ปลูกผักให้เป็นธุรกิจ ต้องคิดและทำแบบ “ฟาร์มผักอร่อย”

Text & Photo : จุดตัดเก้าช่อง





Main Idea

 
  • ฟาร์มผักอร่อย เป็นชื่อของโรงงานฟาร์มผักในจังหวัดสระบุรี ที่มีเครือข่ายเกษตรกรกว่า 50 ราย สามารถส่งผักขายได้สูงถึง 12-15 ตันต่อวัน โดยมีลูกค้ารายใหญ่คือ แม็คโคร
 
  • ฟาร์มผักแห่งนี้ได้รับมาตรฐาน GMP ทำให้มั่นใจได้ว่าผักที่มาจากโรงงานของพวกเขามีคุณภาพและได้รับรองความปลอดภัยไร้สารตกค้าง 100 เปอร์เซ็นต์  อีกทั้งผักทุกชนิดยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าผลิตจากที่ใดและใครเป็นเจ้าของ
 
  • จากความใส่ใจทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคส่งผลให้ฟาร์มผักอร่อยกลายเป็นฟาร์มต้นแบบธุรกิจด้านเกษตรกรรมครบวงจรทั้งผลิตเอง รับมาขายต่อ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรให้กับผู้สนใจอีกด้วย




     ธุรกิจเกษตรเป็นอีกหนึ่งธุรกิจปราบเซียน ที่ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยแวดล้อมที่พร้อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ยิ่งหากต้องการเป็นผู้ผลิตที่มีตลาดรองรับ ก็ยิ่งต้องใส่ใจกับเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และปรับตัว


     มาฟังกลยุทธ์ของ สมเกียรติ ลำพันแดง เจ้าของฟาร์มผักอร่อย และโรงคัดแยกตัดแต่งแพ็กบรรจุผักสด จังหวัด สระบุรี หนึ่งในฟาร์มต้นแบบที่ประกอบธุรกิจด้านเกษตรกรรมแบบครบวงจร ทั้งผลิตเอง และรับสินค้าจากเครือข่ายเกษตรกรกว่า 50 รายมาขายต่อ รวมถึงยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่อยากได้ความรู้ หรือผู้สนใจก็สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ทุกเมื่อ



 

ที่มาของธุรกิจฟาร์มผักอร่อยจากตลาดสดสู่ตลาดในร่ม


     “เราเริ่มธุรกิจธรรมดาๆ ในแวดวงตลาดสดที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายผักมาประมาณ 10 ปี จึงทำให้ในเวลานั้นเรามีฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะจังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดค้าส่งอยู่แล้ว ซึ่งพอเข้าสู่ปีที่ 11 ก็มีโมเดิร์นเทรดของแม็คโครเข้ามาติดต่อเพราะอยากได้ผักท้องถิ่นและต้องการผู้ที่สามารถรวบรวมผักส่งได้ จึงได้มีการมาพูดคุยกันและผมมองว่าเป็นความโชคดีของเราด้วยเพราะเรารู้จักกันผ่านตัวกลางอย่างแม้ค้าที่รับผักของเราไปทำอาหารขายที่ศูนย์อาหารแม็คโคร สมเกียรติกล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาธุรกิจให้ไกลกว่าการขายส่งในตลาดสด


     เขาเล่าเพิ่มเติมว่าในตอนนั้นเรายังไม่ได้มีฟาร์มของตัวเอง หากแต่เป็นการรับผักจากเกษตรกรมาขายในตลาดสด และช่วงแรกๆ ที่มีรับซื้อนั้น ตนเองยังไม่รู้จักระบบมาตรฐานด้านความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็น GAP หรือ GMP  แต่เมื่อเริ่มมาทำธุรกิจกับแม็คโครจึงทำให้มีเรื่องของสัญญาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งระบุว่าถ้าผักไม่มีคุณภาพหรือมีความเสียหายสามารถคืนสินค้าได้หมด โดยเขาเองไม่กล้าทำเพราะความรู้ทางด้านนี้มีน้อย แต่แม็คโครก็ให้ตัวเลือกอีกทางคือการซื้อขายแบบเงินสดแทน ผ่านมาประมาณครึ่งเดือนก็มีการเข้ามาพูดคุยเพิ่มเติมและตกลงเซ็นสัญญากัน ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้มีการนำเรื่องของมาตรฐาน GMP เข้ามาในส่วนการจัดสร้างห้องแพ็คผักที่สะอาด โดยได้รับความรู้จากทางหน่วยงานเกษตรจังหวัด รวมถึงการใช้มาตรฐาน GAP ในส่วนของผลผลิตของเกษตรกรที่อยู่ในเครือข่ายด้วย



 

มาตรฐานกับความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อธุรกิจ


     “เมื่อเรามีมาตรฐานทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น GMP การมีห้องแพ็คที่สะอาดและการมี GAP ผักปลอดภัยก็ทำให้เราไม่เพียงแค่ส่งขายให้กับแม็คโคร เราสามารถส่งขายไปยังที่อื่นได้ด้วย อย่างกลุ่มร้านอาหารในจังหวัด ร้านชาบู รีสอร์ท ภัตตาคารเขาใหญ่ เพราะกลุ่มเหล่านั่นต้องการผักที่อยู่ภายในพื้นที่และมีมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเราก็เป็นตัวเลือกต้นๆ ในจังหวัดสระบุรี มาตรฐานจึงเป็นเหมือนการเพิ่มช่องทางการตลาดให้เรามากขึ้น”


     และเมื่อถามถึงความแตกต่างของรายได้ระหว่างการปลูกแบบเดิมกับการมีมาตรฐานเข้ามา สมเกียรติเล่าว่าความจริงแล้วราคาผักปลอดภัยไม่ได้สูงมาก แต่มาตรฐานจะช่วยในการลดต้นทุนเพราะเมื่อเกษตรกรเข้าใจในการวางแผนการปลูก มีการจัดการที่ดีก็จะทำให้เกิดความยั่งยืน ส่วนตัวเขาเองก็จะมีผลผลิตที่เพิ่มเพราะสามารถส่งขายสินค้าได้สม่ำเสมอ ซึ่งถ้าเทียบการการขายในตลาดสดที่ไม่มีช่องทาง ไม่มีกลุ่มเป้าหมายในการติดต่อซื้อขาย เมื่อไหร่ที่มีคนสนใจอยากได้ผักที่ปลอดภัย ฟาร์มผักอร่อยก็จะเป็นทางเลือกต้นๆ ในการตัดสินใจของผู้ซื้อ



 

สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายเพื่อพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน


     “เราพูดให้เขาเห็นความเป็นจริงว่า ทำไมต้นทุนการผลิตของคุณถึงไม่สมดุลกับรายได้จนทำให้ขาดทุน ซึ่งเราจะให้เกษตรกรทำความเข้าใจเรื่องของต้นทุนก่อน ต่อมาเราจะพูดในเรื่องการวางแผนการปลูก ปลูกอย่างไรไม่ให้สินค้าล้นตลาด อย่างเช่น ในหนึ่งตารางกิโลเมตรปลูกได้กี่กิโลกรัม กี่วันถึงจะเก็บเกี่ยวได้ โดยเราจะอธิบายหลักการให้เขาเห็นและเขาก็จะทำตามเพราะในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่เมื่อมีพื้นที่เท่าไหร่เขาจะปลูกอย่างเดียวในทีละมากๆ แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้เกิดปัญหาการระบายสินค้าไม่ทัน ได้ราคาต่ำ จนสุดท้ายสินค้าเน่าเสียก็เกิดความเสียหาย”


     ปัจจุบันสมเกียรติมีเครือข่ายเกษตรกรมากถึง 50 กว่าราย โดยเขากล่าวต่อว่าการที่จะทำให้เกษตรกรเชื่อใจและเลือกที่จะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งร่วมกัน คือการอธิบายให้เห็นถึงความยั่งยืนเพราะถ้ามาทำงานร่วมกันเมื่อคุณผลิตสินค้าออกมา เกษตรกรสามารถนำมาขายให้ได้เลยไม่ว่าในช่วงเวลานั้นจะฝนตกหรือมีปัญหาอื่นๆ เข้ามาเพราะตนเองขายตลาดในร่มที่จะต้องมีคนเข้ามาซื้ออยู่แล้ว อีกทั้งเกษตรกรสามารถตั้งราคามานำเสนอและเขาก็พร้อมที่จะประกันราคาสินค้า แต่มีข้อแม้ข้อเดียวคือการซื่อสัตย์ต่อกัน





     “สำหรับเกษรตรกรรมบ้านเรา ถ้าไม่เก่งจริงหรือมีความตั้งใจก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคุณจะไม่รู้ว่ากว่าจะเป็นพืชแต่ละต้นจะต้องเจอทั้งอุปสรรคและปัญหามากมาย มันไม่ใช่ว่าปลูกแล้วโตเลย คนปลูกจะต้องรู้วิธีการดูแล การเอาใจใส่ แน่นอนว่าบางคนที่เลือกทำในเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่มักจะไม่ใส่ใจในเรื่องกระบวนการส่วนนี้ และมักแก้ไขปัญหาด้วยการใส่ปุ๋ย ฉีดยา หรือถ้าผลผลิตออกมาดีแต่ราคาสินค้าตกต่ำก็จะไม่คุ้มทุน แล้วจะไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งมันไม่มีจุดยืน”


     สมเกียรติแนะนำสำหรับกลุ่มคนที่ต้องการอยากทำธุรกิจ เช่น อยากให้เริ่มทำทีละนิด เริ่มจากการปลูกทานภายในครอบครัวแล้วค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับเรียนรู้กระบวนการ เอาใจใส่และมีการปรุงพัฒนาตลอดเวลา เพราะการทำเช่นนี้จะเกิดความยั่งยืนได้มากกว่า


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี




 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

เค้กหรือมายากล!? ไอเดียสุดแหวก! เมื่อ “ราเมน” กลายเป็นเค้ก

Bob The Baker Boy ร้านเค้กในสิงคโปร์ทำให้คำว่า “เค้ก” เปลี่ยนไปตลอดกาล จาก "หน้าตา" เค้กที่แทบทุกคนเห็นแล้วต้องหยิบมือถือขึ้นมาถ่าย! ไอเดียแบบนี้เกิดจากความตั้งใจของเมย์ ฟง เจ้าของร้านสุดครีเอทีฟ

ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด ฉบับทายาทรุ่น 3 จาก 3 แบรนด์เก๋า หอยนางรม-น่ำเอี๊ยง-เด็กสมบูรณ์

ธุรกิจครอบครัวที่ผ่านรุ่น 3 ไปได้ต้องทำอย่างไร ? เราจะพาไปดูวิธี ‘ทรานฟอร์มธุรกิจให้รอด’ จาก 3 แบรนด์เก๋า: หอยนางรม - น่ำเอี๊ยง - เด็กสมบูรณ์" ​ ที่ไม่เพียงรักษามรดกครอบครัวไว้ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆ อีกด้วย ​