รู้ยัง! โคล่าก็ทำขายเองได้นะ รู้จัก ‘aircraft’ แบรนด์คราฟท์โคล่าที่คูลสุดในยุค Slow Food

Text : รุจรดา Photo : กิจจา อภิชนรจเรข




Main Idea
 
  • ในช่วงขณะที่เทรนด์ Slow Food กำลังมา ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสิ่งที่รับประทานมากขึ้น และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสารที่ใส่ลงไปในอาหารระบบอุตสาหกรรม มีความกังวลเรื่องสารกันบูด เราจึงได้เห็นเชฟลุกขึ้นมาทำน้ำปลา แยม หรือซอส หรือกระทั่งเครื่องดื่มต่างๆ ด้วยตัวเอง
 
  • มาทำความรู้จักกับ Craft Cola Maker คนแรกของเมืองไทย ที่ปรุงโคล่าสูตรเฉพาะเป็นทางเลือกให้ลิ้มลองกัน
 
  • aircraft พลิกแพลงรสชาติด้วยวัตถุดิบที่หาได้ในประเทศไทย จากการตั้งคำถามว่า “ทำไมจะไม่ได้” กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้แบรนด์



     อากาศร้อนๆ ถ้าได้โคล่าซ่าๆ สักแก้วคงดี พอคิดได้แบบนั้นเราก็คงเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ หยิบน้ำดำแบรนด์ดังจากตู้แช่เย็น เทใส่น้ำแข็งแล้วยกขึ้นดื่มดับกระหาย แต่กับ กิฟ–ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ เธอไม่ต้องเดินออกไปซื้อโคล่าจากที่ไหน ในเมื่อเธอปรุงดื่มเองได้ แถมยังวางขายให้เหล่าคนรักโคล่ามาลิ้มลองอีกด้วย


               



      “เราชอบดื่มโคล่า ก็เลยอยากมีโคล่าเป็นของตัวเอง” เธอบอกถึงความคิดแรกเริ่ม หลังได้หนังสือที่บอกสูตรการทำคราฟท์โซดาหลากหลายสูตรมา รวมถึง Natural Cola มาอยู่ในมือจึงลองทำตาม แน่นอนว่าครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จจนถอดใจไปพักหนึ่ง กระทั่งเมื่อต้องคิดค้นเมนูใหม่ๆ วางขายในร้านกาแฟ Roastology นอกจากน้องๆ ที่ร้านจะคิดเมนูมานำเสนอ เจ้าของร้านอย่างกิฟก็เล่นด้วย เธอเปิดตำราที่ว่านั้นอีกครั้ง แล้วเริ่มทำโคล่ามาให้ทีมงานและลูกค้าชิม ก่อนจะทดลองขายในงาน Bangkok Design Week 2019 ผลตอบรับที่ได้ ทำให้เธอตัดสินใจสร้างแบรนด์ “aircraft” ขายคราฟท์โคล่าโดยเฉพาะ และกลายเป็น Craft Cola Maker คนแรกของเมืองไทย
               





      “ที่จริงเมืองไทยมีคนที่ทำ Craft Soda หลายแบรนด์ แต่เราเป็นแบรนด์แรกที่บอกว่าทำ Craft Cola เราอยากปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ประกอบกับเรามีคาเฟ่อยู่แล้วก็เลยทำคราฟท์โคล่าโดยที่ไม่ได้เอาลงขวดเหมือนแบรนด์อื่น แต่ทำและเสิร์ฟตรงหน้าลูกค้า มีลักษณะเป็นบาร์โคล่า”
               




      ภายในร้าน Roastology ในซอยศาลาแดง 1 แบ่งมุมเล็กๆ ให้เป็นพื้นที่ของแบรนด์ aircraft ตรงนี้เองที่กิฟเทโคล่าไซรัปที่เตรียมเอาไว้แล้วมาผสมกับน้ำ เขย่าน้ำแข็งแล้วอัดแก๊สลงไปเพื่อให้โคล่าซ่าสมใจ ก่อนจะเสิร์ฟให้ลูกค้า
               




      กิฟเล่าย้อนถึงการกำเนิดของโคล่าว่าเกิดในร้านขายยา เภสัชกรเอาของในร้านมาปรุงเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มีถั่วโคล่า (Cola Nut) เป็นส่วนประกอบกลายเป็นชื่อเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วน้ำโคล่าเกิดจากส่วนประกอบหลัก 3 ชนิด คือ ซินนามอน วานิลลา และซิตรัส ที่ทำให้เกิดคาแรกเตอร์สำคัญของโคล่า ผสมเข้ากับน้ำแล้วอัดแก๊ส โดยที่ใส่ถั่วโคล่าเพราะต้องการคาเฟอีนที่ทำให้คนดื่มรู้สึกสดชื่นเท่านั้น
               




      “เวลาที่เราดื่มโคล่า เราดื่มกลิ่นและรสของวัตถุดิบอื่นๆ ซึ่งในสูตร Natural Cola หลายสูตรก็ไม่ได้ใช้ถั่วโคล่าเป็นส่วนประกอบ เหมือนกับโคล่าของเราที่ใช้กาแฟแทนเพราะไม่มีโคล่าในประเทศ ต้องนำเข้าจากแอฟริกา พอกลับมามองว่าเราทำธุรกิจกาแฟอยู่แล้ว มีโรงคั่วของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นใช้กาแฟแทนก็ได้ เพราะให้สีธรรมชาติ ให้กลิ่นที่ดีและมีคาเฟอีน เราใช้กาแฟไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบท้องถิ่น ซึ่งเข้ากับเทรนด์ตอนนี้ที่คนหันมากินสิ่งที่หาได้ในท้องถิ่นมากขึ้น สนับสนุนวัตถุดิบที่อยู่ในประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ก็มีมะกรูด มะนาวแป้นซึ่งหาได้ในไทยอยู่แล้วใส่ลงในสูตรของเราด้วย”
               

       คราฟท์โคล่าแตกต่างจากโคล่าในระบบอุตสาหกรรม เพราะสามารถรังสรรค์กลิ่นและรสขึ้นอยู่กับ Cola Maker เลือกใช้ กิฟบอกเราว่า มีโอกาสได้ลองลิ้ม Craft Cola จากหลายที่ ยกตัวอย่าง โคล่าจากญี่ปุ่นที่มีกลิ่นกล้วยหอม หรือมีแบรนด์ไทยที่ใส่กระเจี๊ยบลงไปก็เป็นส่วนประกอบที่น่าสนใจ
               

       “พอได้ทำโคล่าแล้วก็รู้สึกว่าสามารถพลิกแพลงได้อีกเยอะ ถ้าเราตั้งคำถาม”
               

      แล้วเธอก็ตั้งคำถามเข้าจริงๆ ว่า โคล่าจำเป็นต้องมีแก๊สไหม หลังจากที่เข้าร่วมโครงการของ TCDC ซึ่งเมนเทอร์ผู้ให้คำปรึกษาไม่ชอบดื่มโซดาและไม่ชอบโคล่าที่ขายในเชิงอุตสาหกรรม แต่กลับชอบรสชาติแบบ aircraft
               

      “เทียบกับร้านกาแฟจะมีเมนูหมวดที่เป็น Non-Coffee อยู่ด้วย ในเมื่อเราเป็นแบรนด์ที่ผลิต Carbonate Drink หรือ โซดา จะทำเครื่องดื่มแบบ Non-Soda บ้างก็ได้นี่นา เป็นวิธีคิดกลับไปกลับมา เพื่อแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่อาจเป็นโรคกระเพาะไม่อยากดื่มอะไรซ่าๆ ก็เลยพัฒนาโคล่าแบบไม่มีแก๊สขึ้นมา”
               




      เธอให้ชื่อเมนูโคล่าที่ไม่ซ่าว่า Flash Back เป็นเครื่องดื่มที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับได้ดื่มชาดำเย็นหรือชามะนาว รสชาติจัดกว่าแบบซ่าเพราะไม่มีแก๊สมาลดทอนประสาทสัมผัสบนลิ้น ออกรสหวานมากกว่า หากใครที่เป็นสาวกชามะนาวอยู่แล้วน่าจะหลงรักเมนูนี้


      “เราอยากให้ทุกคนได้ชิมโคล่า ซึ่งหากจุดที่กั้นเราไว้คือการที่มีแก๊ส ก็ลองดื่มแบบไม่มีแก๊สได้” เธอบอก
               

      แบรนด์ aircraft เกิดขึ้นมาในช่วงที่เทรนด์ Slow Food กำลังมา ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสิ่งที่รับประทานมากขึ้น และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสารที่ใส่ลงไปในอาหารระบบอุตสาหกรรม มีความกังวลเรื่องสารกันบูด เราจึงได้เห็นเชฟลุกขึ้นมาทำน้ำปลา แยม หรือซอสเอง เช่นเดียวกับที่แบรนด์คราฟท์โคล่าเกิดขึ้นมากมายในทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา


               



     “พอมีโคล่าเป็นของตัวเองทำให้ดื่มได้บ่อยขึ้นเพราะไม่มีสารเคมีที่เรารู้สึกว่ากินเข้าไปแล้วมีปัญหา ก็จะเหลือแค่เรื่องน้ำตาลที่คนปัจจุบันจะกลัวมากเป็นพิเศษ รู้สึกว่าเป็นภัยร้ายที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาน แต่ในอีกแง่หนึ่ง เรามองว่าน้ำตาลเป็นพลังงานของสิ่งมีชีวิต มีแง่มุมที่ดี แต่ช่วงนี้เรากำลังโฟกัสเรื่องที่ไม่ดีของมัน แต่ว่าถ้าเรากินแบบมีสติ รู้ว่ากินปริมาณเท่าไรจึงพอ แล้วจะใช้มันอย่างไร น้ำตาลก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราไม่อยากกิน เราก็เลือกอาหารทางเลือกที่ดีขึ้น”



 
Info      
แบรนด์ aircraft  
ig : aircraft.bkk
fb : @aircraftbkk
email : aircraft.bkk@gmail.com
ติดต่อ(คาเฟ่) : 06-2381-8333
 


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น