​“น้องท่าพระจันทร์” เสือดำผู้อยู่รอดในป่าดิจิทัล






 
     เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ธุรกิจมากมายล้มหายไปตามกาลเวลา นั่นเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มเปลี่ยนมาเป็นกล้องดิจิตอล คนอ่านหนังสือน้อยลงจนร้านหนังสือทยอยปิดตัวไป รวมไปถึงร้านขายเทปและแผ่นซีดีที่แต่ก่อนเคยรุ่งเรือง แต่ ณ เวลานี้เหลือร้านที่ยังคงอยู่แค่ไม่กี่ร้านเท่านั้น

 
     เพราะการเข้ามาของดิจิทัล ทำให้คนยุคใหม่ฟังเพลงผ่านโลกออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าร้านขายแผ่นอีกต่อไป แค่เสิร์ชว่าอยากฟังเพลงอะไร ก็มีเพลงขึ้นมาให้เลือกเป็นร้อยเป็นพันเพลง แต่ถามว่าคุณสามารถจำได้ไหมว่าเพลงที่ฟังมาจากอัลบั้มไหน มีเรื่องราวยังไง หลายคนคงตอบไม่ได้ อีกทั้งยังมีศิลปินจำนวนมากที่ถูกลืมไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับมีศิลปินเกิดใหม่ทุกวัน
 

     ความสะดวกและรวดเร็วของดิจิทัลมาพร้อมความน่ากลัวในวงการเพลง และพลอยสร้างผลกระทบโดยตรงให้ร้านขายเทปและซีดีจนหลายร้านไปไม่รอด ในวันนี้เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบกับร้านขายเทประดับตำนาน ที่อยู่คู่กับเด็กท่าพระจันทร์มายาวนานกว่า 38 ปี น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ”ร้านน้องท่าพระจันทร์” ณ วันนี้พวกเขาอยู่กันอย่างไร ในวันที่ดิจิทัล คือเรื่องใหญ่ของธุรกิจเพลงไทย 
 


 

   “นก - อนุชา นาคน้อย” หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านน้องฯ ตั้งแต่เขายังอยู่แค่มัธยมต้นเท่านั้น
เขาได้ก่อตั้งร้านขายเทปในตอนนั้นร่วมกับพี่อีก 2 คน พี่น้องและพี่หน่อย เพียงเพราะต้องการอยากมีเพลงดีๆ ฟังทุกวัน ด้วย Passion ด้านการฟังเพลงที่สืบทอดมาจากคุณพ่อ ทำให้พวกเขาเริ่มต้นคล้ายเป็นงานอดิเรก เลือกเพลงที่ชอบเข้าร้าน เริ่มต้นด้วยม้วนเทปแค่ร้อยกว่าม้วนเท่านั้น
 

     นก: “ยุคแรกของร้านน้องฯ ตอนนั้นเราเด็กมากๆ ก็ทำกับพี่อีก 2 คน เริ่มด้วยการทำง่ายๆ ยกเครื่องเสียงของพ่อมา ทุกวันจะต้องไปหาซื้อเทปเข้าร้าน หิ้วขึ้นรถเมล์ คิดแค่ว่าทำเป็นงานอดิเรก ถ้าไม่รอดก็มีเพลงฟัง พอทำไปทำมาแล้วมันสนุก ตอนนั้นทุกคนก็เรียกเราว่าน้องๆ หมดเลย ทุกคนรอบๆ ตอนนั้นก็เป็นพี่เราหมด เลยคิดว่าใช้ชื่อร้านน้องนี่แหละ พอเรียนจบเราก็เข้ามาดูร้านแบบเต็มตัว”        
 

     ในยุคที่การฟังเพลงจากเทปเฟื่องฟู ร้านน้องฯ เป็นแหล่งรวมตัวของคนที่รักเสียงเพลง มีลูกค้าแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสายจนกลายเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนรสนิยมการดูหนังฟังเพลงไปโดยปริยาย ทำให้ลูกค้าที่เข้ามามีความผูกพันกับร้านน้องไม่ว่าจะผ่านไปนานกี่ปีก็ตาม
 

     นก: “ลูกค้ายุคนั้นจะเป็นทั้งคนที่ทำงานกระทรวงกลาโหม เด็กศิลปากร เด็กช่างศิลป์ เด็กศิริราชและเด็กธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักเราเลย กลุ่มเป้าหมายเราเยอะมาก ยิ่งเมื่อก่อนสนามหลวงเป็นที่คนมาพักผ่อนเสาร์-อาทิตย์ จะเป็นวันที่พีคมากๆ เพราะมีรถไฟฟ้าจากใต้มาลงที่บางกอกน้อย เราจะเจอลูกค้าจากทางใต้จนเป็นเพื่อนกัน ด้วยความที่ลูกค้าแต่ละรายไม่ใช่ซื้อแล้วเดินออกไป แต่จะมีเรื่องคุยกัน แลกเปลี่ยนรสนิยมการดูหนัง ฟังเพลงกัน เรื่องนี้สนุกนะ ลองดูสิ เพลงนี้เพราะนะ มันจะเป็นอะไรแบบนั้น”
 



     อีกหนึ่งช่วงเวลาที่ทำให้ร้านน้องเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นคือ ช่วงรายการ HotWave ที่จะมีการจัดอันดับเพลงขายดีจากร้านน้องฯ ทำให้ร้านน้องกลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการเพลง พร้อมทั้งเริ่มมีศิลปินมาเปิดตัวอัลบั้มและแจกลายเซ็นที่ร้านน้องฯ
 

     นก: “ช่วงที่ร้านน้องฯ พีคมากๆ คือตอนมีคลื่น HotWave ที่จะมีการจัดอันดับการขายเพลงทุกวันพฤหัสฯ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ตอนนั้นก็มีร้านขายเทปเกิดขึ้นเยอะมาก ในละแวกนี้เองมี 3-4 ร้านด้วยกัน ธุรกิจนี้มันบูมมากๆ ซึ่งสมัยนั้นพวกเทปมันจะมีการเสียบ้าง เราเลยจะมีตรายางประทับที่หน้าปกว่าซื้อมาจากร้านเรา ถ้ามีปัญหาก็มาเคลมได้ ทำให้ใครๆ ก็มาซื้อเทปที่ร้านน้อง”
 

     จนเมื่อเวลาเดินทางมาถึงยุคที่ดิจิทัลเริ่มคืบคลาน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือพฤติกรรมการฟังเพลงของคนเปลี่ยนไป คนเริ่มเข้าร้านขายเทปและซีดีน้อยลงและหันไปฟังบนดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าจะจาก YouTube หรือแม้แต่ Application ที่แพร่หลายอย่าง Spotify หรือ Joox 
 

     นก: “ความจริงดิจิทัลก็มีข้อดีอยู่ในแง่ของการประชาสัมพันธ์ อย่างร้านน้องฯ เองก็ใช้ Facebook เป็นสื่อ ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ใช้ติดต่อกับลูกค้าเก่าๆ ได้เห็นความเคลื่อนไหวกันอยู่ตลอดเวลา แต่ข้อเสียก็มีมากเช่นกัน เพราะข้อมูลบน
ดิจิทัลมันเยอะเกินไป บางคนเป็นประเภทฟังเพลงเพื่อไม่ให้หูเงียบ มีอะไรมาก็ฟังไป เขาก็หันไปฟังบน YouTube, Joox, Spotify ทำให้คนส่วนหนึ่งเลิกซื้อสะสม”
 




     นอกจากนี้การเข้ามาของดิจิทัลยังส่งผลให้ค่ายเพลงใหญ่ลดจำนวนของการผลิตแผ่นซีดีลด เนื่องจากในแง่ของธุรกิจค่ายเพลงอาจมองว่า
แผ่นซีดี Physical แบบจับต้องได้นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะคนฟังบนดิจิทัล ทำให้ร้านน้องฯ เองก็ต้องปรับตัวตาม ด้วยการนำเข้าแผ่นซีดีจากต่างประเทศ เพื่อยังคงทำให้ร้านสามารถดำรงอยู่ได้ในวันที่ดิจิทัลเข้ามาแบบเต็มตัว
 

     นก: “ล่าสุดค่ายเพลงใหญ่ๆ ก็ประกาศว่าจะไม่ผลิตแผ่น Physical ในไทยเลย แต่ยังมีวงอินดี้ เด็กรุ่นใหม่ที่ยังคงทำแผ่นออกมาอยู่บ้าง ทำให้เราต้องสั่งสินค้าพวกแผ่นนำเข้ามากขึ้น เพราะถ้าเราอาศัยแค่แผ่นเพลงไทยอย่างเดียว คงต้องปิดร้านไปนานแล้ว ปกติเองเราก็มีลูกค้าที่ฟังเพลงฝรั่งอยู่แล้ว เราเลยเพิ่มสัดส่วนในตลาดนี้ขึ้นมา แต่พอเรานำเข้าเองแบบนี้ ลูกค้าก็ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อแผ่นซีดีเพิ่มขึ้นด้วย จากแต่เดิมซื้ออยู่ที่ 300 กว่าบาท พอเรานำเข้าเองราคาก็พุ่งไปประมาณ 700 – 800 บาท ตรงนี้เองเลยทำให้คนคิดว่าเพิ่มเงินอีกหน่อย ก็ซื้อแผ่นเสียง Vinyl ไปเลย แถมยังได้ดิจิตอลดาวน์โหลดอีกด้วย”
 


     

     ด้วยความที่แผ่นเสียง Vinyl ในยุคนี้ ราคาจับต้องได้และยังมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงรูปแบบใหม่ที่มีความทันสมัย หน้าตาวินเทจสวยงามผลิตออกมาให้เลือกในราคาที่ไม่แพง ทำให้ตลาด Vinyl
เติบโตและที่สำคัญฐานคนฟังเพลงจากแผ่นในยุคนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก เหลือเฉพาะแค่คนฟังเพลงตัวจริงเท่านั้น  
 

     นก: “พอดิจิทัลเข้ามา ก็แยกกลุ่มคนฟังเพลงได้ชัดเจนเลย ถ้าคนฟังเพลงแบบฉาบฉวยก็อาจจะเปลี่ยนไปฟังดิจิทัล  ฟังเพลงฟรีๆ ส่วนกลุ่มคนที่ยังฟังเพลงจริงๆ ต้องการเก็บรายละเอียดของเพลงก็ยังคงซื้อแผ่นอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นนักดนตรี  ศิลปิน เป็นกลุ่มหลักเลยเพราะต้องฟังเพลงเป็นฐานข้อมูลในการทำเพลง และยังกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเรา และอย่างที่บอกตอนนี้ตลาดการฟังเพลง Vinyl โตขึ้น เพราะ แผ่น Vinyl มีคุณภาพ บางแผ่นอายุ 50 ปีก็ยังดีอยู่แถมพวกเครื่องเล่นแผ่นเสียงราคาเริ่มถูกลง บางทีมีออฟชันเชื่อมต่อ Bluetooth มี Speakerphone รองรับคนรุ่นใหม่ กลายเป็นตลาดแผ่นเสียงขยับขึ้น”
 


 

   บางทีความเร็วของดิจิทัลก็เป็นสิ่งที่ทำร้ายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการความฉาบฉวยแต่ต้องการความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เพียงแต่ร้านขายแผ่นเสียงเท่านั้น ร้านอาหารก็เช่นกันที่เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็สั่งผ่าน Application
ลดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนลง
 

     นก: “อย่างร้านอาหาร เดี๋ยวนี้สั่ง Line Man จากที่เคยไปกินที่ร้าน เปลี่ยนไปยังไงบ้าง เราก็ไม่เห็นเลย ทำสะอาดไหม คนทำเปลี่ยนไปไหม ถึงหน้าตาอาหารจะออกมาสวยก็เถอะ สุดท้ายแล้วการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนมันคือเสน่ห์มากที่สุดของธุรกิจบริการ สิ่งสำคัญที่ทำให้ร้านน้องฯ ยังอยู่ทุกวันนี้ คือ เวลาลูกค้ามาที่เรา เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการ”
 

     ในปัจจุบันร้านน้องฯ ก็ยังคงเป็นร้านที่มอบความสุขให้แก่คนรักเสียงเพลงเหมือน 38 ปีที่ผ่านมาและยังเปิดโอกาสให้ศิลปินอินดี้หน้าใหม่โชว์ความสามารถผ่าน Live Session ที่ช่างชุ่ย อีกหนึ่งสาขาของร้านน้องฯ หากใครที่รักการฟังเพลงและอยากจะสะสมแผ่นเสียงดีๆ มีคุณภาพพร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนพูดคุยรสนิยมในการฟังเพลง การไปที่ร้านน้องฯ น่าจะทำให้คุณได้แผ่นเพลงที่ต้องการอีกทั้งยังได้ความสุขจากคนคอเดียวกันอีกด้วย  
 


    
      
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

     

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ