​งานแฮนด์เมด บริหารจัดการเป็น ธุรกิจก็โตได้!







     งานคราฟต์ งานแฮนด์เมด คือ หนึ่งในกลุ่มสินค้าที่มักได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี พิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียดการทำ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับการทำงานแฮนด์เมด คือ ทำได้ช้า กว่าจะได้ออกมาแต่ละชิ้นค่อนข้างต้องใช้เวลานาน หลายคนยังติดว่าต้องลงมือทำเองทุกอย่าง เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพ การจะขยายเติบโตจึงอาจทำได้ยากกว่า แต่ความจริงแล้วหากมีการวางระบบงานที่ดี มีผู้ช่วยที่ดี แบ่งเวลาการทำงานให้ชัดเจน ก็สามารถทำได้เช่นกันเหมือนที่ หลิน - พัชรา อารยวัฒนเวช เจ้าของแบรนด์กระเป๋า little home in the wood คุณแม่ลูกหนึ่งที่บาลานซ์หน้าที่ของการดูแลลูกน้อย ไปพร้อมกับการทำงานที่ตัวเองรัก เพื่อสร้างให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมา
                 

     “กิจวัตรประจำวันในแต่ละวัน ปกติจะตื่นหกโมงครึ่งทุกวัน ทำกับข้าวให้ลูกและสามี พอ 8 โมงลูกไปโรงเรียนเราก็ทำงานบ้าน จน 9 โมงถึงจะได้เริ่มทำงานของตัวเองไปจนถึงบ่าย 3 โมงก็หยุด เพราะหลังจากลูกกลับมาเราจะให้เวลากับเขาเต็มที่ ยกเว้นงานด่วนจริงๆ ก็จะทำต่อหลังจากลูกหลับไปแล้วประมาณ 4 ทุ่ม แต่ก็จะไม่หักโหมมาก เหนื่อยก็หยุด เพราะงานที่ต้องใช้ความคิดถ้าเหนื่อยมากๆ และยังฝืนทำอยู่ งานจะออกมาไม่ดี วิธีการทำงาน คือ จะแบ่งตารางออกเป็นสัปดาห์เลยว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง โดยใน 1 สัปดาห์จะทำงาน 5 วัน คือ จันทร์-ศุกร์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์จะให้เวลากับลูกทั้งหมด โดยจะแบ่งเป็นวันๆ ไป และทำให้เสร็จเป็นอย่างๆ เช่น ย้อมผ้า 3 วัน จันทร์-พุธ อีก 2 วันที่เหลือพฤหัส – ศุกร์ เย็บผ้าหรือตัดหนัง วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้เราจัดระเบียบตัวเองได้ง่ายขึ้น


     แต่ก่อนทำงานคนเดียว ก็ทำได้ช้า แต่ตอนนี้เราได้ช่างมาช่วยเพิ่มอีก 2 คน ช่วยเย็บผ้าและเย็บหนัง เป็นช่างที่อยู่แถวละแวกบ้าน อย่างหนังจะให้คุณยายที่อยู่ตรงข้ามบ้านช่วยเย็บให้ โดยเราจะตัดหนัง เจาะรู ทำไซส์ให้พร้อมเลย และส่งให้คุณยายช่วยเย็บ เสร็จแล้วก็นำกลับมาประกอบ ส่วนงานผ้าก็ส่งให้พี่อีกคนช่วยเย็บให้ ซึ่งส่วนใหญ่งานของเราจะเป็นผ้าลินินย้อมสีธรรมชาติ ผ้าจะค่อนข้างยับง่าย เราจะใช้วิธีตัดผ้าเองและรีดให้เรียบก่อนส่งให้เขาเย็บ เพื่อให้สะดวกกับช่าง และยังเป็นการเช็คด้วยว่าตัดออกมาได้ตรงกับแพทเทิร์นที่วางไว้หรือเปล่า บางแบบที่เป็นงาน patchwork มีการจัดวางองค์ประกอบ ก็เอาสก๊อตเทปใสแปะวางตำแหน่งให้เขาเลย เพื่อให้งานออกมาได้ตรงกับที่เราต้องการ คือ อันไหนที่สามารถช่วยเตรียมให้ได้ เราก็ทำเอง งานจะได้เสร็จเร็วขึ้น เพราะงานเขาเองก็ค่อนข้างงานเยอะอยู่แล้วไม่ได้มีเราแค่เจ้าเดียว ในพื้นที่ที่อยู่ช่างค่อนข้างหาได้ยาก ถ้าส่งไปทำที่กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด โอกาสที่จะเช็คงานได้ทันทีว่ามีข้อผิดพลาดอะไรหรือเปล่า สามารถทำได้ยากกว่า เราจึงเลือกที่จะยอมเหนื่อยหน่อย แต่ได้คุมงานเอง ได้เห็นงานของเราเอง เวลามีปัญหาอะไร ก็แก้ไขได้ตรงนั้นได้เลยก่อนที่จะถึงมือลูกค้า”





     โดยการจะเปลี่ยนจากความชอบหรืองานอดิเรกให้กลายเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาได้นั้น หลินให้คำแนะนำไว้ 5 ข้อดังนี้
               

1.ตั้งเป้าหมายกับตัวเองให้ชัดเจน


     เริ่มแรกลองตั้งเป้าหมายกับตัวเองให้ชัดเจนก่อน เราอยากทำอะไร ทำแค่ไหน และทำไปทำไม เพื่อกำหนดทิศทางของงานได้ถูก ถ้าอยากเติบโตเร็วๆ มีงานออกมาวางขายเยอะๆ ก็ต้องหาคนมาช่วย วางรูปแบบงานที่ไม่ได้ยากจนเกินไป ลดทอนรายละเอียดงานลงมา เพื่อให้ง่ายต่อช่าง ลดโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด แต่ถ้าอยากขายงานละเอียด ไม่เน้นปริมาณ ก็ต้องลองคิดคำนวณดีๆ ทั้งต้นทุนวัตถุดิบ แรงงาน เวลา ความคุ้มค่าที่จะได้รับ
           

2.จัดระเบียบชีวิตให้ลงตัว



     แบ่งเวลาให้ชัดเจน หารูปแบบการทำงานที่เหมาะสมกับตัวเอง สร้างระบบขึ้นมาว่าวันนี้จะทำอะไร เวลานี้จะทำอะไร เพราะหากเราไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า ถึงเวลาอาจจับต้นชนปลายไม่ถูก ออเดอร์ก็อยากได้ แต่ทำงานไม่ทัน แต่ถ้าเราจัดระเบียบว่าวันนี้จะทำอะไร พออันนี้เสร็จ ก็ต่ออันนั้นนะ ถึงเราจะมีปริมาณคนทำน้อย แต่มันก็สามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างของเรามีช่างแค่สองคน แต่เราเป็นแบรนด์เล็กๆ ไม่ได้ขายทุกตลาด โดยเฉลี่ยเราจะออกงานเดือนละครั้ง ก่อนออกงานก็ทำเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้าประมาณหนึ่งเดือน และขายในออนไลน์บ้าง เป็นรูปแบบที่พอดีสำหรับเราแล้ว ได้ดูแลลูก ดูแลครอบครัว ได้ทำงานที่ชอบ และมีรายได้เพิ่มขึ้นให้กับครอบครัวด้วย





3.ทำอย่างสม่ำเสมอ



     การที่ต้องทำงานกับตัวเองอยู่กับบ้าน ไม่ได้ทำงานประจำมีระเบียบของบริษัทมาบังคับ เราต้องมีความสม่ำเสมอ ไม่ทำๆ หยุดๆ ต้องทำจนเห็นผลไม่ว่าดีหรือไม่ดี ต้องมีความอดทน บางคนลองเริ่มต้นลงมือทำ แต่ช่วงแรกอาจขายได้ไม่ดี ก็เกิดความท้อ จนเลิกทำไป แต่ถ้าเราต้องการที่จะทำให้มันเป็นอาชีพ ก็ต้องพยายามทำต่อไป ต้องมีความมุ่งมั่น ไม่ทิ้งไปง่ายๆ เพราะถ้าไม่ตั้งใจกับมันจริงๆ มันก็เป็นแค่งานอดิเรก แต่ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอมันอาจกลายเป็นอาชีพขึ้นมาได้
           

4.รู้กำลังตัวเอง

               

     ไม่ทำอะไรที่เกินความพอดีของตัวเอง เราต้องรู้ขีดความสามารถของตัวเองที่มีก่อนว่า เราสามารถทำอะไรได้แค่ไหนในข้อจำกัดที่มีอยู่ ต้องประเมินกำลังของตัวเองให้ดี ที่สำคัญอย่าละทิ้งเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการไว้ด้วย เพราะจากงานที่เคยทำแล้วมีความสุข อาจเปลี่ยนเป็นความทุกข์ได้ ต้องพยายามรักษาจุดยืนของตัวเองด้วย


           

5.ลงรายละเอียดงานให้ชัดเจน

               

     การทำงานแฮนด์เมดสามารถเติบโตได้ ถ้าเรามีการวางระบบงานที่ชัดเจน ลงรายละเอียดงานให้เยอะที่สุด ก็สามารถช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ ช่วยประหยัดต้นทุนการผลิต และถึงจะให้คนอื่นมาช่วยทำ งานก็ออกมามีประสิทธิภาพได้เหมือนกับเราทำเอง ธุรกิจก็สามารถขยายเติบโตขึ้นได้ ซึ่งเมื่อเริ่มต้นวางงานด้วยตัวเองแล้ว ก็ควรที่จะจบงานด้วยตัวเองด้วย ตรวจเช็คคุณภาพงานที่ทำเสร็จทุกครั้ง เพื่อรักษามาตรฐานของแบรนด์เอาไว้



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น