จาก รปภ. สู่เจ้าของนวัตกรรมผ้าย้อมคราม ลบภาพจำธุรกิจดาวร่วงสู่ดาวรุ่ง

Text: Neung Cch.





Main Idea
 
  • แม้ผลโพลล์จากทุกสำนักให้ความเห็นตรงกันว่าธุรกิจสิ่งทอเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวร่วง แต่ด้วยความเชื่อมั่นว่างาน “หัตถกรรม” มีเอกลักษณ์ที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ จึงเป็นที่มาของโอกาสธุรกิจที่ยังเติบโตเป็นดาวรุ่งได้
 
  • การลงมือปฏิวัติการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม สู่การสร้างนวัตกรรม เอกลักษณ์ และสร้างตลาดใหม่ไม่ใช่แบกะดินขายตามตลาดนัด นำพาธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จโดยมีลูกค้าออร์เดอร์ถึงเดือนละล้านบาท!




     ทันทีที่หันหลังให้กับการเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย นิคม ปุกแก้ว ตัดสินใจเก็บกระเป๋าจากเมืองกรุงมุ่งสู่บ้านเกิดจังหวัดสกลนคร เขากลับไปพร้อมความคิดที่อยากจะต่อยอดธุรกิจผ้าย้อมครามของแม่ แต่ด้วยภาพจำตั้งแต่วัยเด็กที่เห็นแม่ทำธุรกิจนี้แต่ก็ยังไม่สามารถปลดหนี้สินได้ จึงตัดสินใจแยกมาทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยการเปิด บริษัท เอ.อี.ซี 2015 (ไทยแลนด์) จำกัด และพัฒนาแบรนด์ทองสิริขึ้น พร้อมวางตำแหน่งเป็นแบรนด์ผ้าย้อมคราม ที่ต้องจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำของเมืองไทยให้ได้


     “การหันมาเปิดบริษัทของตัวเอง เพราะลูกค้าจะมีความเชื่อมั่นและกล้าติดต่องานกับเรามากกว่าทำในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ส่วนตัวผมเองมองว่าสินค้าหัตถกรรมเลียนแบบไม่ได้ หากเราสามารถเพิ่มนวัตกรรมและสร้างความแตกต่างที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ก็น่าจะมีคนตอบรับในตัวสินค้า ซึ่งลูกค้าของผมไม่ได้อยู่ตามตลาดนัดแต่เป็นห้างพารากอน คิงเพาเวอร์ นิคมบอกเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้แต่วันแรก
 



สร้างถนนเชื่อมธุรกิจ


     แม้เป้าหมายดูห่างไกล แต่นี่ไม่ใช่การสร้างฝันกลางวัน ทว่าเป็นการตั้งเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง แม้นิคมรู้ว่าการถีบตัวเองจากสินค้าแบกะดินไปเฉิดฉายในห้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เขาก็ไม่ขอย่ำอยู่กับที่เพื่อไปแข่งขันแย่งตลาดกับเค้กก้อนเดิมที่มีผู้เล่นกว่า 20 รายในตลาดนัดหน้าวัด เส้นทางธุรกิจของเขาจึงเริ่มจากการเรียนรู้ด้วยการพาตัวเองไปเข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ฯลฯ เพื่อพัฒนาตัวเอง ขึ้นมา โดยดูทิศทางการตลาดและความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ตอบกลุ่มเป้าหมาย


     ความรู้และคอนเนกชั่นที่นิคมสั่งสมมาเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อเขาได้ร่วมมือกับ ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (อุทยานวิทยาศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จนนำมาสู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำครามสำเร็จรูปพร้อมย้อม” ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาการก่อหม้อครามจาก 15 วัน ให้เหลือเพียง 1 วัน ทำให้สามารถผลิตผ้าย้อมครามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลมามากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศนวัตกรรมระดับประเทศ (MOST Innovation Awards2018) สาขานักธุรกิจ นวัตกรรม ที่จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือล่าสุด รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน 7 Innovation Awards 2019 อีกด้วย


     “บางคนไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายบนห้างฯ ได้ เพราะส่วนใหญ่มักทำตามความเคยชิน แต่อย่างไรก็ต้องยอมรับว่าการจะนำสินค้าพื้นบ้านขึ้นห้างฯ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ช่วงแรกที่ผมเปิดบริษัทปี 2556 ผมไม่ได้วิ่งหาลูกค้าเลย แต่ผมวิ่งพัฒนาตัวเอง พัฒนาสินค้าเพื่อส่งเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ จนได้รับรางวัลมามากมาย ซึ่งรางวัลเหล่านี้เป็นเหมือนใบเบิกทางช่วยการรันตีให้สินค้าของเราสามารถขึ้นห้างฯ ได้ง่ายขึ้น จากปีแรกที่ไม่มีออร์เดอร์เลย พอปี 2558 เริ่มมีออร์เดอร์เข้าบริษัทกว่าล้านบาท ปี 2559 ออร์เดอร์เพิ่มเป็นกว่า 5 ล้านบาท จนปี 2560 มีออร์เดอร์เข้ามากว่า 12 ล้านบาท หรือเฉลี่ยถึงเดือนละกว่าล้านบาท”
 



สินค้ายิ่งต่างยิ่งขายได้ราคา


     นอกจากนวัตกรรมแล้วสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ทองสิริ แตกต่างจากผ้าย้อมครามแบรนด์อื่นคือ สีไม่ตก นุ่ม ใส่สบายไม่กระด้าง เหมาะกับอากาศเมืองร้อน โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าพันคอ คลุมไหล่ ฯลฯ จำหน่ายในราคาตั้งแต่ราคาหลักพันถึงหลักหมื่นบาท


     “ผมเคยไปเดินงาน OTOP และได้เห็นผ้าผืนมากมายที่ราคาต่างกัน แม้แต่ผ้าไหมเองก็มีตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนถึงหลักล้านบาท จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่าเป็นเพราะอะไรถึงมีคนกล้าขายและที่สำคัญมีคนกล้าซื้อด้วย ซึ่งคำถามในวันนั้นค่อยๆ คลี่คลายออกมาเป็นคำตอบเพราะกระบวนการผลิตผ้าไหมผืนนั้นเขาใช้เวลาทอถึงหนึ่งปี นั่นเป็นการสร้างความแตกต่างเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเขา”


     จากคำตอบในวันนั้นยืนยืนด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเขา หลังมีโอกาสไปออกงานแฟร์ซึ่งมีผู้ประกอบการผ้าผืนราว 10 รายออกบูธเรียงรายกัน ปรากฏว่าชาวต่างชาติให้ความสนใจสินค้าของเขาซึ่งมีราคาแพงกว่าบูธอื่น นั่นยิ่งตอกย้ำทำให้เขามั่นใจว่า หากสินค้ามีความแตกต่างก็สามารถขายได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว


     “ผมว่าการที่จะเป็นธุรกิจดาวร่วงหรือดาวรุ่งก็อยู่ที่ตัวเราเอง ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเอง หยุดอยู่กับที่ก็เป็นดาวร่วงแน่นอน แต่ถ้าคุณมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คนอื่นไม่มีแล้วเจาะกลุ่มตรงนั้นให้ได้ ที่สำคัญถ้าเรามีความตั้งใจซะอย่าง ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ ขอแค่เราลงมือทำ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมตัดสินใจทำธุรกิจตัวนี้เพราะผมเชื่อมั่นในเอกลักษณ์ของงานหัตถกรรมที่ยากต่อการเลียนแบบ”


     แม้จะต้องเจออุปสรรคตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นที่ไม่มีเงินทุนจนเกือบจะล้มเลิกความตั้งใจไปแล้ว ซ้ำหันหน้าไปปรึกษาใครก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ จนเกือบเลิกทำ แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ท้อ ทั้งยังเดินหน้าสู้จนถึงที่สุด เพราะเขามองว่านี่ไม่เพียงการสร้างบริษัทที่เลี้ยงตัวเองได้ แต่ยังช่วยสร้างงานให้กับชุมชนอีกว่า 300 ชีวิต อีกด้วย    


     “เป้าหมายต่อไปของผมคือ ทำให้ได้ตามชื่อบริษัท นั่นคือพาสินค้าไปจำหน่ายในประเทศ AEC ภายในสัก 3-5 ปี”


     ความสำเร็จนี้สะท้อนคำว่า ลิขิตฟ้าย่อมไม่สู้มานะตน ได้อย่างชัดเจน
 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน