แต้คุนฮะ เปลี่ยนข้าวสารให้กลายเป็นของขวัญอวยพร

Text : ไศลธร เหมะสิขัณฑกะ
Photo : กฤษฎา ศิลปไชย

 

 
     จะเก๋ไก๋สักแค่ไหนถ้าวันนี้สินค้าพื้นๆ อย่างข้าวสาร ที่คนไทยคุ้นเคยกันมาทั้งชีวิต จะกลายร่างมาเป็นของขวัญแทนใจสุดพิเศษ เปลี่ยนจากสินค้าที่คนซื้อเพราะความจำเป็น มาเป็นของขวัญที่คนซื้อด้วยความรู้สึก "แต้คุนฮะ" ไอเดียธุรกิจของคนรุ่นใหม่หัวใจสร้างสรรค์ "พยูณ วรชนะนันท์" นักออกแบบสาว ทายาทรุ่น 3 ร้านข้าวสารแต้คุนฮะ ซึ่งเปิดให้บริการมานานถึง 64 ปี เธอไม่ต้องการให้กิจการของครอบครัวต้องมาล้มหายตายจากไปในรุ่นของทายาท จึงก่อเกิดไอเดียปฏิวัติข้าวสารที่คนซื้อเพื่อไปหุงรับประทานมาเป็นข้าวสารที่ซื้อเพื่อเป็นของขวัญแทนใจ

 
      “เดิมแต้คุนฮะ เป็นร้านขายข้าวสารที่เปิดมาตั้งแต่รุ่นอากง ราวๆ พ.ศ.2497 แต่เมื่อปลายปี 2559 รุ่นของพ่อกับแม่จะเกษียณ พวกเราสามพี่น้องที่เป็นรุ่นถัดมาก็รู้สึกเสียดายความรู้เรื่องข้าว เสียดายข้าวอร่อยๆ ที่พ่อกับแม่อุตส่าห์หาเจอ ด้วยความที่พวกเราโตมากับข้าวจึงไม่เคยสังเกตว่าตัวเองกินข้าวดีๆ มาตลอด เราเลยได้ข้อสรุปว่าอยากจะเอากิจการนี้มาสานต่อในแบบที่พวกเราเองถนัด โดยจะเน้นให้เป็นของขวัญมากกว่าการซื้อไปใช้เอง”


     

     ทายาทสาวบอกเล่าถึงที่มาของการปฏิวัติข้าวสารจากเดิมที่เป็นสินค้าซื้อเพราะความจำเป็นมาเป็นของชำร่วยเก๋ไก๋ ก่อนจะเล่าต่อถึงคอนเซปต์การออกแบบแพ็กเกจของข้าวสารแต้คุนฮะโฉมใหม่ให้ดูเป็นของขวัญว่า สินค้าจะต้องจบงานได้ด้วยตัวมันเองในฐานะที่เป็นของขวัญ โดยไม่ต้องห่อหุ้ม และไม่ต้องเขียนการ์ดแนบอะไร รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกเทศกาลด้วย

 
     “ในการออกแบบ ทางร้านคิดถึงคนซื้อก่อนเลย เพราะการให้ของขวัญ คือการส่งต่อความปรารถนาดีจากคนหนึ่งไปถึงอีกคน และเป็นเหมือนหน้าตาของคนให้ด้วย ฉะนั้นแทนที่จะแปะยี่ห้อร้านใหญ่ๆ เราเปลี่ยนเป็นแพ็กเกจประณีตๆ ที่มีคำอวยพรใหญ่ๆ แทนอย่าง ขอให้แข็งแรง หรือ ขอให้รุ่งเรือง ส่วนตัวถุงก็ขมวดผูกเป็นโบด้านบน ฉะนั้นสินค้าจะจบงานในตัวมันเองในฐานะของขวัญหนึ่งชิ้นได้เลย โดยคนซื้อไม่ต้องเขียนการ์ดและไม่ต้องห่อของขวัญเองอีกทีให้วุ่นวาย และเนื่องจากเรามีทีมออกแบบของตัวเอง เราจึงสามารถเปลี่ยนคำอวยพรและดีไซน์ให้เหมาะสมกับแต่ละเทศกาลได้ด้วย อย่างช่วงตรุษจีนก็จะมีแพ็กเกจพิเศษ ขอให้เฮง ออกมา นอกจากนี้ น้ำหนักของข้าวก็ยังเป็นสิ่งที่ทางร้านให้ความสำคัญ เพราะเราคิดว่า พอลูกค้าเอาไปมอบให้เป็นของขวัญแล้ว มันจะต้องไม่หนักจนกลายเป็นภาระให้กับผู้ที่ได้รับ เลยเป็นที่มาของข้าว ขอให้สุขกาย และ ขอให้สบายใจ ที่ทำถุงเล็กกำลังดี ไม่น้อยเกินไป และไม่หนักจนเป็นภาระ”




 
     นอกจากนี้ กระแสตอบรับจากลูกค้าในช่วงที่เริ่มแปลงโฉมธุรกิจใหม่ก็นับว่าออกมาดีเกินคาด จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งเป้าว่าอยากปฏิรูปแพ็กเกจจิ้งข้าวแบบเดิมๆ ออกมาใหม่ และขอให้ได้คิดได้ทำอะไรใหม่ๆ ออกมา โดยไม่คาดหวังต่อผลตอบรับ แต่กลายเป็นลูกค้าตอบรับอย่างล้นหลามจนตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อในเส้นทางนี้

 
     “เราทำธุรกิจกันเล็กๆ มีครอบครัวเป็นที่ตั้ง พวกเราตกลงใจกันเอาไว้ว่า ไอเดียหลักก็คือเราจะลองปฏิวัติแพ็กเกจข้าวแบบเดิมๆ ดู โดยจะไม่ศึกษาแบบในท้องตลาดเลยว่าอันไหนขายดี แต่จะเริ่มมันขึ้นมาใหม่เองจากศูนย์ ฉะนั้นเราไม่คาดหวังกับผลตอบรับเลย คิดว่าได้ทำอะไรใหม่ๆ ออกมาก็ดีใจแล้ว แต่ปรากฏว่าผลตอบรับดีกว่าที่คิดไว้มาก เลยทำให้มีกำลังใจว่าเรามาถูกทางแล้ว มีแรงที่จะไปเดินหน้าพัฒนาต่อ ที่เซอร์ไพรส์ก็คือ มีลูกค้ามาซื้อไปเป็นของรับไหว้งานแต่งเยอะมาก ไม่ได้คาดคิดไว้มาก่อน ทำให้เราต้องไปค้นคว้าหาข้อมูลด้านนี้เพิ่ม บางทีก็จะถามรายละเอียดจากลูกค้าตรงๆ เลย เพื่อเก็บเป็นข้อมูลเพื่อพัฒนาต่อ ซึ่งโชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ก็จะใจดีและให้คำแนะนำที่ดีเสมอๆ”พยูณ กล่าวทิ้งท้าย

 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร