rivers & roads ร้าน Souvenir กะทัดรัดในเชียงใหม่มาพร้อมกับคอนเซปต์รักษ์โลก







     ‘Rivers and roads, Rivers 'til I reach you’ จากเนื้อเพลงท่องหนึ่งของเพลง rivers & roads ที่กลายมาเป็นชื่อร้าน Souvenir แห่งหนึ่งในเชียงใหม่ โดยร้าน rivers & roads ถูกก่อตั้งขึ้นโดยผู้ที่มีเจตนารมณ์และรสนิยมเดียวกันทั้ง 4 คนคือ ภัทรพล ประสิทธิ์ – อาม, ณัฐพร วรรณปะโก – นัด, นับวงศ์ ช่วยชูวงศ์ – บี๋, วันวิสาข์ นาสิงห์ – จิ๊กกี๋ เจตนารมณ์ที่ว่าคือการใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่พวกเขามีเหมือนๆ กันและรสนิยมที่ชื่นชอบสินค้าไปในทิศทางเดียวกันจนกลายมาเป็นร้านขายของฝากที่เต็มไปด้วยแบรนด์และสินค้าสุดน่ารักจากศิลปินและดีไซเนอร์ในเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีสเตชั่นที่เอาไว้ให้คนมาเติมน้ำยาต่างๆ แบบ No Packaging อีกด้วยกับ Foolfil Corner





     บี๋ 1 ในผู้ร่วมก่อตั้งได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นและคอนเซปต์ร้านว่าเกิดขึ้นเพราะอยากให้เชียงใหม่มี Selected Shop ที่นำเสนอศักยภาพของดีไซเนอร์ในเชียงใหม่พร้อมกับคอนเซปต์ที่ไม่อยากให้มีถุงพลาสติกเกิดขึ้นในร้าน








     บี๋: “เราคิดว่าอยากให้มีร้าน Souvenir ในเชียงใหม่ที่แตกต่าง ไม่เหมือนกับคนอื่นและเราอยากที่จะนำเสนอศักยภาพของดีไซเนอร์ ศิลปินในเชียงใหม่ด้วย เราเลยเป็น Selected Shop ที่คัดเลือกงานจากศิลปินต่างๆ มารวมไว้ เราคิดว่าคนที่มาเที่ยวเชียงใหม่เป็นเพื่อนเรา จิ๊กกี๋คิดชื่อร้านได้จากเพลง rivers & roads พูดถึงเพื่อนที่ห่างหายไป ไม่เจอกันนาน เราก็อยากให้คนมาเที่ยวเชียงใหม่คิดถึงเรา ประกอบกับว่าร้านเราอยู่ถนนเส้นที่แม่น้ำปิงตัดกับท่าแพพอดี เลยกลายเป็น rivers & roads นอกจากนี้เราทั้ง 4 คนมีความเห็นตรงกันว่าพลาสติกมันเริ่มมากไปแล้วในเชียงใหม่ เราอยากลดการใช้พลาสติก คอนเซ็ปต์ร้านเราคือจะไม่ใช้ถุงพลาสติกกันเลยในร้าน”
     

       

     ด้วยความที่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 4 ของ rivers & roads เป็น Greener กันอยู่แล้ว เช่น ไม่ใช้หลอด พกแก้วน้ำ พกถุงผ้า ใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันน้อยที่สุด ทำให้ร้าน river & roads เป็นร้านที่ถ่ายทอดเจตนารมณ์ออกมาเป็นดีเทลเล็กๆ ที่สร้างอิมแพคอันยิ่งใหญ่ภายในร้าน








     บี๋: “สินค้าในร้านเราก็มีขายพวกช้อนส้อม ตะเกียบแบบพกพาให้คนลดใช้พวกช้อนพลาสติก มีขายแก้วน้ำ ถุงผ้าหรือแม้แต่บ้านไม้เล็กๆ ที่เอาไว้ตั้งโชว์ก็มาจากเศษไม้สักที่เขาทิ้ง มันเคยเป็นบ้านไม้สักแล้วพอเขารื้อทิ้ง พวกไม้ขนาดใหญ่คนก็เอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ จะเหลือเป็นเศษไม้ ถ้าไม่เผาทิ้งก็เอาไปทำฟืน เราเลยเก็บเศษไม้ตรงนี้มาทำเป็นบ้านไม้ตั้งโชว์เล็กๆ แล้วเขียนเล่ามาที่มาที่ไปของไม้มาจากไหน ให้คนที่เขามาซื้อได้รับรู้ หรือน้องนัดที่ทำเสื้อผ้า เศษผ้าทุกชิ้นไม่ทิ้งเลย จะนำมาทำเป็นเชือกผูกถุง เชือกเราก็ไม่ต้องซื้อ ถุงเราก็ใช้ถุงกระดาษหรือ Bubble กันกระแทก เราใช้เป็นเศษกระดาษจากโรงพิมพ์ที่อามทำงาน ซอยเป็นเส้นสั้นๆ ไว้ใช้ห่อพวกสินค้าที่เป็นแก้ว ถ้าคนเห็นเหมือนเราว่ามันเริ่มต้นได้จากของที่มัน Easy มากเลย แค่ทบทวนตัวเองว่าอย่าใช้พลาสติก ก็จะช่วยได้”






     

     นอกจากรายละเอียดภายในร้านที่แสดงถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมี Foolfil Corner ซึ่งเป็นสเตชั่นเติมน้ำยาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยอามเป็นผู้ริเริ่มอยากทำสเตชั่นเติมน้ำยาแบบ No Packaging ให้เกิดขึ้นในเชียงใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการลดขวดพลาสติก



     

     อาม: “ธุรกิจประเภทนี้มันมีมาในต่างประเทศสักพักแล้ว แล้วก็เริ่มเข้ามามีในไทย อย่าง Refill Station ที่เป็นแรงบันดาลใจของเราว่ามันสามารถทำได้ในเมืองไทยนะ พอเรามีร้านมีพื้นที่ก็อยากลองทำดู Foolfil มันเหมือนการเล่นคำคือผมกับทีมเป็นคนที่รุงรัง พกขวดน้ำ ถุงผ้า พกนู่นนี่นั่นมันดูเทอะทะ ไม่สมาร์ทเลยใช้คำว่า Foolfil คนโง่ แต่เป็น Such a fool to care นะ เราไม่อยากสร้างปัญหาให้สิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้แล้ว มันเป็นโมเดลที่ดีมากๆ แต่เรื่องธุรกิจก็อีกเรื่องหนึ่งนะเพราะเราไม่ได้หวังกำไรสูงสุดจากตรงนี้อยู่แล้ว แค่อยากให้มีเยอะๆ อยากให้ทุกคนทำ ใครสะดวกเติมตรงไหนก็เติมตรงนั้น”



   

      อามยังได้เปรียบเปรยปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พวกเขากังวลว่าทุกวันนี้มันกลายเป็นปัญหาที่เหมือนจอกแหนอยู่ในอ่างน้ำ ทุกวันจอกแหนหนึ่งต้นจะเพิ่มขึ้น ถ้ามันเพิ่มวันละต้นก็อาจจะดูไม่เยอะมากเท่าไหร่ แต่ถ้าตอนนี้มีจอกแหนอยู่ครึ่งอ่างแล้ว พรุ่งนี้จอกแหนก็จะเต็มอ่างและวันต่อไปมันก็จะล้นออก ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมที่พวกเราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ความยากของการเริ่มต้นคือการสื่อสารออกไป ให้ทุกคนได้รับรู้ว่าสิ่งที่ทำ ทำเพราะอะไร ทำไมทุกคนถึงต้องเลิกใช้พลาสติก ทำไมถึงต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อม




     อาม: “อย่างผมไปไหนก็จะมีกระติกน้ำตลอดเวลา คนก็จะถามว่าไม่สบายหรอ ต้องถือกระติกกินน้ำอุ่น เราก็มีจุดประสงค์ของเราหรืออย่างเวลาไปร้านค้าก็จะต้องบอกว่าไม่เอาหลอดนะ พอไปซ้ำสัก 2-3 ครั้งเขาจะจำเราได้แล้วว่าไม่เอาหลอด มันเป็นการสื่อสารกับคนรอบตัวตลอดเวลา วิธีการทำที่เราทำกับ Foolfil ก็เช่นกัน เราต้องเริ่มต้นด้วยการสื่อสาร”

   
            

     และนี่ก็คือเรื่องราวของร้านเล็กๆ ในเชียงใหม่ที่อาจทำให้คุณตระหนักได้ว่าปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม มันจะแก้ไขด้วยตัวเองไม่ได้ แต่ต้องร่วมมือกัน จากแค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน ถ้าทุกคนทำแบบนี้เหมือนกันก็อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในอนาคตได้


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน