มาแรง! ตลาด ‘โปรตีนจากพืช’ เกาะกระแสกินคลีน-รักษ์โลก ไม่บริโภคเนื้อสัตว์




Main Idea
 
  • ความนิยมในการบริโภคโปรตีนจากพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามกระแสรักสุขภาพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณว่า มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช มีมูลค่าประมาณ 6,321 ล้านบาท
 
  • คาดมูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพปี 2562 เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบจากปี 2561 โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืชจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6.4 ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูง




     โปรตีนจากพืช (Plant-based protein) ซึ่งผลิตจากพืชตระกูลถั่ว รวมถึงเห็ด และสาหร่าย กำลังได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสที่ผู้คนหันมาใส่ใจกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและดูแลสุขภาพของตนเองมากยิ่งขึ้น รวมถึงกระแสบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนทดแทนเนื้อสัตว์ เนื่องจากการปศุสัตว์ก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก การบริโภคโปรตีนจากพืชจึงถือว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคอาหารประเภทถั่ว รวมถึงพืชที่ให้โปรตีนสูงเพิ่มมากขึ้น เป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชประเภทถั่ว หรือเพาะเลี้ยงเห็ด รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากพืชตระกูลถั่ว ตลอดจนการประกอบธุรกิจอาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนสูง
 




กินโปรตีนพืชปลอดภัย เสริมคุณค่าอาหาร อร่อยไม่แตกต่าง



     โดยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ช่วยให้สามารถผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based protein) ซึ่งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนสูง แต่ไม่ได้ทำจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะการผลิตจากพืชที่ให้โปรตีนสูง (Protein-rich Plant) ทั้งการผลิตจากถั่ว ธัญพืช รวมไปถึง พืชตระกูลเห็ด รา หรือสาหร่าย แต่ที่ก้าวหน้ามากยิ่งไปกว่านั้น คือ การผลิตอาหารที่ทำจากพืชให้มีลักษณะทางกายภาพและรสชาติแบบเดียวกับเนื้อสัตว์ เพื่อให้ผู้บริโภคยังคงได้รับประสบการณ์ในการบริโภคอาหารเสมือนว่าได้รับประทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะมัยคอโปรตีน (Mycoprotein) ที่ผลิตจากการหมักจุลินทรีย์ ซึ่งนอกจากผู้บริโภคจะรู้สึกเหมือนกับได้รับประทานเนื้อสัตว์แล้ว ยังถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง และปลอดคลอเรสเตอรอล มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวต่ำ ให้พลังงานแคลลอรี่ต่ำกว่าอาหารประเภทเดียวกันที่ปรุงจากเนื้อสัตว์อีกด้วย
นอกเหนือจากความก้าวหน้าที่จะช่วยให้อาหารประเภทโปรตีนจากพืชมีรูปลักษณ์หรือรสชาติไม่ต่างจากเนื้อสัตว์แล้ว โปรตีนจากพืชยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งในแง่คุณค่าทางโภชนาการ การดูแลรักษาผิวพรรณและรูปร่าง การป้องกันกรดไขมันไม่อิ่มตัว ฮอร์โมน รวมถึงสารแอนตี้ไบโอติกที่จะอาจจะพบได้ในเนื้อสัตว์ การบริโภคโปรตีนจากพืช จึงถือว่ามีความสะอาดกว่าโปรตีนจากเนื้อสัตว์


     เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาบริโภคอาหารที่ผลิตจากพืชล้วน เนื่องจากการบริโภคเนื้อสัตว์ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน เพราะก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) จากอาหารเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก จากรายงานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2561) ระบุว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในภาคการเกษตรเทียบเท่ากับ 50.92 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์เทียบเท่ากับ 18.98 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ จะเห็นว่าการผลิตในภาคเกษตรยังคงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยาการค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับภาคการผลิตอุตสาหกรรม การบริโภคโปรตีนจากพืช จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
 




‘Meat free meat’
กินผัก รสชาติเนื้อ


     กระแสความความนิยมอาหารโปรตีนพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนเริ่มปรับเปลี่ยนไป โดยลดสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคจำนวนมากมีทัศนะว่าการหันมาบริโภคโปรตีนที่ไม่ได้ทำมาจากเนื้อสัตว์ถือเป็นทางเลือกที่เป็นผลดีกับสุขภาพ นอกจากนี้ยังปรากฏแนวโน้มความต้องการบริโภคทดแทนมื้ออาหารหลัก (Meal replacement) โดยผู้บริโภคจะเลือกรับประทานโปรตีนจากพืชแทนที่อาหารมื้อหลัก เช่น อาหารทดแทนที่ทำจากถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์นมจากพืชชนิดอื่น เช่น นมจากอัลมอนด์หรือวอลนัท


     สิ่งที่น่าสนใจ คือ ความต้องการบริโภคเนื้อ ซึ่งมิได้ทำมาจากเนื้อสัตว์ (Meat free meat) ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น เบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชล้วน เนื้อวัวหรือไก่เส้นที่ทำจากพืช แต่ได้รับการดัดแปลงให้มีกลิ่นและรสชาติแบบเนื้อทำให้ได้อรรถรสไม่ต่างจากการบริโภคเนื้อสัตว์ แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ การบริโภคอาหารแบบคำนวณค่าทางโภชนาการแบบแม่นยำ (Precision Nutrition) เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่พอดีกับความต้องการของร่างกาย ไม่มีปริมาณส่วนเกินสะสม การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เสริมที่สามารถสวมใส่ได้ มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคำนวณปริมาณสารอาหารที่บริโภคแต่ละครั้งได้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ผู้บริโภคจะสามารถเลือกได้ว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น สารอาหารที่มีโปรตีนสูง  
 

ครัวเรือนไทยยุคใหม่ หันมาบริโภคผักโตเพิ่มขึ้น


     ในกรณีของประเทศไทยนั้น พฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับการบริโภคผักที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงกระแสรักสุขภาพที่มุ่งลดบริโภคเนื้อสัตว์แต่หันมาเพิ่มการบริโภคผักทดแทน จากข้อมูลการบริโภคภาคครัวเรือนของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อรายจ่าย เพื่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของภาคครัวเรือน มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคผักกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ





     โดยในช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมานั้น สัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อค่าใช้จ่ายบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2533 การบริโภคเนื้อสัตว์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.2 ของค่าใช้จ่ายบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด ในขณะที่สัดส่วนการบริโภคผักอยู่ที่ร้อยละ 10.7 แต่ล่าสุดในปี 2561 สัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงเหลือร้อยละ 10.3 ขณะที่การบริโภคผักกลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นสวนทางกันและเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.2  ต่อการใช้จ่ายบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่าครัวเรือนไทยได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหันมาบริโภคผักมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหันไปบริโภคโปรตีนทดแทนจากพืช อันเกิดจากกระแสรักสุขภาพ
 

ส่องตลาดโปรตีนพืช ทำเศรษฐกิจโต


     เมื่อพิจารณาถึงกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้คำนวณมูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2561 โดยแบ่งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล (Functional) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือคาร์บอเนตเป็นส่วนผสม แต่จะมีการผสมสารอาหารหรือเส้นใยจากผักและผลไม้แทน 2.อาหารฟรีฟอร์ม (Free-form food) หรือกลุ่มอาหารที่ปราศจากส่วนประกอบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว คลอเรสเตอรอล ฮอร์โมน หรืออนุมูลอิสระที่เป็นสารก่อมะเร็ง 3.กลุ่มอาหารออร์แกนิค ไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และ4.กลุ่มโปรตีนจากพืชและนมจากพืช (Plant-based Protein)


     จากการคำนวณพบว่ามูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2561 มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยกลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด ประมาณ 54,378 ล้านบาท รองลงมาคือกลุ่มอาหารฟรีฟอร์ม มีมูลค่า 22,929 ล้านบาท กลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช มีมูลค่า 6,321 ล้านบาท และกลุ่มอาหารออร์แกนนิค มีมูลค่าประมาณ 3,060 ล้านบาท





     นอกจากนี้ยังได้ประมาณการมูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2562 โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวจากปี 2561 คิดเป็นร้อยละ 2.4 โดยเมื่อแยกตามกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพนั้น พบว่ากลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลน่าจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 61.9 ขณะที่กลุ่มอาหารฟรีฟอร์มเติบโตรองลงมาในสัดส่วนร้อยละ 26.7 กลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืชร้อยละ 7.6 และกลุ่มอาหารออร์แกนิคอยู่ที่ร้อยละ 3.8 และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืชศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคาดว่าในปี 2562 กลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืชมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 6.4 โดยมีมูลค่าความต้องการประมาณ 6,725 ล้านบาท ตามกระแสความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ทำให้ตลาดสินค้าโปรตีนจากพืชและนมพืชยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง



ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน