Eureka Coffee Tap เปิดสูตรครีเอทีฟคาเฟ่ ใช้วัตถุดิบไทยใส่กาแฟ




Main idea
 
  • ธุรกิจจะยั่งยืนได้ไม่ใช่เพราะความแปลกหรือแค่ทำตามกระแส แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างมีเหตุผลเพราะไม่เช่นนั้นความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นแค่ความเพ้อเจ้อ
 
  • Eureka Coffee Tap ศูนย์รวมเมนูสุดแปลกที่ดูไม่เข้ากันแต่กลับอร่อยล้ำจนลูกค้าหลายคนติดใจ เช่น เมนูไข่เค็มลาเต้ ชาไทยทุเรียน แต่ละเมนูนั้นมีกระบวนการคิดมาจากความต้องการของลูกค้าผสานกับความชอบของตนเองจนกลายเป็นเมนูสุดสร้างสรรค์ที่หาดื่มไม่ได้จากที่อื่น




     ธุรกิจจะยั่งยืนได้ไม่ใช่เพราะความแปลกหรือแค่ทำตามกระแส แต่ต้องเป็นธุรกิจที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปอย่างมีเหตุผลเพราะไม่เช่นนั้นความคิดสร้างสรรค์จะกลายเป็นแค่ความเพ้อเจ้อ แต่มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งที่เขาไม่ได้โดดเด่นแค่ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ทางร้านยังมีกระบวนความคิดที่ชัดเจนทั้งเรื่องการสร้างสรรค์เมนูที่แตกต่างไปจนถึงโมเดลการขยายธุรกิจที่น่าสนใจ




     Eureka Coffee Tap คือร้านกาแฟที่เรากำลังพูดถึง จาทัตยา กิตติบัณฑรและภูมิรัตน์ รังคสิริ ทั้งคู่เคยทำงานวงการโฆษณาและได้กระโดดออกนอกกรอบมาร่วมกันก่อตั้งร้านกาแฟสุดครีเอทีฟนี้ขึ้น เมนูของทางร้านจะเน้นการนำวัตถุดิบสไตล์ไทยๆ ใส่ลงไปในทุกเครื่องดื่มผสมผสานกับกาแฟ Cold Brew จากเครื่อง Nitro Tap ที่พวกเขาบอกว่า ‘เครื่องนี้น่าจะมาเปลี่ยนโลกกาแฟได้’


     ถ้าหากย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่แล้วจะเห็นว่าร้านกาแฟได้ผุดขึ้นมากมาย สิ่งที่เห็นได้ชัดกว่าคือความเหมือนกันในเรื่องของรสชาติที่แทบไม่แตกต่าง แต่ละร้านกลับใช้ความต่างในเรื่องของสถานที่ การตกแต่งเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจมากกว่าเรื่องของการพัฒนาเครื่องดื่ม จุดนี้เองที่ทำให้พวกเขาอยากเข้ามาสร้างอะไรใหม่ๆ ให้โลกของกาแฟ จาทัตยาเป็นผู้เล่าเรื่องราวเริ่มต้นของ Eureka ให้เราได้ฟัง
 



     “จริงๆ มันเริ่มมาจากที่พี่กานต์ (ภูมิรัตน์) เป็นคนชอบทำกาแฟ ส่วนกิ๊ฟ (จาทัตยา) ชอบทำอาหาร อย่างที่บอกว่าเรามีความ Eureka เป็นการค้นพบ ค้นเจอวัตถุดิบในกาแฟ อย่างไข่เค็มกับกาแฟมันดูไม่เข้ากัน แต่เราอยากถ่ายทอดออกมา หาวิธีว่าทำยังไงให้สามารถเอามาเป็นเครื่องดื่มที่เข้าใจง่าย รสชาติถูกปาก ส่วนหน้าตาก็ต้องเน้นสวยงามด้วย ตอนนั้นเราสนใจเครื่องกาแฟ Nitro Tap เครื่องกาแฟที่อัดก๊าซไนโตรเจน เรามองว่าตัวนี้น่าจะมาเปลี่ยนโลกกาแฟได้ เราเริ่มต้นจากการนำเครื่องนี้ไปขายในร้านกาแฟ เพราะเราเล็งเห็นปัญหาของร้านกาแฟว่าต้องพึ่งบาริสต้าในการชงกาแฟแต่ละแก้ว แต่เรามองกาแฟนั้นไปได้ไกลมาก ไปๆ มาๆ เราจึงเริ่มต้นทำร้านนี้ขึ้น” เธอเล่า


     ไฮไลท์ของร้าน Eureka Coffee Tap อยู่ตรงเมนูสุดสร้างสรรค์ที่พวกเขาได้นำวัตถุดิบของไทยมาผสมผสานกับกาแฟ Cold Brew ไปจนถึงชาเย็น ชาเขียวและอื่นๆ จนกลายเป็นเครื่องดื่มแฟนซีที่หาทานไม่ได้จากที่ไหน ต้อง Eureka เท่านั้น อาทิ ลาเต้ไข่เค็ม ชาเย็นทุเรียน มัทฉะใบเตย ความพิเศษคือพวกเขาจะมีการคิดค้นไซรัปสูตรลับเฉพาะที่เข้ากับเครื่องดื่มแต่ละเมนู ซึ่งจะเน้นรสชาติหวานจากธรรมชาติเท่านั้น หากคุณมีโอกาสได้ลิ้มลองเครื่องดื่มของ Eureka จะสัมผัสได้ถึงรสชาติที่ล้ำลึกกว่าเครื่องดื่มจากร้านทั่วไปที่จะใส่น้ำตาลหรือนมข้นหวาน




     “น้ำตาลที่ทางร้านใช้จะมีหลายอย่างมาก ส่วนใหญ่จะเน้นเป็นความหวานจากธรรมชาติ เช่น น้ำตาลมะพร้าว ตอนแรกเราจะตั้งโจทย์มาจากการที่ลูกค้าต้องการอะไรและเราใส่ความเป็นเราเข้าไปในสิ่งนั้น โดยพื้นฐานต้องมีคนต้องการก่อน อย่างน้ำตาลที่ใช้ทำซอสคาราเมลไข่เค็มก็เป็นน้ำตาลอีกแบบหนึ่ง ทุกเมนูจะมีน้ำตาลเฉพาะ ความหวานมันก็มีหลายแบบ น้ำตาลบางตัวมีความหวานแหลม บางตัวหวานแบบนุ่มๆ บางตัวหวานหอมอย่างน้ำตาลมะพร้าว บางตัวมีสี บางตัวไม่มีสี ทุกอย่างมันไม่เท่ากัน คุณต้องรู้ก่อนว่าคุณอยากได้อะไร แล้ววัตถุดิบในโลกนี้มันมีเยอะมาก จากนั้นเราก็ Test วัตถุดิบ สมมุติว่าเราเอาน้ำตาลมะพร้าวเราก็เอามาจาก 6 ที่ เราก็มาชิมหาที่ที่เราชอบที่สุด”
               

     ความสร้างสรรค์คือ 1 ในเหตุผลที่ทำให้ Eureka ประสบความสำเร็จ แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือโมเดลในการขยายธุรกิจที่พวกเขาคิดแปลกและแตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป ภูมิรัตน์ได้เล่าถึงแนวคิดในการขยายสาขา จากร้านแรกที่ศาลาแดง สู่สาขาที่ 2 3 และ 4 ในเวลาต่อมา
               



     “คอนเซปต์ที่เราคิดในการใช้เครื่อง Nitro Tap ทำกาแฟ Cold Brew มาจากโซลูชั่นที่มาจากปัญหาว่าคาเฟ่ดีๆ นั้นขยายตัวยากมาก เพราะต้องพึ่งฝีมือของบาริสต้า เราต้องอาศัยคนมีฝีมือมาลดความไม่แน่นอนของรสชาติในแต่ละแก้ว พอเห็นปัญหานี้เราเลยหาโซลูชั่นที่ทำกาแฟออกมาจากส่วนกลาง เรามีครัวกลาง ซอส ไซรัปทุกอย่างเราทำมาจากครัวกลางหมด ซึ่งความคิดนี้มาก่อนที่เราจะเปิดสาขาแรก ถ้าเราทำได้เราจะสามารถขยายธุรกิจนี้ได้โดยที่รสชาติยังเหมือนเดิม”
               

     จากจุดนั้นทำให้ร้าน Eureka เกิดใหม่อีก 3 ร้าน ตั้งอยู่ที่ช่องนนทรี, Icon Siam และหัวหิน ซึ่งแต่ละสาขามีความแตกต่างในเรื่องของโลเคชั่น แต่ความเหมือนกันคือ DNA ของ Eureka ที่ถอดแบบมาเป๊ะไม่ว่าร้านจะตั้งอยู่ที่ไหนก็ตาม
               



     “ต้องบอกว่า Eureka นั้นสุดโต่ง 2 ด้าน ด้านแรกเลยคือ Fancy Drink สุดโต่งด้านความสร้างสรรค์บวกกับราคา ไม่ใช่ลูกค้าทุกคนที่จะกินได้ทุกวัน อาจจะเหมาะกับในห้างหรือหัวหิน อีกด้านเราคือ Classic Drink ลาเต้ อเมริกาโน่ เราทำกาแฟในโหมด Specialty แต่เราขายราคาที่แตกต่างกันระหว่าง 2 อย่างนี้ให้เห็นชัดเลย จุดนี้ทำให้เราได้ลูกค้าประจำ เหมาะกับย่านศาลาแดง ช่องนนทรี ถ้าถามว่าร้านเราเหมาะกับที่ไหนที่สุดใน 4 โลเคชั่น เราตอบได้ว่าเราเหมาะหมดเลย แค่ต้องปรับการโปรโมตให้เหมาะกับแต่ละที่เพราะเรามีสินค้าที่ตอบโจทย์หมดแล้ว ร้านเดียวกัน เครื่องดื่มรสชาติเดียวกัน ต่างตรงกลุ่มลูกค้าในแต่ละที่ที่แตกต่างกัน”
               

     ความได้เปรียบของ Eureka คือความสามารถในการจับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายตั้งแต่วัยรุ่น คนทำงานไปจนถึงกลุ่มครอบครัว อีกทั้งมาตรฐานเครื่องดื่มของ Eureka ก็เป๊ะทุกแก้วซึ่งเกิดจากความตั้งใจในการขยายธุรกิจที่จะตัดปัญหาการผลิตที่หน้าร้านลง จนพวกเขาสามารถแตกยอด Eureka จาก 1 สาขาเป็น 4 สาขาในระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้นและนี่คือแง่คิดดีๆ ปิดท้ายจากหนุ่มสาว Eureka “เข้าใจตัวเองแล้วก็เข้าใจว่าเราอยากขายใคร เขาต้องการอะไรและเราอยากนำเสนออะไร ถ้าเจอจุดนั้นก็อยู่กันได้ยาว”
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี


 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน