แฟชั่นไทยต้องรอด! ไขทางออกธุรกิจแฟชั่นเมื่อโลกเข้าสู่ยุค Digital Disruption




Main Idea
 
  • คลื่นความเปลี่ยนแปลง เข้ามากระทบกับหลายอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ตลาดสวยๆ งามๆ อย่างโลกแฟชั่น ที่วันนี้กำลังถูกท้าทายจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
 
  • ผู้ประกอบการในธุรกิจแฟชั่น จะรับมือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอดในโลกอนาคต “ธนวัฒน์ เรืองเทพรัชต์” ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย พร้อมให้คำตอบในเรื่องนี้
 


               
     ในอนาคตอันใกล้โลกแฟชั่นจะเปลี่ยนไปอย่างไร คนจะสนใจแฟชั่นแบบไหน การแข่งขันในสนามนี้จะหนักหนาสาหัสแค่ไหน ธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ต้องปรับตัวอย่างไรถึงจะอยู่รอดในยุคต่อจากนี้
     นี่คือคำถามที่เหล่าคนแฟชั่นอยากรู้และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับโจทย์ใหม่ๆ ในโลกอนาคต ธนวัฒน์ เรืองเทพรัชต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย พร้อมให้คำตอบในเรื่องนี้
 



               
แฟชั่นในยุคแห่งความหลากหลาย
               

     ธนวัฒน์ เรืองเทพรัชต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย บอกเราว่า แนวโน้มหลังปี 2563  จะเห็นเมกะเทรนด์ตัวหนึ่ง นั่นคือ ความหลากหลาย (Diversity) โดยในอดีตแฟชั่นจะมีรูปแบบของตัวเอง แต่ยุคต่อจากนี้ความหลากหลายจะเป็นตัวบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงในการทำแฟชั่นอย่างมาก


     “สมัยก่อนเราถูกสอนเรื่อง Positioning (การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์)  แบรนด์ทุกแบรนด์ต้องมีจุดขาย มีความแตกต่าง การทำเสื้อผ้าก็เช่นเดียวกัน แต่ในอนาคตคนรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียน (Millennial) อายุ 18-30 ปี คำว่า แบรนด์โพสิชันนิ่งอาจใช้ไม่ได้กับคนรุ่นเขา  มันจะเข้าสู่กระบวนการคิดอีกแบบหนึ่ง คือ แบรนด์ต้องสร้างคัลเจอร์ (Culture) ของแบรนด์ ถึงจะอยู่รอดได้ในอนาคต ตัวอย่างเช่น หลุยส์ วิตตอง ขายของแพง คนรุ่นใหม่ถ้าชอบก็ใช้ แต่ถ้าไม่ชอบก็ไม่ใช้  ซึ่งหาก หลุยส์ วิตตอง ไม่ปรับตัวและทำให้แบรนด์ตัวเองดูแก่ มันจะถึงจุดที่คนรุ่นใหม่จะไม่ใช้ แต่มันจะมีลักชัวรี่แบรนด์ (Luxury Brand)  สำหรับคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ ฉะนั้นแบรนด์เก่าแก่เหล่านี้ถ้ายังอยากจะอยู่ต่อนอกจากต้องทำให้ตัวเองดูเด็กลงแล้ว ยังต้องสร้างคัลเจอร์บางอย่าง ซึ่งเทรนด์การสร้างคัลเจอร์ในสินค้าแฟชั่นจะสำคัญมากขึ้นนับจากนี้”





     เขาบอกอีกว่ายุคก่อนเราบอกว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก ยุคนี้ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปลาเร็วกินปลาช้า ซึ่งปลาเร็วก็คือแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยที่จะมากินปลาใหญ่หรือแบรนด์ดังๆ ที่ขยับตัวช้า แต่ทว่าโลกยุคใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2563 -2564 นั้น เราจะได้เห็นปลาใหญ่ที่ว่ายเร็วมากขึ้น ผ่านระบวนการจัดทัพความคิดใหม่ ฉะนั้นใครจะทำสินค้าแฟชั่น เทรนด์ของโลกในอนาคตต้องเป็นปลาเล็กที่กินปลาเร็วให้ได้
 

จับตา 5 ปีข้างหน้า จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก


     ยังมีอะไรท้าทายอีกมากในอุตสาหกรรมแฟชั่นในวันหน้า ธนวัฒน์ บอกเราว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเคยถูกมองว่าเป็น Sunset เป็นขาลงเพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานคนเยอะมาก แต่ในวันนี้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามา กำลังเปลี่ยนโลกสิ่งทอให้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง





     “วันนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกลมาก ผมเพิ่งกลับมาจากไต้หวัน ที่นั่นเขามีเครื่องสแกน 3 มิติ ตัวหนึ่ง อยากได้เสื้อแบบไหน สีไหน คับหรือหลวม สามารถเลือกและกดดูได้เลย ไม่เกินสิบนาทีจะได้แบบที่ต้องการ จากนั้นกดสั่งพิมพ์ 50 นาทีมารับเสื้อได้ นี่เป็นเสื้ออย่างง่าย  แต่ว่าตอนนี้เขากำลังตั้งไลน์ผลิต สำหรับการผลิตชิ้นงานยากๆ สมมติมีจักร 10 ตัว มีคน 6 คน สมัยก่อน 6 คนนี้ต้องเป็นช่างเย็บ แต่วันนี้เขาบอก 6 คนนี้ ไม่ต้องมีทักษะอะไรเลย ทำเป็นอย่างเดียวพอคือหยิบชิ้นงานจากจักรเบอร์หนึ่งไปจักรเบอร์สองให้ถูกก็พอ เพราะว่าตอนนี้เขายังผลิตหุ่นยนต์มาหยิบผ้าไม่ทัน ซึ่งถ้าทำได้ 6 คนนี้ก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ นี่เป็นการทำงานของโรบอตในอนาคต ซึ่งการันตีได้ว่าไม่เกิน 5 ปี มันจะทำได้เร็วมาก” ธนวัฒน์ บอก


     เขาบอกอีกว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้โลกอนาคต จะผลิตที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องมาผลิตที่เมืองจีนอีกต่อไป อย่างวันนี้ อเมริกามีปัญหากับจีน แต่จีนสามารถส่งหุ่นยนต์ไปตั้งฐานผลิตที่อเมริกาได้ เรียกว่า อยากได้ Made in USA ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ซึ่งนี่จะเป็นการเปลี่ยนโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของโลกทั้งโลกเลยก็ว่าได้
 




ผู้ประกอบการไทยรับมืออย่างไรในโลกอนาคต



     ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแฟชั่นแห่งประเทศไทย  บอกเราว่า ในอนาคตต้นทุนของเครื่องจักรต่างๆ จะถูกลง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าไป จึงเป็นยุคที่สิ่งทอต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Automation) ในที่สุดคำว่า การผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น(Labor Intensive) ก็จะหายไป แต่จะเป็นการผลิตขั้นสูง ใช้คนไม่มากแต่เก่งและทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติได้


     “ผู้ประกอบการกลุ่มบนจะปรับตัวอย่างไร ต้องมองว่าประเทศไทยไม่ใช่ฐานเดียวของเราอีกต่อไป เพราะโลกมันเปลี่ยน เราต้องโตไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เมืองไทยประเทศเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้โมเดลธุรกิจของเรามีความยืดหยุ่น หรือมีความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องได้ ดังนั้นถ้าคุณเป็นธุรกิจใหญ่คุณต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้  ต้องทรานส์ฟอร์มธุรกิจคุณ และต้องมีแหล่งผลิตมากกว่า 1 แหล่ง ส่วนผู้ประกอบการกลุ่มกลาง  มีทางเดียวคือต้องปรับโมเดลทั้งหมด ว่าคุณจะไปผูกกับซัพพลายเชนตรงไหน แล้วต้องปรับตัวให้เร็ว ส่วนรายเล็กก็ต้องนิช (Niche) ต้องเก่งเฉพาะทางให้ได้ อย่างที่ไต้หวัน เขามีพวกสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษ (Functional Textile) พวกนี้เป็นบริษัทเล็กทั้งนั้นเลย แต่เขาอยู่ได้ เพราะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ และสามารถปรับตัวเข้ากับความต้องการของตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วด้วย” ธนวัฒน์สรุปในตอนท้าย   
               



     และนี่คืออนาคตของอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นโลก ที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามอง ซึ่งหากปรับตัวได้ก่อน คุณก็จะอยู่รอดและเป็นผู้กำหนดชะตากรรมและความสำเร็จด้วยตัวเองได้
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน