิดชอบมากที่สุด เพื่อการเจริญเติบโตของธุรกิจและเพื่อให้สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดได้
ผู้ดูแลตรวจสอบ (Executor)
เรื่องนี้เป็นบทบาทที่ต้องคอยดูแลเรื่องการส่งมอบของให้ตรงเวลา ภายใต้งบประมาณที่จำกัดและมีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ต้องมีความรับผิดชอบเรื่องการบรรลุความพึงพอใจให้กับลูกค้าทั้งก่อนและหลังการขายนั่นเอง
ผู้ควบคุมประสิทธิภาพการทำงาน (Controller)
การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับพนักงานเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ มีความสุข ส่งผลให้การปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ รักองค์กร สุดท้ายจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง และทำให้เรามีผลกำไรมากขึ้นด้วย
หากเราสามารถหาผู้ที่จะมาดูแลและรับช่วงต่อใน 3 หัวใจสำคัญเหล่านี้ได้อย่างสนิทใจ ธุรกิจก็สามารถเดินหน้าและสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี