“สุรพล พฤกษานุกุล” คนที่สร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตปี'40 ด้วยการ "ขายฝุ่น"

TEXT :  กองบรรณาธิการ





Main Idea
 
  • ในช่วงเวลาที่ทุกคนเกิดวิกฤต ธุรกิจชะงักงัน แต่ใครคนหนึ่งสามารถสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้ ด้วยการขายสิ่งที่ทุกคนมองข้ามอย่าง “เถ้าลอย” ที่เกิดจากกระบวนการเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้า ซึ่งสามารถทดแทนปูนซีเมนต์
 
  • วันนี้ธุรกิจยังเจอวิกฤตเป็นระลอกๆ แต่ทุกครั้งเขาสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ขึ้นมาได้แม้ในยามวิกฤต โดยการหยิบจับสิ่งที่ผู้คนมองข้ามมาสร้างมูลค่า มองวิกฤตเป็นโอกาส เลือกพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง และไม่ยอมยกธงขาวให้กับปัญหา
 
  • มาทำความรู้จัก “สุรพล พฤกษานุกุล” กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ทอรัส พอซโซลานซ์ จำกัด วิศวกรโลว์โพรไฟล์ ผู้สร้างความสำเร็จได้ไม่ธรรมดาในทุกวิกฤต



     เวลาคนตกงานมักจะถูกแซวว่า “ออกไปวิจัยฝุ่น” แต่ใครจะคิดว่าวันหนึ่งจะมีใครบางคนลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจใหม่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ด้วยการ “ขายฝุ่น” กับเขาจริงๆ


     ใครคนนี้มีชื่อว่า “สุรพล พฤกษานุกุล” กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ทอรัส พอซโซลานซ์ จำกัด มาทำความรู้จักเขาไปด้วยกัน
               




     ก่อนปี 2540 สุรพลเคยรวมตัวกับเพื่อนตั้งบริษัททำพวกคอนกรีตผสมเสร็จ ธุรกิจกำลังไปได้ดีและมีแววขยับขยาย ทว่าต้องมาล้มไม่เป็นท่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งรู้กันดีว่าธุรกิจก่อสร้างเจอก็ศึกหนักไม่ต่างจากสถาบันการเงิน
               

     ในยามที่เกิดวิกฤตทุกคนต่างแสวงหาหนทางที่จะลดต้นทุน และนั่นเองที่ทำให้สุรพลเริ่มคิดหาวัตถุดิบที่จะมาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ ด้วยประสบการณ์ที่เคยร่ำเรียนและทำงานในต่างประเทศมา เคยอยู่แล็บวิจัย และเคยไปดูงานโรงไฟฟ้า จึงเห็นโอกาสจาก “เถ้าลอย” หรือเถ้าที่เกิดจากกระบวนการเผาถ่านหินในโรงไฟฟ้า ซึ่งสามารถทดแทนปูนซีเมนต์ได้ แต่ ณ เวลานั้นที่บ้านเรายังไม่มีใครเอามาใช้ ส่วนใหญ่ก็ฝังกลบอย่างเดียว ปล่อยให้เถ้าลอยหลายล้านตันปลิวว่อนเป็นฝุ่นผง และมีมูลค่าเท่ากับ “ศูนย์”
               





     พวกเขาจึงพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยนำสิ่งที่ทุกคนมองข้ามมาสร้างให้เกิดประโยชน์ และเป็นรายแรกในประเทศไทยที่นำเถ้าลอยมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมการผลิต  ก่อนก่อตั้งบริษัท ทอรัส พอซโซลานซ์ จำกัด  ขึ้นในปี 2542 ยุคที่วิกฤตยังไม่ผ่านพ้น แต่ธุรกิจใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว
               

     ยุคเริ่มต้น เถ้าลอยเป็นของฟรี ต้นทุนในธุรกิจหลักๆ จึงมาจากค่าขนส่ง   แต่วันนี้เถ้าลอยเป็นของที่ใครๆ ก็ต้องการ รายใหญ่เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น และซื้อขายกันในระบบประมูล  ของที่เคยฟรีกลับมีราคาสูงขึ้นทุกปี คุณภาพและปริมาณก็น้อยลงเรื่อยๆ แต้มต่อที่เคยมีในยุคเริ่มต้นวันนี้ต้องนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง
               




     ถามว่าพวกเขาทำยังไง?
               

     สุรพล เริ่มหาโอกาสในวิกฤตอีกครั้งโดยนำเถ้าลอยคุณภาพต่ำที่นำมาใช้ไม่ได้ มาศึกษาวิจัย ใส่สารปรับคุณภาพ  เข้าเครื่องจักร ปรับกระบวนการเพื่อทำให้คุณภาพดีขึ้นเพื่อขายต่อ เริ่มขยายจากเถ้าถ่านหิน ไปสู่เถ้าอื่นๆ เช่น เถ้าจากการเผาปาล์ม เผาแกลบ ที่ยังไม่มีใครทำเพื่อต่อสายป่านธุรกิจให้ยาวขึ้น
               

     แต่เท่านั้นยังไม่พอ ในยุคที่เถ้าลอยมีปริมาณน้อยลง เรื่องสิ่งแวดล้อมถูกให้ความสำคัญมากขึ้น  พวกเขามาเริ่มพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม จนนำมาสู่ K Block เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์มวลเบา ภายใต้ บริษัท เค บล็อค เทคโนโลยี จำกัด ส่งขายไปทั้งในและต่างประเทศ


      แต่โอกาสใหม่ก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อวันหนึ่งมีข่าวยักษ์ใหญ่เทคโอเวอร์ผู้ผลิตนวัตกรรมอิฐมวลเบา ซึ่งด้วยศักยภาพสามารถสนองตลาดได้ทั้งประเทศด้วยซ้ำ แถมยังมีคู่แข่งรายอื่นตามมาไม่หยุดหย่อน จนของใหม่กลายเป็นตลาดที่ “โอเวอร์ซัพพลาย” คนที่เก่งผลิตไม่เก่งการตลาด ซ้ำยังตัวเล็กกว่ารายใหญ่หลายเท่า จึงต้องเปลี่ยนเกมรุก


     วันนี้อดีตคนขายฝุ่นเลิกขายอิฐบล็อก แต่หันมามุ่งด้านงานวิจัยและพัฒนาอย่างเต็มตัว จนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีมวลเบาให้ความแข็งแรงอยู่ในระดับที่เป็นโครงสร้างได้ และเริ่มนำไปใช้ที่หน้าไซต์งานก่อสร้าง สร้างโอกาสในตลาดที่ยังไม่มีใครทำ


     ยังไม่จบเพียงแค่นั้น เมื่อเก่งผลิต เก่งนวัตกรรม พวกเขาจึงขยายธุรกิจมาสู่การขายโนว์ฮาว และโรงงาน เพราะมีน้ำยาที่ใช้ในการทำบล็อกมวลเบาที่วิจัยขึ้นมาเอง มีเครื่องจักรที่พัฒนาเอง มีโรงงานมวลเบาที่ทันสมัยที่สุด มีระบบเซ็นเซอร์ควบคุมการทำงาน โดยทั้งโรงงานใช้คนแค่ไม่ถึง 10 คน ซึ่งธุรกิจใหม่ขายในราคาตั้งแต่ โรงงานขนาดเล็กที่ประมาณ 5 ล้านบาท ขนาดกลางที่ 10-20 ล้านบาท ไปจนขนาดใหญ่ที่หลัก 100 ล้านบาท! และปัจจุบันก็ขายไปได้แล้วในต่างประเทศ




     นี่คือเรื่องราวความสำเร็จของคนธรรมดาที่สุดแสนจะโลว์โพรไฟล์ และเริ่มทำธุรกิจโดยการหยิบจับสิ่งที่ผู้คนมองข้ามมาสร้างมูลค่า มองวิกฤตเป็นโอกาส และเลือกที่จะพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง ไม่ยอมยกธงขาวให้กับปัญหา เลยก่อเกิดธุรกิจขึ้นมาได้แม้ในช่วงเวลาที่ทุกคนเรียกว่า “วิกฤต”  
               
 




www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน