เปิดวิธีคิดสู้ศึกธุรกิจความงาม สไตล์ BEAUTRIUM




 
   
     ท่ามกลางการเติบโตของอุตสาหกรรมความงามที่กลายเป็นธุรกิจดาวรุ่งในช่วงที่ผ่านมา ปลุกตลาดนี้ให้ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ดึงดูดผู้เล่นน้อยใหญ่ให้เข้าสู่สนามแข่งขันกันมากขึ้น ไม่เพียงผลิตภัณฑ์ความงาม ทว่ายังรวมถึงร้านค้าปลีกสินค้าความงามทั้งสัญชาติไทยและเทศที่ทยอยเปิดตัวสร้างความคึกคักให้กับตลาดอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือ BEAUTRIUM (บิวเทรี่ยม)


     อาณาจักรเครื่องสำอางมัลติแบรนด์สัญชาติไทยแท้ของสองพี่น้อง จิรวุฒิ และ อติโรจน์ โรจน์รัตนวลี ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการบริหาร บริษัท บิวเทรี่ยม จำกัด ทายาทธุรกิจสิ่งทอที่อยู่ในสนามมากว่า 30 ปี วันนี้พวกเขาพร้อมพิสูจน์ตัวเองในน่านน้ำธุรกิจใหม่ที่ต่างไปจากรุ่นพ่อ


 

ทำไมทายาทสิ่งทอถึงอยากทำธุรกิจความงาม?


     จิรวุฒิ : ผมเรียนจบมาทางด้านบริหารธุรกิจ ก่อนไปต่อโทด้านโลจิสติกส์ที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา ครอบครัวเราทำเครื่องนุ่งห่ม (บริษัท ไทยเซ้าท์อีส นิตติ้ง จำกัด) ซึ่งธุรกิจก็ยังไปได้ดี ตอนจบปริญญาตรีผมช่วยงานที่บ้านอยู่ 4-5 ปี หลังจบโทก็มาช่วยที่บ้านต่ออีก 3 ปี จนมีโอกาสคุยกับน้องชาย (อติโรจน์) เรื่องโปรเจกต์บิวเทรี่ยม ตอนนั้นเรามองว่าร้านประเภทบิวตี้เมกะสโตร์หรืออาณาจักรเครื่องสำอางความงามเวลานั้นยังมีไม่มากนัก และไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกราย มีแต่แบบที่โฟกัสไปผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผมอย่างเดียว หรือเครื่องสำอางอย่างเดียว แต่เรามองว่าทำไมไม่รวมทุกอย่างเข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน เลยเกิดเป็น BEAUTRIUM ขึ้น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคำว่า Beauty ที่แปลว่า ความสวยความงาม กับ Atrium ที่แปลว่า พื้นที่ขนาดใหญ่ หรืออาณาจักร รวมกันเป็นภาษาไทยว่า อาณาจักรของความสวยความงามตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยเปิดสาขาแรกเมื่อปี 2555 ที่ประตูน้ำ ซึ่งธุรกิจไปได้แต่ยังขาดเรื่องทราฟฟิก เราจึงย้ายมาที่สยามสแควร์ซึ่งเป็นแหล่งรวมวัยรุ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเรามากกว่า และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เรากลายเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา
               

      อติโรจน์ : ผมเรียนมาทางด้านการออกแบบอุตสาหกรรม จากสถาปัตย์ จุฬาฯ มีโอกาสไปทำงานที่ประเทศจีนอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนกลับมาเริ่มตัวบิวเทรี่ยม โดยมาดูแลทางด้านการออกแบบระบบ หน้าร้าน ประสบการณ์ภายในร้าน ตลอดจนโปรโมชัน และการตลาดต่างๆ ซึ่งในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเลยว่าธุรกิจบิวตี้เปลี่ยนไปเยอะมาก มันเป็นภาพรวมของไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไปด้วยอิทธิพลของโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยผู้บริโภคมีการใช้เครื่องสำอางกันมากขึ้น และอายุน้อยลงเรื่อยๆ คนเสพข้อมูลมากขึ้น และตัดสินใจบนพื้นฐานความสำคัญของตัวเองมากขึ้น เรียกง่ายๆ ว่ามีความฉลาดขึ้นในการใช้จ่ายกับสินค้าความงาม โดยดูทั้งเรื่อง ราคา คุณภาพ แม้กระทั่งภาพลักษณ์ ซึ่งส่งผลกับตัวธุรกิจของเราแน่นอน อย่างการตลาดก็ต้องทำงานหนักขึ้น ต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากขึ้น และต้องสังเกตดูคู่แข่งตลอดเวลาว่าใครทำอะไรไปบ้าง การแข่งขันที่ผ่านมาทำให้เราต้องเร่งขยายสาขาเพิ่มขึ้น และรีโนเวตสาขาที่สยาม โดยปัจจุบันมีอยู่ 5 สาขา คือ สาขาสยามสแควร์ ซีคอน บางแค, ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, G ทาวเวอร์ พระราม 9 และล่าสุดเอเชียทีค
  

 จิรวุฒิ โรจน์รัตนวลี
       

ตลาดเปลี่ยน-คู่แข่งมากขึ้น บิวเทรี่ยมรับมือกับการแข่งขันอย่างไร?
               

     จิรวุฒิ : มี 2-3 อย่างที่เรามุ่งเน้นมาก คือ 1.สินค้า โดยสินค้าของเราต้องสดใหม่อยู่เสมอ คำว่า สดใหม่ หมายความว่า สินค้าต้องอยู่ในกระแสที่คนกำลังให้ความสนใจ ไม่ว่าจะแบรนด์ในประเทศหรือต่างประเทศ แม้แต่แบรนด์ที่ไม่เคยนำเข้ามาขายในไทยมาก่อนเราก็ต้องไปเสาะแสวงหาเพื่อให้สินค้าสดใหม่อยู่เสมอ 2.การบริการ โดยพนักงานต้องมีความเข้าใจตัวสินค้าทุกๆ หมวด สามารถอธิบายหรือให้คำแนะนำกับลูกค้าได้อย่างชัดเจน 3.การบริหารจัดการ โดยสินค้าต้องมีให้เพียงพอต่อความต้องการ พนักงานต้องบริหารจัดการและจัดเรียงสินค้าได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนระบบต่างๆ ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน ก็ต้องแข็งแกร่งพร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจ
               

     อติโรจน์ : ในส่วนของการดีไซน์และการตลาด เราก็มุ่งทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อดูว่าเขามีความต้องการหรือกำลังมองหาอะไร หรือแม้แต่อะไรที่เขายังไม่รู้ตัวว่าต้องการ เราก็จะพยายามนำเสนอสิ่งเหล่านั้นผ่านทางผลิตภัณฑ์ การให้บริการ ตลอดจนบรรยากาศภายในร้าน ที่จะทำให้คนรู้สึกเพลิดเพลิน และสนุกขึ้นด้วยการออกแบบและตกแต่ง ตลอดจนคอนเซปต์ใหม่ๆ ที่จะพัฒนาต่อไป โดยพยายามหาสินค้าที่เข้ามาสร้างความแตกต่างให้มากขึ้น บริการให้ดีขึ้น และรูปแบบของการดีไซน์ ความเป็นยูนีคของร้าน ตลอดจนการเข้าถึง และเข้าใจผู้บริโภคให้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
               
    
     จิรวุฒิ : จุดยืนของบิวเทรี่ยมคือ เราอยากนำเสนอประสบการณ์ความงามโดยที่ไม่ได้บอกว่าเราจะมีสินค้าเยอะที่สุดหรือราคาถูกที่สุด เพราะเชื่อว่าถูกก็ไม่ได้ตอบโจทย์เสมอไป แต่เราจะนำเสนอบริการที่ถูกใจ โปรดักต์ที่ใช่ ในราคาที่คุณชอบ

           

อติโรจน์ โรจน์รัตนวลี 


มองเทรนด์ความงามในอนาคตอย่างไร แล้วบิวเทรี่ยมจะโตไปแบบไหน?
               

     จิรวุฒิ : ตลาดนี้ใหญ่ขึ้นทุกปีตามกลไกของตลาด และเทรนด์เรื่องสุขภาพและความงามที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในภาพรวมของการแข่งขัน ผมมองว่าก็ไม่ได้แตกต่างจากการปลูกยางพารา แต่ก่อนยางพาราปลูกกันทางภาคใต้ แต่พอคนเห็นว่าคนใต้ทำดีมีเงินเข้ามาภาคอื่นออกมาปลูกยางกันบ้าง เลยกลายเป็นโอเวอร์ซัพพลายสุดท้ายราคายางเลยตกต่ำ โดยส่วนตัวผมมองว่า ผู้เล่นในปัจจุบันเพียงพอต่อความต้องการในตลาดแล้ว แต่บางคนอาจจะมองว่ายังมีโอกาสอยากเข้ามาแย่งตลาดบ้าง แต่ในระยะยาวพอทุกอย่างอยู่ตัวจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าใครคือผู้เล่นหลัก ใครไม่ใช่มืออาชีพที่อาจแค่มาลองตลาดเฉยๆ เชื่อว่าใช้เวลาวัดกันไม่เกิน 3 ปี ตลาดจะสกรีนคนที่ไม่ใช่ตัวจริงออกไป จากนี้จะขึ้นกับฝีมือและสายป่านที่แต่ละคนมี
               

     ถามว่าแล้วเราจะอยู่ยังไง แน่นอนว่าเรา 2 คนเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ อยู่แล้ว จริงๆ เราผ่านอุปสรรคมาเยอะมาก มากกว่าที่คนอื่นมองเห็นด้วยซ้ำ บางคนคิดว่าก็แค่ร้านค้าปลีกความงามคงไม่มีอะไรหรอก แค่ซื้อมาขายไป ง่ายๆ แต่จริงๆ แล้วมันมีรายละเอียดข้างหลังเยอะมาก ไม่ว่าจะการบริหารคน บริหารสินค้า โปรโมชัน ซัพพลายเออร์ ลูกค้า รวมไปถึงพวกบัญชีการเงิน ตลอดจนคู่แข่งที่ต้องคอยติดตามอยู่ตลอดเวลาว่าเขาทำอะไรกันไปบ้าง เกิดการแข่งขันแย่งชิงทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งต้องรับมือให้ได้ ใครว่าธุรกิจความงามจะมีแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ไม่จริง ข้างหลังนี่ดุเดือดพอสมควรเลย
 




แล้ว Key Success ของธุรกิจนี้อยู่ที่ไหน?
               

     จิรวุฒิ : ผมว่าต้องเข้าใจตลาด เข้าใจธุรกิจนี้ แล้วก็ต้องอดทนกับมัน สำหรับเราลูกค้าไม่ใช่แค่คนที่ซื้อสินค้า แต่คือคนที่ร่วมงานกับเราทั้งหมด ไม่ว่าจะลูกค้า พนักงาน หรือซัพพลายเออร์ ก็ล้วนเป็นลูกค้าของเราที่ต้องดูแลเขาให้ดี ให้เขาแฮปปี้ เชื่อว่าถ้าคนในองค์กรเรามีความสุข คู่ค้าเราแฮปปี้ ธุรกิจของเราก็จะไปสู่ความยั่งยืนได้
               

     สำหรับความฝันต่อไปคือ เราอยากขยายสาขาให้มากกว่านี้ ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปีนี้จะขยายไปได้ทั่วประเทศ โดยวางแผนขยายปีละอย่างน้อย 5 สาขา และหลังจาก 3 ปี เราจะเริ่มออกต่างประเทศ เราอยากเอาแบรนด์ไทยที่ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมดไปประกาศศักดาในต่างประเทศ โดยเริ่มจากตลาด CLMV ซึ่งค่อนข้างรู้จักและยอมรับในแบรนด์ไทยดีอยู่แล้ว รวมถึงเป้าหมายการนำพาตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใน 2 ปีหลังจากนี้ด้วย ในอนาคตเราไม่ได้มองว่าจะมุ่งทำแต่ร้านค้าปลีกความงามเท่านั้น เพราะค้าปลีกมันเป็นโครงสร้างเป็นโนว์ฮาวที่เราสามารถขยายไปสู่สินค้าตัวอื่นได้ ซึ่งโมเดลนี้จะต่อยอดไปสู่สินค้าอย่างอื่นในกลุ่มค้าปลีกในอนาคต โดยที่อาจใช้ชื่ออื่นไม่ใช่บิวเทรี่ยม





www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน