Uncleree farm จากดีไซเนอร์สู่ผู้สร้างอาณาจักรไส้เดือน

 






     ชีวิตคนเมืองกับไส้เดือน สองสิ่งที่ดูห่างไกลและไม่เข้ากันสักเท่าไหร่ แต่มีดีไซเนอร์คนหนึ่งที่เบนเข็มชีวิตตัวเองมาเรียนรู้วิถีเกษตรกรและเปิดเป็นฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนในเมืองชื่อ Uncleree Farm เริ่มต้นจากพื้นที่เล็กๆ ย่านเพชรเกษมกับผู้ชายที่มีชื่อว่า ชารีย์ บุญญวินิจ หรือที่ใครหลายคนติดปากเรียกเขาว่า ลุงรีย์ จุดเริ่มต้นของผู้ชายคนนี้มาจากการที่เขาได้มีโอกาสไปฝึกงานเป็นเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งและพบว่าปริมาณขยะที่เกิดขึ้นต่อวันเยอะมาก ความคิดของเขาคือ จะทำอย่างไรได้บ้างกับขยะเหล่านี้?
               

      “ก่อนหน้านี้ผมเป็นนักออกแบบ มีความคิดว่าอยากทำงานอยู่บ้าน เบื่อรถติด ผมเองเป็นคนชอบออกแบบ ชอบทำอาหาร ชอบปลูกต้นไม้และวันหนึ่งเราก็มีโอกาสได้ไปฝึกงานครัว เห็นว่ามีขยะเกิดขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เราเลยเริ่มคิดว่าจะจัดการขยะพวกนี้ยังไงดี เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูลเทคนิคทางการเกษตรที่จะเปลี่ยนเศษผัก ผลไม้ให้กลายเป็นปุ๋ย ก็ลองทำเลย เริ่มจากพื้นที่ในบ้านเนี้ยแหละ”
      

         

     จากแค่พื้นเล็กที่เล็กๆ ในบ้าน ก็ได้กลายเป็นฟาร์มไส้เดือนที่เน้นการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ย ลดขยะเหลือทิ้ง ช่วยลดต้นทุนแถมยังได้ปุ๋ยคุณภาพดีเอาไว้ใช้งาน โดยลุงรีย์ได้ใช้กลยุทธ์ที่ตนเองถนัดนั่นคือการออกแบบและการสื่อสารเพื่อทำให้คนทั่วไปรู้ว่าวิถีเกษตรกรรมไม่ได้ยากอย่างที่คิด จนทำให้มีคนเริ่มสนใจเข้ามาเรียนรู้ที่ฟาร์มเป็นจำนวนมาก
               

     “ผมก็ลองทำปุ๋ย ปลูกผักและสื่อสารออกไปให้คนเห็นว่าแค่พื้นที่นิดเดียวก็สามารถทำได้บวกกับผมทำงานด้านการออกแบบ ทำให้ผมสื่อสารออกไปได้ดีกว่า หลังจากนั้นผมก็เริ่มเปิดอบรมให้คนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ประมาณปีที่ 2 ผมเริ่มทำ Case Study ว่าคนที่เคยเข้ามาอบรมสามารถนำไปใช้ต่อยอดทำเป็นธุรกิจ เปิดฟาร์มของตัวเองได้จริงๆ จนตอนนี้เรามีลูกศิษย์ 53 รุ่น เราสอนให้ทุกคนเลี้ยงไส้เดือนกันจนเป็นหมดเพราะการเลี้ยงไส้เดือนไม่ใช่อาชีพ มันคือทักษะ หลังจากที่อบรมเสร็จก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ที่ฟาร์มได้เสมอ เรียนได้ตลอด เราเองก็มีการเคลื่อนไหวตัวเองอยู่เสมอ พยายามหาสิ่งใหม่ๆ มาให้คนได้เรียนรู้”
               

     นอกจากการเลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ย ปลูกผัก ที่ฟาร์มลุงรีย์ยังเต็มไปด้วยสกิลการทำเกษตรอีกมากมายที่เกี่ยวกับไส้เดือนแบบครบวงจร เนื่องจากไส้เดือนแต่ละสายพันธุ์มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่างกัน เช่น ไส้เดือนแอฟริกันนำไปทำปุ๋ย ทำน้ำหมัก ไส้เดือนลายเสือนำไปเลี้ยงกุ้งกล้ามแดง ไส้เดือนบลูเวิร์มใช้ทำน้ำหมัก น้ำเมือกนำไปปลูกผลไม้ ทำให้มีรสชาติดีขึ้น เช่น เมล่อน สตรอเบอร์รี่
               


     

     “ไส้เดือนมีหลายชนิด มีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละสายพันธุ์นำไปจับคู่กับธุรกิจได้ เราเลยทำตลาด เพาะธุ์สายพันธุ์ไส้เดือน ผมขายไส้เดือนแอฟริกาได้กิโลกรัมละ 1,000 บาท ไส้เดือนลายเสือได้ 3,000 บาท ไส้เดือนบลูเวิร์มได้ 6,000 บาท ไม่เคยเปลี่ยนราคา มีแต่จะหาวิธีให้เหมาะสมว่าไส้เดือนแต่ละสายพันธุ์นำไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เราเป็นฟาร์มไส้เดือนครบวงจร เราเปิดอบรม ให้คนเข้ามาเวิร์คช็อป ขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไส้เดือน ขายไส้เดือน ทั้งในและนอกสถานที่ เรามีออกอีเว้นท์ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตที่เกิดจากไส้เดือน แปลงผัก กุ้งกล้ามแดง เมล่อน เห็ดหิลามัย เราก็ใช้ไส้เดือนเป็นตัวขับเคลื่อน สื่อสารถึงความเป็นออแกร์นิค ก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน มีความยั่งยืน”
      
         
     ความยั่งยืนของฟาร์มแห่งนี้สะท้อนผ่านโมเดลการทำธุรกิจของลุงรีย์ที่ยึดหลักความพอเพียง ลดต้นทุน อีกทั้งยังไม่เน้นการขยายขนาดของฟาร์มแต่เอาเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อลดการใช้ทรัพยากร นอกจากนี้ยังมีการสร้าง Community เพื่อคนที่สนใจด้านการเกษตรมารวมตัวกัน
               

     “สิ่งที่บ่งบอกว่าฟาร์มของผมเติบโตไม่ใช่ขนาดฟาร์มที่เพิ่มขึ้นแต่เป็นการที่ฟาร์มผมมีทุกอย่างในพื้นที่เดิม ผมดูแลฟาร์มน้อยลง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในฟาร์ม ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป พิสูจน์ให้คนเมืองเห็นว่าเขาเองก็สามารถเริ่มมีฟาร์มของตัวเองได้ด้วยพื้นที่ไม่ใหญ่ เราเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่มีพันธมิตรที่ดี สายพานเรายาว เป็นพื้นที่รวมตัวของคนที่สนใจด้านการเกษตร คนที่สนใจมาดูฟาร์มลุงรีย์เพราะเราเล็ก เข้าถึงง่าย ไม่ใหญ่เกินตัว ยิ่งเล็กยิ่งดี”
               

     โดยลุงรีย์ได้ปิดท้ายสำหรับคนที่อยากจะลองเลี้ยงไส้เดือนก็สามารถเริ่มต้นเลี้ยงได้ทั้ง 3 สายพันธุ์ มีการจัดเซ็ทแบบ Kit ทั้ง 3 สายพันธุ์ให้ลองเลี้ยง นอกจากนี้ยังเปิดอบรมทุกเดือน เดือนละหนึ่งครั้งสามารถติดตามได้ที่ Page


     Uncleree farm ส่วนใครที่อยากจะเยี่ยมชมฟาร์ม ลุงรีย์ก็เปิดให้เยี่ยมชมฟรีได้ในวันอาทิตย์อีกด้วย 





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน