ครั้งแรกในสยาม! ‘เดวา ฟาร์ม’ ปลูกพืชเมืองหนาวอย่าง ฮอปส์ ให้ออกดอกได้ในเมืองไทย

TEXT : รุจรดา วัฒนาโกศัย  



 
Main Idea
 
  • ‘เดวา ฟาร์ม’ เริ่มต้นจากคนรักสุขภาพที่ปลูกผักออร์แกนิกกินเองในครอบครัว พลิกสู่ Smart Farmer ผู้สามารถปลูกพืชเมืองหนาวอย่าง ฮอปส์ ให้ออกดอกได้ในเมืองไทย เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์แผ่นดินสยาม 
 
  • จากการนำนวัตกรรมมาปรับใช้ ทำให้ได้ผลผลิตฮอปส์ที่ดี ออกดอกได้ภายในเวลาแค่ 4 เดือน และสามารถผลิตคราฟเบียร์ที่มีวัตถุดิบเป็นของตัวเองภายใต้แบรนด์ ‘เทพพนม’ พร้อมนำฮอปส์ไปเปิดตลาดทั่ว  South East Asia 
 
  • การทำสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ด้วยนวัตกรรม พลิกโอกาสธุรกิจให้ เดวา ฟาร์ม และยังทำให้พวกเขาคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ในปีนี้มาได้อีกด้วย




 
     ใครจะคิดว่าวันหนึ่งพื้นที่อย่างจังหวัดนนทบุรี ที่อากาศไม่หนีจากอุณหภูมิในกรุงเทพฯ สักเท่าไร จะสามารถปลูกพืชเมืองหนาวอย่าง ฮอปส์ (Hops) ที่ปกติต้องปลูกในพื้นที่อากาศติดลบได้ เปลี่ยนภาพจำการทำเกษตรให้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง 




     นี่คือผลงานของ ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ แห่งเดวา ฟาร์ม (Deva Farm) ที่เกิดจากแรงบันดาลใจแค่ต้องการใช้ดอกฮอปส์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตคราฟต์เบียร์ของตัวเอง สู่การสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่คนทั้งประเทศต้องยกนิ้วให้ 


     “ก่อนหน้านี้ผมทำบริษัทซอฟต์แวร์ แล้วไปเรียนทำคราฟต์เบียร์เป็นงานอดิเรก ทำให้รู้ว่าวัตถุดิบของการทำเบียร์ต้องนำเข้าแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะ มอลต์จากข้าวบาร์เลย์ ยีสต์ และฮอปส์ซึ่งต้องนำเข้าจากอเมริกา เยอรมนี นิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย และราคาฮอปส์จะสูงถึงประมาณกิโลกรัมละ 2,800 บาท เห็นชัดเลยว่าเราจะทำคราฟต์เบียร์แต่ไม่มีอะไรที่เป็นของท้องถิ่นในไทยเลย จากวัตถุดิบหลักทั้งหมด เราเลยเลือกเอาฮอปส์มาปลูกเองเพราะต้นไม่ใหญ่มาก และฮอปส์ 1 ต้นสามารถใช้ทำเบียร์ได้ถึง 20 ลิตร ปลูกรอบหนึ่ง 100-200 ต้น ก็เพียงพอจะใช้ทำเบียร์ได้เยอะแล้ว”


     งานอดิเรกในช่วงแรกกลายมาเป็นธุรกิจหลักเมื่อต้องปิดบริษัทซอฟต์แวร์ลง ด้วยสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตลาดคราฟต์เบียร์เติบโตขึ้น โดยดูได้จากในปี 2558 ที่มีผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ประมาณ 10 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็นหลักพันราย และในจำนวนนี้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้นับ 100 ราย 


 
  • เปลี่ยนระบบปลูกผักสลัดมาปรับใช้ในการปลูกฮอปส์

     ณัฐชัยเริ่มงานของเขาด้วยการลงไปศึกษาทำความเข้าใจธรรมชาติของฮอปส์ เขาบอกว่า โดยปกติการปลูก ฮอปส์ต้องอาศัยอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศา เป็นเวลา 1-2 เดือน ซึ่งอากาศเมืองไทยช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิง การทดลองในช่วงแรกจึงใช้การปลูกในห้องแอร์ ควบคุมอุณหภูมิที่ประมาณ 20 องศา และใช้ไฟจำลองแทนแสงจากดวงอาทิตย์โดยตรง โดยเริ่มจากปลูกในกระถางจนสามารถออกดอกได้ก็ลองนำมาปลูกข้างนอกห้องในสภาพอากาศปกติ 




     แต้มต่อที่ณัฐชัยมี ไม่ใช่ความรู้ด้านการเกษตร แต่คือทักษะของวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่สามารถใช้ระบบสมาร์ทฟาร์มเข้ามาบริหารจัดการฟาร์มของตนเอง โดยเขาเคยปลูกผักสลัดไฮโดรโพนิกส์เพราะอยากให้ตนเองและครอบครัวได้กินผักปลอดสารพิษ จึงได้ออกแบบระบบอัตโนมัติ มาควบคุมการให้ปุ๋ยและน้ำ และพัฒนามาใส่ตัวเซ็นเซอร์ให้สามารถแจ้งเตือนที่มือถือ ทำให้สามารถวางแผนการปลูกพืชได้ดีขึ้น พอคิดจะปลูกฮอปส์ก็ลองนำระบบดังกล่าวมาพัฒนาต่อ จากที่เคยควบคุมแค่ปุ๋ยกับน้ำก็มาทำเรื่องอุณหภูมิ โดยเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ  จนปัจจุบันสามารถควบคุมได้ทั้งการให้น้ำ ปุ๋ย คุมอุณหภูมิ แสง และความชื้น มีระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมทุกอย่างเพื่อให้ฮอปส์เติบโตได้ในเมืองไทยที่ร้อนถึง 40 องศา


     “ต้นไม้แต่ละชนิดมีความต้องการไม่เหมือนกัน แต่เราสามารถใช้พื้นฐานเรื่องสารอาหาร แร่ธาตุ อุณหภูมิต่างๆ มาต่อยอด อย่างพวกปุ๋ยเราต้องคิดสูตรเอง ไม่ใช้สูตรมาตรฐานที่ขายกันในท้องตลาด แล้ววัสดุปลูกก็นำเข้ามา ไม่มีใครปลูกในไทย ที่อเมริกาก็มีคนปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์แค่ไม่กี่ราย และข้อมูลก็เป็นความลับหมด เราจึงต้องศึกษาหาข้อมูลและพัฒนาสูตรปุ๋ยของตัวเอง เพื่อให้ฮอปส์เติบโตได้ดี เราต้องคุมอุณหภูมิไปจนถึงคุมปุ๋ยและแร่ธาตุที่ต้นฮอปส์สามารถดูดซึมได้ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น เหมือนการปลูกผักสลัด ปุ๋ย และสารละลายที่ใส่ไปต้องเข้าไปคุมให้น้ำเย็นลง ทำอย่างไรให้พืชดูดซึมได้ในช่วงหน้าร้อน เราจึงพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยควบคุมเรื่องเหล่านี้” เขาบอก 


     การปลูกฮอปส์ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน โดยเป็นพืชที่โตเร็ว ในเวลา 3 เดือนต้องเลื้อยให้ถึง 10 เมตร ซึ่งนั่นเท่ากับต้องใช้ปุ๋ยจำนวนมหาศาล แร่ธาตุก็ต้องเหมาะสม จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวดอกได้ดี ซึ่งปัจจุบันผลผลิตฮอปส์ขายกันในราคาประมาณ 2,000 บาทต่อกิโลกรัม


     “สิ่งที่เราต้องการคือ น้ำมันในดอกฮอปส์เพื่อให้รสชาติขมและกลิ่นหอมในเบียร์ ซึ่งถ้าเราดูแลเรื่องการเติบโตได้ดี ให้แสงที่ดี ให้ปุ๋ยที่ดี ก็จะสามารถไปเพิ่มน้ำมันให้เยอะขึ้นได้” 


 
  • สมาร์ทฟาร์มเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นไปได้

     ระบบสมาร์ทฟาร์มที่ณัฐชัยคิดค้นขึ้น ทำให้การปลูกพืชเมืองหนาวอย่างฮอปส์ที่ผู้คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ในเมืองไทย สามารถเกิดขึ้นจริงได้ด้วยนวัตกรรม ซึ่งนอกจากจะได้ผลผลิตเป็นดอกฮอปส์มาใช้การผลิตคราฟต์เบียร์แล้ว ยังส่งผลถึงการสร้างระบบการจัดการฟาร์มที่สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นได้ด้วย ซึ่งการวางระบบที่พวกเขาทำไว้ ส่งอานิสงส์หลายอย่างคือ ลดแรงงานคน ด้วยการมีระบบ มีข้อมูล ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้คนลงไปดูแลเอง และลดต้นทุน เพราะการปลูกในโรงเรือนสมาร์ทฟาร์มแทบจะไม่มีปัญหาวัชพืช ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกำจัด พอใช้คนน้อยลงต้นทุนก็ลดลงไปด้วย 


     นอกจากนี้ระบบสมาร์ทฟาร์มยังช่วยเก็บข้อมูลทุกอย่างได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสภาพอากาศ การเติบโต โดยสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ ทำให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นว่ารอบหน้าจะวางแผนการปลูกอย่างไร จะปรับปรุงตรงไหน ถ้าอากาศร้อนขึ้นจะส่งผลอย่างไรกับตัวต้นบ้าง นี่คือสิ่งที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยวางแผนที่ดีให้กับการเกษตรยุคใหม่ได้ 




     โดยปกติแล้วการทำเบียร์มักใช้ดอกฮอปส์แห้ง แต่มีบางครั้งสามารถเก็บเกี่ยวดอกสดแล้วใช้ภายใน 48 หรือ 64 ชั่วโมง เพราะฮอปส์ก็เหมือนดอกไม้ทั่วไปที่แห้งเหี่ยวได้ ซึ่งแต่ก่อนหากนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ผลิตเบียร์ในไทยไม่มีโอกาสใช้ดอกสดเลย หรือหากทำได้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป แต่ตอนนี้เดวา ฟาร์มสามารถส่งดอกสดให้กับคนทำคราฟต์เบียร์ในแถบอาเซียนได้โดยใช้รถห้องเย็นส่งภายใน 24 ชั่วโมงแล้ว นี่คือความไม่ธรรมดาของพวกเขา
 
 
  • นวัตกรรรมทำซ้ำได้ ช่วยขยายธุรกิจให้เติบใหญ่

     เมื่อทำระบบสมาร์ทฟาร์มได้ดี ณัฐชัยจึงขยายฟาร์มของเขาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีถึง 6 โรงเรือน และวางแผนจะขยายเพิ่มอีกเป็น 10-20 โรงเรือนในปีหน้า 


     “ระบบสมาร์ทฟาร์มพอทำได้แล้วเราก็สามารถทำซ้ำได้ และจะขยายไปปลูกที่อื่นก็ได้ด้วย แต่ถ้าเราไม่มีระบบหากอยากไปปลูกที่อื่นก็ต้องไปดูดินใหม่ ต้องปรับพื้นที่และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เมื่อมีระบบแล้วไม่ว่าจะปลูกตรงพื้นที่ไหนแค่เอาอุปกรณ์ไปลงก็สามารถปลูกอย่างเราได้เลย โดยเราวางแผนจะไปปลูกที่เขาใหญ่หรือเชียงราย ภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งอากาศเย็นกว่า ก็น่าจะได้ผลผลิตที่ดีขึ้นด้วย” เขาบอกแผนในอนาคต




     องค์ความรู้ที่หลายคนอาจมองว่ายากและไกลตัว แต่ณัฐชัยเรียนรู้ด้วยการคิดและหาข้อมูลด้วยตัวเอง เพราะเดวา ฟาร์ม คือรายแรกและรายเดียวในเอเชียที่ปลูกฮอปส์ แต่ในอนาคตเราอาจได้เห็นเพื่อนพี่น้องในวงการคราฟต์เบียร์หรือวงการเกษตรหันมามองศักยภาพของพืชชนิดนี้กันมากขึ้น


     “ผมมองว่าธุรกิจปัจจุบันสามารถหาข้อมูลได้มากขึ้น เพราะสามารถหาทุกอย่างได้ง่ายๆ ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้เรามีความรู้ใหม่ๆ สำหรับผมคำว่านวัตกรรมไม่ได้แปลว่าเราต้องคิดเองทั้งหมด แต่สามารถเอาความคิดหลายๆ อย่างของคนอื่นมาประยุกต์และต่อยอดเป็นของเราเองได้ เช่นการได้ไอเดียดีๆ จากธุรกิจอื่นที่อาจไม่ใกล้เคียงกันแต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของเราได้ ซึ่งทำให้สามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ สิ่งดีๆ ออกมาได้”


     เขาสะท้อนมุมคิดของคนธรรมดาๆ ที่ลุกมาสร้างความเป็นไปได้ให้กับภาคเกษตรไทย ผลสะท้อนจากความตั้งใจคือการคว้ารางวัลโดดเด่นด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ จากเวที SME Thailand Inno Awards 2019 ในปีนี้มาได้สำเร็จ พิสูจน์ความไม่ธรรมดาของผู้ประกอบการไทย ที่เน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรม เพราะเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจอยู่ได้ในโลกยุคนี้ 
 
 
 
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน

SME ไทยจะอยู่รอดได้อย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า

การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้จุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้น SME ไทยจึงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง ...แล้วเราจะอยู่รอดได้อย่างไร