​กรมพัฒน์ฯ เตรียมส่งมาตรการ 3e กระจายรายได้สู่ SME-ชุมชน

 
 
     กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดแผนยุทธศาสตร์อี-คอมเมิร์ซสร้างธุรกิจไทย สอดรับแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เน้นการพัฒนา 3 ด้าน - พัฒนาคน - กระตุ้นการใช้อี-คอมเมิร์ซ - อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ พร้อมเตรียมเปิดโครงการอี-คอมเมิร์ซบิ๊กแบง ใช้ 3e : e-Marketplace, e-Logistic, e-Portal เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระจายรายได้สู่เอสเอ็มอีและชุมชน คาดปี 2564 มูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทย แตะ 5 ล้านล้านบาท
 

     นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ให้ความสำคัญกับอี-คอมเมิร์ซ โดยมอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซ เร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 และรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน
 

      ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างธุรกิจไทย” (e-Commerce for Thai SMEs) ขึ้นให้สอดรับกับแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (2560 - 2564) โดยได้กำหนดเป้าหมายที่จะเป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาสู่ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ” เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เอสเอ็มอีและชุมชนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามแผนยุทธศาสตร์ฯ กรมฯ จะเน้นการพัฒนาสู่ความสำเร็จแบ่งเป็น 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการพัฒนาคน (Human) ได้แก่ การจัดอบรมให้ความรู้การพัฒนาเข้าสู่ช่องทางและสร้างกลยุทธ์สู่ความสำเร็จอี-คอมเมิร์ซ
 

     2) ด้านการกระตุ้นการใช้อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce Booster) การจัดกิจกรรมกระตุ้นการซื้อขายผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ด้วยการจัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเข้าสู่การค้าออนไลน์ กิจกรรมเผยแพร่ร้านค้าออนไลน์ที่ ได้รับเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือจากกรมฯ และ 3) ด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ (Ecosystem) เน้นการส่งเสริมพัฒนาด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นองค์ประกอบหลักที่จะส่งผลต่อการขยายตัว และการเติบโตในภาพรวมของการประกอบธุรกิจ
 

     อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมเปิดโครงการอี-คอมเมิร์ซบิ๊กแบง (e-Commerce Big Bang) โดยใช้มาตรการ 3e พัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ได้แก่  e-Marketplace : ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมสินค้าของเอสเอ็มอีและชุมชนเข้าสู่ร้านค้าออนไลน์และเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีศักยภาพทางการตลาด และขยายร้านค้าชุมชนสู่การเป็นศูนย์กลางสั่งซื้อสินค้าต่างๆ ในตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกความต้องการบริโภคของชุมชน
 

     e-Logistic การขนส่ง-กระจายสินค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เทคโนโลยีสร้างศูนย์รวมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งและกระจายสินค้าในท้องถิ่น เช่น รถบรรทุกขนาดเล็กรับจ้าง รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถโดยสารประจำทางท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับร้านค้าชุมชนให้เป็นศูนย์กระจายสินค้า รับฝากการขนส่งสินค้าให้แก่เอสเอ็มอีและชุมชน ส่งผลต่อการสร้างการเติบโตของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในท้องถิ่น ประหยัดต้นทุนและเวลาการขนส่งอย่างเหมาะสม และ e-Portal ศูนย์อำนวยความสะดวกการประกอบธุรกิจครบวงจร / ศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งเมื่อสภาพแวดล้อม (Ecosystem) มีความเหมาะสมในการประกอบธุรกิจย่อมส่งผลต่อการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่เอสเอ็มอีและชุมชนอย่างทั่วถึง
 

     “เบื้องต้น กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เอสเอ็มอี ภายใต้เครื่องหมาย DBD Registered และ DBD Verified จำนวนกว่า 30,000 เว็บไซต์ อีกทั้ง ได้ต่อยอดการพัฒนาการค้าออนไลน์ให้เข้าสู่มาตรฐานและสามารถขยายตลาดระดับประเทศ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 54,000 ล้านบาทต่อปี และยังดำเนินการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก โดยการพัฒนาร้านค้าชุมชนให้เป็นร้านค้าชุมชนไฮบริด จำนวน 2,000 ร้านค้า คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 3,600 ล้านบาทต่อปี รวมเป้าหมายการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 57,600 ล้านบาทต่อปี”
 

     ทั้งนี้ ในปี 2559 ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย มีมูลค่ารวม 2.5 ล้านล้านบาท โดยคาดว่ามูลค่าอี-คอมเมิร์ซไทย จะมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 100 ในปี 2564 หรือมีมูลค่ารวมประมาณ 5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวแบบขั้นบันไดที่สูง และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซจะเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองตลอดทศวรรษนี้ 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน