การเดินทางของปลาอินทรีย์ทะเลใต้สู่ปลาเค็มพร้อมกินที่อยากพาอาหารไทยไปตลาดโลก

Text : Yuwadi.s 
Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์ 



 
Main Idea
 
  • จากปลาอินทรีย์ที่เดินทางมาไกลจากท้องทะเลใต้สู่ปลาเค็ม Ready to Eat ฉีกซองพร้อมทานภายใต้แบรนด์ Promptkin by เทพา ที่ถูกใจคนรักปลาเค็มด้วยรสชาติที่อร่อยเฉพาะตัว
 
  • นอกจากปลาเค็ม แบรนด์ Promptkin ยังมีสินค้าที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง โดยภัณฑิลา คือสาวรุ่นใหม่ที่ปลุกปั้นแบรนด์ Promptkin ตั้งเป้าไว้ว่าอยากพาแบรนด์อาหารไทยไปโกอินเตอร์ในระดับโลก



 
     เรือประมงของชาวบ้านออกเดินทางจากโซนสมุทรสาคร มุ่งหน้าสู่ทะเลใต้ ใช้เวลานานกว่า 3 เดือนก็จะได้วัตถุดิบจากท้องทะเลสดใหม่เพื่อส่งตรงมายังร้านค้า ร้านอาหาร ท้องตลาด จากนั้นวัตถุดิบเหล่านี้ก็จะกลายเป็นเมนูซีฟู้ดที่หลากหลายและหนึ่งในวัตถุดิบจากทะเลใต้ที่โดนใจใครหลายคนก็คือ “ปลาอินทรีย์” ที่ผ่านกระบวนการหมักเกลือแบบสดๆ ตั้งแต่บนเรือประมงจนได้เป็นปลาเค็มแสนอร่อยที่เข้ากันได้ดีกับมื้ออาหาร และนี่คือแบรนด์ปลาเค็มของคนรุ่นใหม่ที่ฉีกซองแล้วกินได้เลย ‘Promptkin by เทพา’ (พร้อมกินบายเทพา) 





     สาวรุ่นใหม่ผู้ทำให้แบรนด์ Promptkin เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายคนนั่นคือ ‘ภัณฑิลา เทพาคำ’ เธอได้แอบกระซิบเคล็ดลับที่ทำให้ปลาเค็มของเธอแตกต่างจากปลาเค็มทั่วไป คือเป็นเพราะกระบวนการหมักเกลือที่ต้องหมักในทันทีหลังจากจับปลาได้ ปลาเค็มของแบรนด์ Promptkin จึงมีกลิ่นเฉพาะตัวที่หาได้ยากจากปลาเค็มทั่วไป แต่คงหาไม่ยากเท่าไหร่หากคุณเดินเข้าไปใน Villa Market หรือ Foodland ซึ่งเป็นสถานที่ที่ปลาเค็มแบรนด์ Promtkin นั้นวางขายอยู่หรือหากใครไม่สะดวก จะสั่งซื้อทางออนไลน์ก็ได้เช่นกัน 





     ความพิเศษของปลาเค็มไม่ได้มีดีแค่ที่รสชาติอร่อยๆ เท่านั้น แต่ภัณฑิลายังได้ต่อยอดปลาเค็มที่ทานทั้งชิ้นให้กลายเป็นผงโรยข้าวปลาเค็มที่สามารถฉีกซอง โรยบนข้าวสวยร้อนๆ แล้วทานได้เลย เหมาะสำหรับการพกพาไปต่างแดนให้หายคิดถึงอาหารไทย 


     “ตอนแรกเราทำแค่ปลาเค็ม แต่ด้วยความที่เราเป็นคนเดินทางบ่อย พกปลาเค็มไปกินทั้งชิ้นก็ไม่ไหว เลยลองเอาปลาเค็มมายีแล้วทำเป็นปลาเค็มป่น จากนั้นผสมพริกกับผักโรยและก็มีสาหร่ายกับงา ปรากฏว่ามันโรยข้าวแล้วทานได้เลย มีกลิ่นปลาเค็ม ไปต่างประเทศสามารถพกไปได้ เอาไว้พกพา เพราะบางทีเราคิดถึงอาหารไทยไม่ไหวแล้ว ได้อันนี้โรยข้าวก็โอเค เลยทำเป็นสินค้าใหม่ที่ต่อยอดจากปลาเค็มขึ้นมา”





     ความฝันสูงสุดที่ภัณฑิลาตั้งธงเอาไว้ในใจคือการพาแบรนด์อาหารไทยไปเฉิดฉายอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเมืองนอก สิ่งที่เธอทำจึงเริ่มต้นจากการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ใช้ดีไซน์เข้ามาทำให้แบรนด์อาหารไทยมีเอกลักษณ์ในระดับสากล มีความทันสมัย เป็นไทยในแบบที่ไม่เชยอีกทั้งยังสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมา อย่างเช่น ‘สามเกลอเสมอใจ by เทพา’ ซึ่งเป็นกระเทียม พริกไทย รากผักชีแบบพร้อมทำ สามารถนำไปประกอบอาหารไทยได้อย่างสะดวกสบาย เหมาะสำหรับคนที่ชอบทำอาหารแต่อยากประหยัดเวลา ไปจนถึงการจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคุณแม่มือใหม่ อยากทำอาหารให้ลูกน้อยทานแบบอร่อยโดยไม่ต้องใส่ผงชูรส 


     “เราเริ่มคิดว่าครัวไทยอย่างครัวคุณยายของเราเองมันมีอะไรบ้างที่ทุกๆ ครัวจะต้องมี ก็พบว่าเมนูไทยๆ เกือบทุกเมนูจะต้องใช้กระเทียม พริกไทย รากผักชี เลยเป็นที่มาของตัวสามเกลอเสมอใจ สามารถใช้ได้กับทุกเมนู ใช้แทนผงชูรสได้เลย โดยตัวนี้จะเหมาะกับคนที่ชอบทำอาหารไทยและรักสุขภาพ เพราะว่ามันธรรมชาติมาก อย่างตัวสามเกลือเสมอใจเราจะทำการตลาดและโฆษณาออกไปเพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแม่ลูกอ่อนเลยว่ามันง่ายขนาดไหน ตัวโฆษณาของเราจะเป็นแม่ลูกอ่อน ที่เขาโขลกไม่ได้ แต่เขาจะทำแกงจืดให้ลูกทาน อาหารที่เขาจะทำมันต้องดีต่อสุขภาพด้วยจะใช้ผงชูรสก็ไม่ได้ เราก็สื่อสารออกไปว่าตัวนี้มันง่ายมากเลยนะ”





     นอกจากการสร้าง Content ที่สื่อสารให้ตรงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้ว ภัณฑิลายังมองเห็นความสำคัญของการทำการตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้ควบคู่กันไปอย่างกลมกลืน เพราะในยุคนี้ธุรกิจจะอยู่แค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่งไม่ได้อีกต่อไป 


     “เราเริ่มจากออนไลน์ก่อนออฟไลน์ เพราะออนไลน์เหมือนเป็นสถานที่ทดลองตลาดก่อน เราคุยกับลูกค้าได้หมดเลยว่าชอบไม่ชอบ จากนั้นเราก็ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต เรามองว่ากลุ่มลูกค้าออฟไลน์และออนไลน์ต่างกัน อย่างกลุ่มออฟไลน์จะเป็นแม่บ้านมากกว่า เขาอาจจะชอบเดินแล้วจับสินค้าก่อน ส่วนออนไลน์จะเป็นพวกสาวออฟฟิศ กลุ่มแม่ลูกอ่อน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าที่จะเดินทางไปเมืองนอก เราเลยจัดเซ็ตสำหรับลูกค้าที่จะไปเมืองนอกเลยคือมีทุกอย่างอยู่ในเซ็ต เป็นต้น บางทีเวลาเราทำ Online Marketing ปรากฏว่ายอดออนไลน์ไม่ขึ้น แต่พอไปเช็คช่องทางออฟไลน์กลับยอดขายขึ้นเพราะคนเห็นจากออนไลน์แล้วไปซื้อที่ห้างแบบนี้ก็มีเหมือนกัน”


     ภัณฑิลาได้ปิดท้ายหัวใจการทำธุรกิจสำหรับเธอไว้ว่าต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ตนเองหลงใหลและลงมือทำด้วยตนเองจริงๆ 


     “เราเป็นแบรนด์เล็กๆ เราเลือกสิ่งที่ไม่มีในตลาด เลือกจากสิ่งที่ชอบและทำทานเองจริงๆ สิ่งที่เราทำคือการรับฟังลูกค้าและปรับปรุงสินค้าไปเรื่อยๆ หากว่ามีความคิดเห็นไหนที่ลูกค้าบอกเยอะๆ ก็ต้องปรับปรุงเพื่อให้ลูกค้ามองเห็นว่าเรามีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น” เธอบอกในตอนท้าย 
 



 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน