ล้วงกลเม็ดเคล็ด LIVE ‘ฮาซัน’ อาหารทะเลตากแห้ง แจ้งเกิดธุรกิจเปรี้ยงชั่วข้ามคืน!

Text: Neung Cch





Main Idea
 
  • จากคนที่ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือใช้ แต่วันนี้แค่เขากินมาม่าโชว์ก็มียอดคนดูถึง 8 พันคน!
 
  • ถึงแม้หน้าตาจะธรรมดา แต่ด้วยวิธีการขายของสุดแปลกจนกลายเป็นผู้สร้างกระแสไลฟ์สดขายอาหารทะเลตากแห้ง จ.สตูล ที่มียอดขายเดือนละ 7 หลัก สู่การมีหน้าร้านห้องเย็นที่ลงทุนไม่ต่ำกว่า 11 ล้านบาท สามารถสร้างธุรกิจให้ตัวเองและชุมชน





     ยังฮอตทะลุความร้อน 40 องศาเซลเซียล กับ อนุรักษ์ สรรฤทัย หรือ ฮาซัน เจ้าของเพจอาหารทะเลตากแห้ง จังหวัดสตูล ด้วยลีลาไลฟ์ (live) สดขาย ปลาหมึก กุ้งแห้ง ปลาเค็ม ฯลฯ ไม่ซ้ำแบบใครและไม่มีใครเหมือนส่งผลให้ดังเป็นพลุแตกมียอดผู้ชมเข้ามาดูครั้งละเป็นหมื่นเพื่อรอสั่งซื้อสินค้า


     จะบอกว่าหน้าตาดีรึก็ไม่ถึงขนาดนั้น เป็นเซเลปหรือก็เปล่า แต่เขาคือลูกชาวประมงคนหนึ่งที่มีความมุ่งมั่นที่จะหลุดจากวงจรความลำบากที่เวลาเดินตลาดต้องคอยพะวงว่าในกระเป๋าสตางค์จะมีเงินอยู่กี่บาท ด้วยพรสวรรค์ที่เป็นคนช่างพูด แม่ซึ่งเป็นแฟนคลับรายการสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมของมูลนิธิเพื่อคุณธรรมจึงพยายามผลักดันลูกชายให้แจ้งเกิดบนถนนสายนี้





     โดยช่วงแรกอนุรักษ์ได้เข้าไปช่วยดูแลเด็กกำพร้า และเริ่มฉายแววเมื่อเขาทำกิจกรรมสันทนาการทำให้เด็กสนุกสนาน จึงได้รับการผลักดันให้ไปขายยาสมุนไพรในรายการประมาณปีที่แล้ว แต่ทำได้ไม่นานเมื่อแฟนสาวจะคลอดลูกจึงต้องกลับมาอยู่บ้าน แต่ด้วยฝีมือ ทางเจ้าของรายการทีวีจึงเชิญให้กลับไปช่วยอีกรอบพร้อมกับยื่นข้อเสนอให้ค่าคอมมิสชัน เมื่ออนุรักษ์กลับมาก็ตั้งหน้าตั้งตาขายจากยอดขายยาสมุนไพรที่เหลือวันละ 50 กระปุกเพิ่มเป็น 300 กระปุกต่อวัน แต่ด้วยการโหมงานหนักเกินไปทำให้ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล


     “ความฝันของผมตั้งแต่เด็กคืออยากเป็นพ่อค้า คิดอยู่ในใจว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัวให้มันดีกว่านี้ เพราะการประมงถอยลงทุกวัน สภาพสิ่งแวดล้อม ไม่เอื้ออำนวยให้เราทำมาหากินเหมือนเดิม พยายามหาช่องทางพัฒนาตัวเองศึกษาไปดูในยูทูบ รายการสารคดีต่างๆ”


     ถึงจะทำงานหนักแต่รายได้ทั้งหมดก็ยังไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวให้สบายได้ ระหว่างนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเขาจึงตัดสินใจซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกในชีวิต พร้อมกับใช้เวลาศึกษาอุปกรณ์ตัวใหม่ แม้จะได้รับการทัดทานจากคนรอบข้างว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ




     “ผมมีเหตุผลซื้อโทรศัพท์เป็นช่องทางในการทำมาหากิน แต่พวกเขาไม่เข้าใจ เพราะผมนำเงินที่มีทั้งหมดซื้อเหลือเงินติดตัวไม่กี่ร้อย หลังจากนั้นลองโพสต์ขายสินค้า ช่วงแรกเป็นวิทยุสำหรับสำหรับพี่น้องมุสลิมฟังคัมภีร์ ลองไลฟ์สดแต่ไม่มีคนดูเลย หลังจากนั้นจึงใช้วิธีการใหม่เห็นเขาฉายหนังแชร์สารคดีขึ้นไปบนเฟซบุ๊ก คนดูเป็นร้อยดีใจมาก พอทำไปเรื่อยๆ เฟซบุ๊กก็โดนบล็อกเพราะไปละเมิดสิทธิ์คนอื่นเขา หลังจากนั้นก็ลองซื้อนาฬิกามาขาย มีลูกค้าติดต่อมาคนหนึ่งดีใจมาก แต่สุดท้ายก็โทรมาขอยกเลิกบอกว่าภรรยาไม่ให้ซื้อ ก็เริ่มรู้สึกอยากเลิกทำแล้ว”


     จนกระทั่งอนุรักษ์กลับมาพักฟื้นรักษาตัวที่บ้าน และได้เห็นชาวบ้านเดินขายปลากะตัก ปลาแห้งริมหาด ด้วยความอยากรู้จึงไปสอบถามแม่ค้าถึงรายได้ต่อวัน คำตอบคือ มีกำไรวันละ 150 บาท แต่ต้องเดินขายเป็น 10 กิโลเมตร เริ่มเห็นช่องทางในการทำอาชีพอีกครั้ง


     “วันนั้นผมไม่มีทางเลือกเหลือเงินในกระเป๋าแค่ไม่กี่ร้อยบาท ซื้อปลาหมึกมา 3 กิโลกรัมตั้งบนโต๊ะไลฟ์สดขาย ปรากฏว่าไม่มีใครซื้อแม้แต่คนเดียว ผมก็ไม่ท้อรอบแรกไม่มีคนดูก็ไลฟ์ใหม่ จนมีคนมาช่วยอุดหนุน อาจจะเพราะความสงสาร หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ขอบคุณลูกค้าคนนั้นทำให้ผมแข็งแรง เป็นกำลังใจที่ให้ผมไปต่อ”




     ระหว่างที่ทดลองขายสินค้าทางออนไลน์อยู่กับบ้านประจวบเหมาะกับที่ผอ. สถานีโทรมาให้กลับไปทำงานที่สถานี


     “ตอนนั้นก็คิดว่าจะทำอย่างไรเหมือนอยู่ในช่วงต้องตัดสินใจ หลายๆ เสียงก็บอกว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก ไม่ได้ขายง่ายนะ ใครจะซื้อปลาเค็มทุกวัน มันเหมือนพระเจ้าให้ทางออก บังเอิญผมโดนหมากัดเลยส่งรูปให้ผอ. ดูต้องฉีดวัคซีนอีก 15 วัน ระหว่างนั้นลองไลฟ์สดไปด้วยยอดคนดูก็เพิ่มขึ้นทุกวันๆ”
 

คารมเป็นต่อรูปหล่อเป็นรอง ไอเดียเป็นธุรกิจ

     นอกจากยอดคนดูที่เพิ่มขึ้นทุกวันแล้ว อนุรักษ์ ยังมั่นใจว่าการขายของกินอย่างไรก็ขายได้ เพราะมีคนใต้ที่ไปอาศัยอยู่ตามสถานที่ต่างๆ แต่ยังหาแหล่งซื้อไม่ได้ หรือคนที่อยากทานอาหารทะเลแต่ไม่สะดวกไปซื้อเอง กลุ่มเหล่านี้ก็คือลูกค้า


     “ผมไม่หล่อไม่รวยแต่ก็เซ็กซี่หน่อยๆ ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องหน้าตานะ อย่าไปคิดมันเลย เพราะเราไม่ได้ต้องการสร้างกระแส มีหลายคนประสบความสำเร็จได้ ไม่ต้องขายหน้าตา แต่ขายไอเดีย ขายความคิด คนที่ขายหน้าตาคืออาชีพดารา พอเริ่มแก่ตัว ผ่านช่วงวัยไปก็จบ แต่ถ้าขายความคิดผมว่ามันอยู่ได้นานกว่า”


     สำหรับไอเดียในการไลฟ์ของเขาคือ ข้อแรกต้องสร้างเอกลักษณ์ ให้ตัวเองแตกต่าง เพื่อให้ลูกค้าจดจำได้ เช่น การใส่ชุดเชฟ ใส่หมวก สอง ให้ลูกค้ารู้สึกเป็นกันเอง ทุกครั้งที่ไลฟ์สดเขาจึงเลือกใช้กล้องจากมือถือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเหมือนคุยกันสองคน สาม เทคนิคการพูดต้องมีจังหวะ พูดด้วยเส้นเสียงที่มีขึ้นลง สูงต่ำ ให้คนฟังไม่เบื่อ สี่ สร้างเรื่องราวของสินค้า อาทิ  “วิธีการจับปลาหมึก” “การทำปลาตากแห้ง” ฯลฯ เพื่อทำให้เกิดความสนใจ และสินค้าต้องคุณภาพดี 





     “มีล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ตอนเฟซบุ๊กปรับอัลกอริทึ่ม(Algorithm) ใหม่ จากยอดคนดู 2,000 เหลือ 700 ต้องพยายามลองหลายๆ เทคนิค ทำไปเรื่อยๆ ประสบการณ์ช่วยสร้างเทคนิคใหม่ อย่างเช่น มีลูกค้าที่อยากให้แม่เขาได้กินปลาอินทรีเราก็เอามาใช้ในการไลฟ์เกิดเป็นแฮชแท็กยอดฮิต #แม่ของฉันต้องได้กินปลาอินทรี หรือเทคนิคที่มีการพูดขานรับกลับทีมงานก็เกิดจากเราพูดบ่อยๆ ซ้ำๆ จนทีมงานจำได้ และก็ตอบรับลูกค้าก็ชอบ กลายเป็นเอกลักษณ์”



     ผลของการไม่ท้อทำให้ยอดคนดูไลฟ์สดเป็นหลักหมื่น ไม่ต้องคอยหลบหลีกกับละครหลังข่าว วันนี้แม้จะไลฟ์ชนกับละครกรงกรรม ลูกค้าก็ยังต้องแวบมาดูหรือใช้สองจอดูพร้อมกันไป เพราะกลัวจะไม่ได้สินค้า ที่วันนี้อนุรักษ์ใช้เวลาไลฟ์สดวันละครั้งๆ หนึ่งไม่เกิน สองชั่วโมง สินค้าก็จำหน่ายหมด



   

     “กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายผมกับแฟนเคยนอนร้องไห้ เมื่อมองย้อนไปอดีตในวันไปจ่ายตลาดต้องมาคอยดูเงินในกระเป๋าว่ามีเท่าไหร่ เคยมีลูกค้าบ่นตอนไลฟ์สดว่าจน ผมบอกว่า 5 เดือนที่แล้วผมก็เป็นแบบเดียวกับคุณมีเงินในกระเป๋าติดตัวแค่หลักร้อย แต่ต้องคิดบวก ควรให้กำลังใจตัวเองต้องมีสักวันเป็นของเรา ไม่อย่างนั้นชีวิตมันจะท้อแท้ ให้ต่อสู้ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดไปไกลมาก ผมเองก็ตั้งเป้าเป็นสเตปทำไปเรื่อยๆ ไต่ระดับไปเรื่อยๆ เป้าหมายแรก ขอแค่มีเงินในกระเป๋าเกินหลักร้อยบาท พาครอบครัวให้รอด อยากได้รถป้ายแดง แล้วเราก็พยายามทำให้เต็มที่”


     เมื่อมีความฝันแล้วลงมือทำฝันนั้นก็มีวันเป็นความจริง เหมือนกับอนุรักษ์ ที่เปลี่ยนเงินหลักร้อยของเขากลายเป็นหลักล้าน รถป้ายแดงจอดเรียงรายหน้าบ้าน และไม่ใช่ครอบครัวที่สบายเท่านั้น อนุรักษ์ยังลงทุนเปิดหน้าร้านพร้อมสร้างห้องเย็น เหมือนสร้างสหกรณ์ในชุมชนให้คนในพื้นที่ได้มีที่ขายสินค้าหรือมีอาชีพที่แพ็กของขายสร้างรายได้เพิ่มให้กับตัวเอง

               
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Succession – ซีรีส์บทเรียนธุรกิจครอบครัว เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด

เลือดข้นกว่าน้ำ แต่เงินข้นกว่าเลือด" คำพูดที่สะท้อนความจริงอันโหดร้ายในซีรีส์ Succession ได้อย่างดี ที่พูดถึงการแย่งชิงอำนาจ ตำแหน่งภายในครอบครัวสามารถสร้างทั้งความสำเร็จ และความขัดแย้ง การวางแผนหรือการจัดการที่ไม่ชัดเจน

ดีปาษณะ กับไอเดียแตกไลน์สินค้า จากระดับความสุกของกล้วย สร้างมูลค่าเพิ่มจากศูนย์ สู่ 1,000%

พูดถึง ‘กล้วย’ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นพืชวิเศษที่มีประโยชน์มากมาย ใช้ได้ตั้งแต่ราก ใบ ลำต้น หน่อ จนถึงผล แต่รู้ไหมว่านอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว หากถูกนำมาแปรรูปดีๆ กล้วย เพียง 1 ลูก จากราคาไม่ถึงบาท ก็อาจทำเงินเพิ่มขึ้นมาได้หลายพันเปอร์เซ็นต์

คำมี สตูดิโอ ปั้นดิน กินพิซซ่า สร้างงานเซรามิกให้เป็นเวิร์กช็อปแห่งแรกของแพร่

‘คำมี สตูดิโอ’ สตูดิโอเซรามิกแห่งแรกของแพร่ที่มีเวิร์กช็อปให้ผู้สนใจ เปิดสอนเฉพาะเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์เท่านั้น เป็นคราฟต์เซรามิกที่มีเอกลักษณ์เป็นงานไม่มีรูปแบบ ถนัดปั้นขด ทำแค่สิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน