เจาะกลยุทธ์ธุรกิจ “วังพรม” จากแผงขายยาสมุนไพรหน้าวัดไร่ขิง สู่แบรนด์ส่งออกร้อยล้าน!

TEXT : กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • 24 ปีก่อน ตรงแผงขายยาสมุนไพรหน้าวัดไร่ขิง จ.นครปฐม มียาหม่องสมุนไพรสีสันแปลกตา รูปหน้าขวดเป็นชายใส่สูทผูกไท ใช้ชื่อว่า “สมุนไพรวังพรม” ถือกำเนิดขึ้น และเปิดตลาดวันแรกด้วยการขายไม่ได้เลยสักขวด!
 
  • ใครจะคิดว่าผ่านมา 24 ปี วังพรม จะกลายเป็นแบรนด์สมุนไพรขวัญใจคนไทย ที่มีขายทั้งในร้านขายยา และโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ และยังสามารถส่งออกไปทำตลาดทั้งใน สปป.ลาว เกาหลีใต้ หรือแม้แต่รัสเซีย มียอดขายกว่า 200 ล้านบาท
 
  • ติดตามเรื่องราวความไม่ธรรมดาของวังพรม แบรนด์ที่เริ่มจากคนธรรมดา กล้าลองผิดลองถูกและไม่หยุดพัฒนา จนมีธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสามารถส่งไม้ต่อให้ทายาทรุ่น 2 ได้ในวันนี้


   “ยาหม่องสมุนไพรเสลดพังพอน” สีเขียวมรกต และ “ยาหม่องสมุนไพรสูตรไพล” สีเหลืองสะดุดตา มีพรีเซนเตอร์หน้าขวดเป็นชายใส่สูทผูกไท พร้อมชื่อแบรนด์ว่า “วังพรม” พบกันได้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา ไปจนแผงขายของหน้าวัด

     นี่คือหนึ่งในความคุ้นเคยของคนไทย ที่มีต่อยาหม่องสมุนไพรสัญชาติไทยแท้ ซึ่งอยู่ในตลาดมานานกว่า 2 ทศวรรษยืนหยัดเป็นขวัญใจของเหล่าหมอนวดไทย และผู้คนทั่วประเทศ ท่ามกลางแบรนด์ยาหม่องมากมายที่ผุดขึ้นเต็มท้องตลาด ที่ผ่านมาทุกคนรู้จักวังพรมผ่านตัวผลิตภัณฑ์ แต่เรื่องราวของพวกเขายังเป็นที่รู้จักไม่มากนัก ยังเป็นองค์กรโลว์โพรไฟล์ที่โตเงียบๆ มานานหลายปี จนวันที่ทายาทรุ่น 2 “วัชรีภรณ์ วังพรม” ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด เข้ามาสานต่อธุรกิจ ประตูที่เคยปิดเงียบของวังพรม ก็พร้อมเปิดต้อนรับผู้คนให้ไปรู้จักกับโลกใบใหญ่ของพวกเขา  
 



  เริ่มต้นที่หน้าวัดไร่ขิง เติบโตด้วยมาตรฐานและคุณภาพที่ไว้ใจได้
 
       “ธุรกิจนี้คุณแม่ (ประนอม วังพรม) ริเริ่มขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน (ก่อตั้งปี 2538) ท่านเป็นคนหาเช้ากินค่ำ อะไรที่เป็นเงินก็ทำหมด ตอนนั้นเริ่มจากไปรับยาจากวัดโพธิ์ ตรงท่าเตียน มาขายที่วัดไร่ขิง นครปฐม  เพราะเราเป็นคนไร่ขิงอยู่แล้ว พอเห็นว่าขายได้ก็เกิดความคิดว่าอยากจะทำยาหม่องขายเองบ้าง เลยเริ่มไปเรียนรู้ทีละเล็กละน้อย เรียนกับวัดโพธิ์ที่สอนต้มยาหม่อง ทีนี้คุณแม่ท่านมาคิดว่าจะทำยังไงให้ไม่เหมือนกับตลาด เลยคิดพลิกแพลงเอาสมุนไพรมาใส่ เริ่มจากสูตรไพล สีเหลือง เพื่อให้มันต่างจากคนอื่น จากนั้นก็ลองเอามาขายที่ร้านคู่กับยาของวัดโพธิ์..ปรากฎวันแรกขายไม่ได้เลยสักขวด จนต้องแจก”

     วัชรีภรณ์ บอกจุดเริ่มต้นของวังพรม ที่เธอคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความใกล้ชิดกับผู้เป็นแม่ และมีโอกาสเข้ามาช่วยทำงานตั้งแต่ ป.4 สมัยที่ยังไม่มีโรงงานด้วยซ้ำ

     วันแรกแจกกระจาย แต่ใครจะคิดว่าเพราะการแจกครั้งนั้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้ลองใช้ จนเมื่อรู้ว่าใช้แล้วดีเลยได้กลับมาถามไถ่หาซื้อซ้ำ และนั่นเองที่เป็นการแจ้งเกิด “วังพรม” ให้เป็นที่รู้จักของตลาด จนมีนางเอกคู่ขวัญตามมาคือ ยาหม่องสมุนไพรเสลดพังพอน สีเขียว ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของยาสมุนไพรในยุคหลังที่ถ้าใครทำก็ต้องเขียวเข้าไว้





     แม้จะเริ่มต้นแบบบ้านๆ ใช้สัญชาตญานมากกว่าองค์ความรู้ด้านการตลาด แต่ผู้ก่อตั้งวังพรมอย่างประนอม ก็เลือกที่จะทำแบรนด์ของตัวเองตั้งแต่ต้น โดยใช้ “วังพรม” นามสกุลของครอบครัวมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ส่วนพรีเซนเตอร์หน้าขวดก็คือ “เฉลิม วังพรม” สามีของเธอนั่นเอง โดยไม่ลืมที่จะใส่ที่อยู่และเบอร์โทรไว้ข้างขวดเพื่อให้ลูกค้าที่อยากใช้สามารถโทรมาสั่งซื้อได้

     การมุ่งมั่นในคุณภาพและยืดหยัดที่จะทำธุรกิจให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น ทำให้วังพรมเริ่มพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ โดยมีโรงงานที่ได้มาตรฐานสากล  ควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน  จนเป็นเครื่องการันตี “ความไว้วางใจ” ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์มาตลอดหลายปี ทั้งที่แทบไม่มีการทำการตลาดอะไร    

     “คุณแม่ท่านบอกเสมอว่า เราไม่ได้คิดถึงกำไรมากกว่าคุณภาพสินค้าที่ลูกค้าจะได้รับ ซึ่งทุกวันนี้ท่านก็ยังยึดถือคตินี้อยู่”

     ก่อนที่ทายาทจะเข้ามาสานต่อเมื่อ 5 ปีก่อน ในตอนนั้นประนอมสามารถทำให้ธุรกิจที่เริ่มต้นจากหน้าวัดไร่ขิงมียอดขายในวันแรกเท่ากับ “ศูนย์” กลายเป็นธุรกิจที่มียอดขายนับ 170 ล้านบาท มีสินค้าอยู่กว่าร้อยรายการ ไม่ใช่แค่ยาหม่อง แม้แต่ ยาสระผม โลชั่น ตลอดจนเจลล้างมือพวกเขาก็ยังทำได้
 




    ยุคสองของวังพรม ในมือของทายาทรุ่นใหม่

     เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์วังพรม เมื่อ วัชรีภรณ์ วังพรม ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด ทายาทรุ่น 2 และสามี กณพ สุทธะพินทุ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท สมุนไพรวังพรม จำกัด เข้ามาพลิกโฉมธุรกิจวังพรมให้เติบโตไปอีกก้าว

     วังพรมเป็นธุรกิจที่เริ่มมาแบบบ้านๆ บริหารตามสัญชาตญาณ อาศัยพนักงานคนไหนเก่งอะไรก็ให้ไปทำอย่างนั้น ไม่ได้มีระบบอะไร แค่ผลิตและส่งขาย ไม่มีมีการจัดวางรากฐานอะไรให้กับองค์กรจนวันที่ทายาทเข้ามา วัชรีภรณ์  เริ่มมาจัดการงานใหญ่ คือวางระบบหลังบ้านให้แข็งแกร่งเพื่อปูรากฐานสู่การเติบโตในอนาคต 

    “ตอนคุณแม่ทำ ท่านไม่ได้มองข้างนอกว่าตอนนี้ตลาดเริ่มเกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น เราก็เริ่มมาแก้ปัญหาในองค์กรของเรา โดยมองว่า หัวใจสำคัญที่สุดก็คือระบบหลังบ้าน เพราะหากทำระบบหลังบ้านให้แน่นและดี เราก็จะสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้เรื่อยๆ ระบบหลังบ้านหมายความว่า เราจะรู้ต้นทุนที่แท้จริง รู้ทุกอย่างบนข้อมูลความเป็นจริง เราจึงจะสามารถบริหารจัดการได้ และนำเงินบางส่วนมาใช้ในด้านการตลาดได้ แต่ถ้าเราไม่รู้ต้นทุนหลังบ้าน แค่ทำๆ ไป สุดท้ายเหลือกำไรหรือเปล่าก็ยังไม่รู้

     เราเลยเริ่มจากมาวางระบบ จากนั้นก็ตัดรายการสินค้าที่ขายไม่ดี ขายออกช้า คัดออกจากร้อยรายการให้เหลือประมาณ 50 และกำลังจะตัดอีก รวมถึงพยายามพัฒนาสินค้าตัวใหม่เพื่อมาเป็น New S-Curve ของบริษัท เพื่อให้มียอดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มมีงบมาทำการตลาด มี “คุณต้อม รชนีกร พันธุ์มณี” มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรก เราเริ่มรีโนเวตออฟฟิศใหม่ ดึงคนเก่งๆ เข้ามาทำงาน คุณแม่ท่านดูแลการผลิต พวกเราก็ดูในส่วนของออฟฟิศและการตลาด มีการขยายตลาดต่างประเทศโดยส่งออกไปประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ไปที่สปป.ลาว เกาหลีใต้ และรัสเซีย ส่วนในประเทศเราจับมือกับกลุ่ม BJC ให้ช่วยทำตลาดให้ เพื่อให้แบรนด์ของเราแมสขึ้น” เธอเล่า





    การมาถึงของเกมการตลาดบทใหม่ ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวยังคงมียอดขายที่เติบโตขึ้น สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ซึมเซา โดยวังพรมมียอดขายในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 246 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 270 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 300 ล้านบาท โตกว่าธุรกิจที่แม่สร้างไว้เกือบเท่าตัว  

     “เราไม่ได้อายที่เราเริ่มจากศูนย์ ออกจะภูมิใจด้วยซ้ำที่คนซึ่งเริ่มจากศูนย์จะมาถึงจุดนี้ได้ โดยที่ไม่มีใครช่วยเหลืออะไร แต่อาศัยสมองกับสองมือของคุณแม่ที่ท่านคิดมาเองทำมาเอง เราภูมิใจที่จะบอกว่าพวกเราเป็นคนบ้านๆ แต่ในฐานะทายาทเราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะมาต่อยอดและสร้างให้ธุรกิจของเรามันเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ” เธอบอกความมุ่งมั่น
 
    วันนี้วังพรมกำลังขยายโรงงานใหม่ เพื่อให้ได้มาตรฐานและมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยจากโรงงานเดิมที่ผลิตได้ประมาณ 10 ล้านขวดต่อปี มาเติมพลังกับโรงงานใหม่ ที่จะทำให้พวกเขาสามารถผลิตได้ที่ 17 ล้านขวดต่อปี รองรับการเติบโตของตลาดในอนาคต

    สำหรับทายาทที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว วัชรีภรณ์ ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และเธอเองก็แทบถอดใจหลายครั้ง จากแรงกดดันของทั้งพนักงานและคนในครอบครัว แต่เธอบอกว่าต้องสู้และใจแข็ง ถ้าเชื่อว่าสิ่งที่ทำจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับธุรกิจของครอบครัวได้ แล้วให้ผลของงานเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งการยอมรับของผู้เป็นแม่ในวันนี้ ก็คือรางวัลของความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมดแล้ว
 
 


 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน