สะเทือนทุกเขียง! ‘หมูอินเตอร์’ ยกระดับเขียงหมูบ้านๆ ให้เทียบชั้นยักษ์ใหญ่ด้วยไอที





Main Idea
 
  • จากภาพของเขียงหมูในตลาดสดรูปแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถสร้างความมั่นใจ และมาตรฐานให้กับผู้บริโภคได้ จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งหน้าตาของเขียงหมูที่เราคุ้นเคย กลายมาเป็นร้านขายหมูติดแอร์ และยังนำระบบไอทีเข้ามาใช้ได้อย่างเยี่ยมยุทธ์
 
  • ‘หมูอินเตอร์’ คือ เขียงหมูยุค 4.0 ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์จากเขียงหมูบ้านๆ ให้กลายเป็นร้านขายหมูสุดไฮเทค จนสามารถเติบโตกลายเป็นผู้นำด้านธุรกิจสุกรแบบครบวงจรในภาคเหนือ ยืนหยัดเทียบเคียงอยู่ในสนามรบเดียวกันได้ไม่แพ้แบรนด์ยักษ์ใหญ่
 

 

      เพราะการทำธุรกิจ ไม่มีข้อจำกัดและไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ หากสิ่งที่คิดนั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ ถึงแม้จะเป็นสิ่งแปลกใหม่แค่ไหนก็ตาม ก็ไม่ยากที่ธุรกิจจะเดินไปถึงฝั่งฝันได้ เหมือนเช่นกับ ‘หมูอินเตอร์’ แบรนด์เขียงหมูยุคใหม่แห่งจังหวัดลำพูน ที่เปลี่ยนจากเขียงหมูธรรมดาๆ ทั่วไปตามตลาดสด ให้กลายมาเป็นร้านขายหมูหน้าตาทันสมัย ติดแอร์เย็นฉ่ำ แถมมีการนำระบบไอทีเข้ามาใช้บริหารจัดการธุรกิจ จนถึงขั้นจัดตั้งสำนักงานไอทีเซ็นเตอร์ของตัวเองขึ้นมา จนสามารถเติบโตกลายเป็นผู้นำด้านธุรกิจสุกรแบบครบวงจรในภาคเหนือ เป็นแบรนด์ท้องถิ่นเล็กๆ ที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ในสนามรบเดียวกับแบรนด์ใหญ่อย่างซีพีหรือเบทาโกรได้





     ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นจากความคิดของ ณรงค์ ธรรมจารี ประธานบริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด ชายเจ้าของฟาร์มหมูท้องถิ่นที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นเจ้าของกิจการร้านขายหมูที่ทันสมัยและครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ จนขยายสาขาออกไปได้เกือบร้อยแห่ง
 
  • เปิดเขียงหมูติดแอร์ ให้คนมาเลือกซื้อ
 
     ณรงค์เล่าว่าก่อนหน้านี้เขาทำฟาร์มหมู เลี้ยงหมูมาทั้งชีวิต มีอุปสรรคเข้ามาทดสอบตลอดเวลา ทั้งวิกฤตราคาหมู วิกฤตโรคอหิวาต์สุกร วิกฤตเศรษฐกิจและอีกสารพัด แต่ก็ไม่เคยคิดย่อท้อ เลี้ยงหมูตั้งแต่มีหมูแค่ 2 ตัว จนสามารถขยายแม่พันธุ์ได้นับพันตัว กระทั่งฟาร์มหมูเริ่มอยู่ตัว จึงกู้เงินมาต่อยอดกิจการขยายสู่ธุรกิจจำหน่ายอาหารสัตว์ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด เพราะเจอวิกฤตหนักในช่วงต้มยำกุ้ง ทำให้หนี้บานปลาย กระทั่งต้องตัดสินใจขายฟาร์มหมูไป หลังจากนั้นเขาก็เริ่มมองหาช่องทางทำธุรกิจใหม่ ด้วยความที่ ณ ขณะนั้นมีห้างค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่จังหวัดลำพูน ทำให้เขาได้เห็นตัวอย่างการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ และนำมาคิดต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจเดิมที่เคยทำมา


     “ช่วงที่ขายฟาร์มหมูไป เป็นช่วงจังหวะเดียวกับที่ห้างแม็คโครมาเปิดที่ลำพูน เราก็เห็นว่าเขามีหลายแผนกอยู่ในนั้น เลยคิดว่าอยากจะทำแบบเขาบ้างได้หรือเปล่า เปิดเป็นเขียงหมูติดแอร์ให้คนเข้ามาเลือกซื้อ คิดแล้วก็ตัดสินใจเช่าตึกเปิดเป็นช็อปขึ้นมา แบ่งเป็นแผนกๆ แล้วเลียนแบบเขาทุกอย่าง เขาจัดโปรโมชันยังไง ขายยังไง เราก็ทำแบบนั้นบ้าง


     “แต่เปิดมาช่วงแรกๆ แทบขายไม่ได้เลย ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เอาเราไปเปรียบกับแม็คโคร แต่เปรียบกับเขียงหมูในตลาดสด ผมเลยลองมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าหากเราเป็นลูกค้า เราจะเลือกซื้อของใคร เพราะอะไร และผมก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า ผมอยากขายของคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่สินค้า แต่รวมถึงบริการด้วย ก็เลยสร้างแบรนด์หมูอินเตอร์ขึ้นมา ลูกค้าต้องการอะไร เราหาสิ่งนั้นมาให้ จนปัจจุบันสามารถขยายสาขาได้ถึง 80 แห่งในภาคเหนือ ในช่วงเวลาเพียงแค่ 5 ปีเท่านั้น”
 


 
  • ปรับกลยุทธ์ แตกหลายแบรนด์ เสริมยอดธุรกิจโต
 
     “เราอยู่ในวงการอาหารสัตว์ก็เห็นหลายๆ แบรนด์ก็เอามาจากคอกเดียวกัน แต่ทำออกมาหลายแบรนด์ วางตำแหน่งทางการตลาดไม่เหมือนกัน ถ้าลูกค้าไม่ชอบของแบรนด์นี้ ก็อาจจะไปซื้อของเราในอีกแบรนด์หนึ่งจ่ายเงินแพงกว่าหน่อยแต่ได้ความถูกใจ เราเห็นแบบนั้นจึงนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจ โดยเปิดขึ้นมาทีเดียวหลายแบรนด์พร้อมกัน แต่ละแบรนด์จะมีสินค้าครบทุกประเภท แต่จะอยู่กันคนละทำเล ตอนนี้เรามีทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ หมูอินเตอร์ พีพีหมูสด เอ็มพีหมูสด และหมูมวลชน ทุกแบรนด์จะมีผลิตภัณฑ์เหมือนกันหมด คือ มีทั้งหมูหั่นชิ้น หมูสไลด์ หมูสด หรือหมูแปรรูปต่างๆ เพียงแต่จะวางตำแหน่งทางการตลาดต่างกัน เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม”
โดยณรงค์เล่าว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเขียงหมูสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มร้านอาหาร และผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเขาตั้งใจจับกลุ่มผู้ประกอบการเป็นหลัก เพราะมีเรื่องของการซื้อซ้ำและซื้อทีเป็นปริมาณมากๆ
 


 
  • กำจัดจุดอ่อน ด้วยเทคโนโลยี
 
     สิ่งที่ยากที่สุดของธุรกิจเขียงหมู คือ การบริหารจัดการสินค้าที่มีอายุการเก็บรักษาที่สั้นมาก เช้ามาสินค้ามีคุณภาพ พอตกเย็นแม้สินค้ายังคงมีคุณภาพแต่ก็ต้องลดครึ่งราคาแล้ว การจะทำให้ธุรกิจอยู่รอด จึงต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ในส่วนนี้ณรงค์ได้นำระบบไอทีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ โดยจัดตั้งสำนักงานไอทีเซ็นเตอร์ของตัวเองขึ้นมา ทำให้สินค้าได้มาตรฐาน และการยอมรับไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น
 

     “เราไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ร้านแรกที่เปิด ปัญหามีเข้ามาเป็นระยะๆ เพื่อเป็นเครื่องทดสอบกำลังใจ สาหัสสุด คือ ถูกลูกน้องโกงทั้งสาขา เราก็มามองว่าทำไมห้างโลตัสใหญ่จะตาย มีสาขาทั่วประเทศทำไมไม่ถูกโกง แต่ของเราเล็กนิดเดียวกลับถูกโกง เลยเป็นสาเหตุให้สร้างระบบขึ้นมา ระบบช่วยให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนของตัวเอง ซึ่งไม่เพียงช่วยให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังช่วยให้เรามีข้อมูลมากพอสำหรับการพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่ถูกต้องด้วย


     “ปัจจุบันเรามีกว่า 80 สาขา มีลูกค้าอยู่ในมือประมาณ 20,000 ราย ยอดขายเฉพาะเนื้อประมาณวันละ 5 ล้านบาท ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะใช้โปรแกรมต่างๆ ในการทำงานและเก็บข้อมูล โปรแกรมสำหรับคำนวณต้นทุนอันหนึ่ง สต็อกอันหนึ่ง เวลาจะใช้ทีก็ยุ่งยาก แล้วข้อมูลก็ไม่เชื่อมโยงกัน แต่วันนี้เราใช้อินเตอร์เฟส (Interface ) เป็นการเอาข้อมูลมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งบริษัทใหญ่ๆ ทุ่มงบลงทุนพัฒนาขึ้นมาใช้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตัวเราเองแม้จะเป็นแบรนด์เล็กๆ แต่เมื่อต้องอยู่ในสนามรบเดียวกับผู้นำตลาดที่มีความแข็งแกร่งกว่า เราก็ต้องสู้ในแบบที่ตัวเองถนัด”


     และนี่คงเป็นบทพิสูจน์แสดงให้เห็นว่า แม้เป็นธุรกิจเกษตรแต่ถ้ามีนวัตกรรมก็ทำธุรกิจให้โดดเด่นและแตกต่างจนเป็นที่จับตาของตลาดได้ จากการพยายามพัฒนาและปรับปรุงธุรกิจอยู่ตลอดเวลานี่เอง จึงทำให้บริษัท เอ็ม เอส พี อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด สามารถคว้ารางวัล SME Thailand Inno Awards 2018 สาขารางวัลโดดเด่นด้านการบริหารจัดการองค์กรมาครองได้สำเร็จ
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น