ส่องโชว์รูมสุดอลัง “คิวบิค เจมส์” ประติมากรรมรูปปั้นมงคลฝีมือไทยที่อยู่ในบ้านคนดังระดับโลก

TEXT :  กองบรรณาธิการ  PHOTO :  เจษฎา ยอดสุรางค์





Main Idea
 
  • คิวบิค เจมส์” (Cubic Gems) คือผู้ผลิตอัญมณีคุณภาพสูง และงานประติมากรรมรูปปั้นมงคลสัญชาติไทยแท้ ที่อยู่ในสนามมานาน 24 ปี วันนี้ผลงานของพวกเขาส่งออกไปขายในหลายประเทศทั่วโลก และบางชิ้นก็อยู่ในบ้านผู้นำระดับประเทศก็มี
 
  • แต่กว่าจะมาเป็นความสำเร็จในวันนี้ได้นั้นไม่มีอะไรง่าย และเกือบจะเจ๊งมาแล้วหลายครั้ง  ซึ่งพวกเขาย้ำเสมอว่า การจะทำธุรกิจนี้ไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียวแต่ต้องมีดวงด้วย โดยดวงเป็นตัวประคองธุรกิจ และทำให้พวกเขาเจอธุรกิจนี้ แต่การพัฒนาให้สำเร็จนั้นเกิดจากตัวเองทั้งสิ้น




     นกยูงเด่นสง่า ประดับประดาด้วยคริสตัล  อัญมณีเนื้องาม หินหายาก และวัสดุทรงคุณค่า ผสมผสานทักษะงานช่างศิลป์และจิวเวลรี่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว  เสกสรรเป็นงานประติมากรรมสุดอลัง ที่ราคาขายสูงถึงคู่ละ 12 ล้านบาท! ทั้งยังทำออกมาเพียงไม่กี่ตัว โดย 1 ตัวถูกขายให้คนไทย ที่เหลือส่งออกไปต่างประเทศ และ 1 คู่ในนั้น อยู่ที่บ้านของท่านผู้นำ “ฮุน เซน” นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชา
               




     นี่คือหนึ่งในผลงานสุดอลังท่ามกลางประติมากรรมนับร้อยชิ้น ตั้งแต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไปจนถึงของแต่งบ้านขนาดใหญ่เสริมบารมีและความเป็นสิริมงคล ที่พบเห็นได้ในโชว์รูมของ “คิวบิค เจมส์” (Cubic Gems) ผู้ผลิตอัญมณีคุณภาพสูง และงานประติมากรรมรูปปั้นมงคลสัญชาติไทยแท้ ที่อยู่ในสนามมานาน 24 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538)
แม้วันนี้จะเห็นภาพความสวยงามละลานตา แต่ “พงศ์พศิน ธนสินตระกูล” ผู้ก่อตั้ง บริษัท คิวบิค เจมส์ จำกัด บอกเราว่า พวกเขาต้องผ่านสถานการณ์วัดใจมาหลายครั้ง และเริ่มต้นธุรกิจด้วยคำว่า “ยากลำบาก” กว่าจะมาเป็นแบรนด์ที่คนรักงานศิลป์และของมงคลสุดหลงใหลอย่างวันนี้ได้
               




      “ธุรกิจนี้มีเงินอย่างเดียวทำไม่ได้ ฝีมืออย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยโชคด้วย” พงศ์พศิน เริ่มต้นเล่าเรื่องของพวกเขา ด้วยเส้นทางธุรกิจที่ไม่ได้สวยงามเหมือนชิ้นงานที่ทำ  โดยเฉพาะช่วงสิบปีแรกที่เขาบอกว่าสาหัสสากรรจ์ เมื่อต้องเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง หลังเริ่มต้นธุรกิจมาได้เพียง 2 ปี
               

     “ผมเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2538 ใช้เวลาหลายปีกว่าจะเป็นที่รู้จักขึ้นมา โดยธุรกิจเราเพิ่งดีขึ้นจริงๆ ก็ในปี 2553 นี้เอง พูดตรงๆ ผมแทบจะเจ๊งอยู่แล้ว”  


     เกิดอะไรขึ้นกับวันเริ่มต้น ทำไมเขาถึงเปิดเรื่องมาโหดร้ายเช่นนี้ ไปหาคำตอบกัน
 

     เมื่อธุรกิจจิวเวลรีเริ่มไม่หอมหวาน


     พงศ์พศิน เล่าให้ฟังว่า เขาเกิดมาในครอบครัวที่ทำจิวเวลรีส่งให้กับลูกค้าต่างประเทศ จึงคุ้นเคยกับงานจิวเวลรีดี ภายหลังแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเองร่วมกับภรรยาและลูกน้องอีก 2 คน โดยเริ่มจากสิ่งที่ถนัดนั่นคือ จิวเวลรี แต่พบว่า ธุรกิจนี้โหดหินขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องเจอกับคู่แข่งอย่างจีน กลุ่มสินค้าที่เป็นชิ้นงานสำเร็จรูป (Finished Product) เริ่มจะไปไม่รอด กลุ่มที่ทำโออีเอ็มให้กับต่างประเทศ ออเดอร์ใหญ่ๆ ก็ย้ายไปที่จีนกันหมด ขณะที่ธุรกิจยังต้องแบกรับกับดอกเบี้ยธนาคาร และการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง เพราะต้นทุนค่าวัสดุค่อนข้างสูง เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงลิ่ว และแม้จะมีเงินนอนมา แต่ก็ใช่ว่าจะเริ่มธุรกิจนี้ได้ง่ายๆ เพราะยังต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือและการทำการตลาดที่ดีอีกด้วย


     “ในช่วง 4-5 ปีแรก ผมขาดทุนอย่างเดียว ขาดทุนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงปีวิกฤต ทำให้เราติดลบเยอะมาก เงินทุนส่วนหนึ่งที่มีก็หมดไปกับช่วงแรกๆ ซึ่งเราอยู่แค่ตึกเก่า 2 ห้อง ฝั่งตรงข้าม ผมมาคิดว่าเราจะรับงานเหมือนสมัยก่อนที่ครอบครัวเราทำกันมาไม่ได้ ตอนนั้นที่บ้านทำรับจ้างผลิตและส่งออกเองด้วย แต่ฐานส่วนใหญ่จะมาจากต่างประเทศ มีเจ้าที่สั่งประจำเหมือนผูกขาดเลย ซึ่งมันก็มีช่วงที่ขายได้ และขายไม่ได้ เมื่อก่อนเขาจ้างเราเพราะต้นทุนเราถูก แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ พอมาทำเองผมเลยต้องคิดใหม่”
 




     จากทักษะจิวเวลรี่สู่งานประติมากรรมรูปปั้นมงคล


     ต้นทุนสำคัญที่เขามีในตอนเริ่มต้น คือช่างที่มีฝีมือในการทำจิวเวลรี่ และตัวเขาเองที่แม้จะเรียนมาทางด้านเศรษฐศาสตร์แต่ชื่นชอบและหลงใหลในงานออกแบบ จึงขยับจากการทำจิวเวลรี่มาเข้าสู่งานประติมากรรมรูปปั้นมงคล ที่ประดับประดาด้วยคริสตัล และอัญมณีเลอค่า โดยผสมผสานระหว่างงานช่างศิลป์และงานจิวเวลรี่เข้าไว้ด้วยกัน จนออกมาเป็นชิ้นงานที่ไม่เหมือนใคร ที่ไม่ใช่แค่สวยแต่ยังทรงคุณค่าน่าครอบครองอีกด้วย  


     “ผมมองว่าตลาดของมงคลมันไม่มีจุดจบ ช่วงแรกๆ เราทำพวกของมงคลรูปนักษัตร 12 ราศี พัฒนามาติดพลอย ติดคริสตัล โดยมุ่งเป้าเจาะลูกค้าเอเชียเป็นหลัก เพราะชาวเอเชียมีความเชื่อในเรื่องของมงคลและโชคลาภ ซึ่งกว่าจะทำได้ไม่ใช่ง่าย โดยเฉพาะการที่จะให้ช่างจิวเวลรีมาเรียนรู้เรื่องของโครงสร้างที่เป็นรูปร่าง การปั้นขึ้นรูป มันต้องมีอารมณ์ มีวิธีคิด ตอนนั้นก็ค่อยๆ เริ่มกันมา โดยผมจะทำการออกแบบ ส่วนลูกน้องเราไม่ได้บริหารแบบช่างฝังก็ฝังอย่างเดียว ตกแต่งก็คือแต่งอย่างเดียว ไม่ใช่ แต่ทุกคนต้องสามารถขยับได้หมด ทำได้หลายทักษะ หลักการง่ายๆ คือ เราต้องการประหยัดเรื่องของคนลง เพราะถ้าคุณจ้างมาแต่ละแผนกเกิดแผนกนี้ไม่มีงานจะเป็นยังไง ไม่มีงานสักเดือนก็เป็นปัญหาแล้ว ซึ่งเราไม่ได้มีเงินทุนในการลงทุนขนาดนั้น” เขาบอกวิธีคิดที่มีคนเป็นหัวใจขับเคลื่อนธุรกิจ
 




     เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ



     เริ่มธุรกิจมาอย่างยากลำบาก วันหนึ่งแสงสว่างเล็กๆ ก็ฉายชัดขึ้น เมื่อมีลูกค้าจากสิงคโปร์มาสั่งทำม้า 2 พันตัว
               

     “ลูกค้าต่างประเทศรายแรกเขาทำร้านขายของมงคลอยู่ที่สิงคโปร์ ตอนนั้นเขาจะสร้างวัดกวนอู เลยให้เรามาทำม้าของกวนอู (เซ็กเธาว์) ให้ประมาณ 2 พันชิ้น เพื่อแจกให้กับคนที่บริจาคเงินสร้างวัด  ตอนนั้นเรายังเป็นแค่บริษัทในห้องแถวเล็กๆ มีคนงานแค่ประมาณ 10 คน ออเดอร์ขนาดนี้ก็ค่อนข้างเยอะ แต่ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถึงแม้จะไซส์เล็กแต่ทุกอย่างมันขึ้นกับตัวเราเอง อยู่ที่เราจะบริหารจัดการกับคนของเราอย่างไร ผมมองว่าการบริหารคนมันสำคัญกว่าเครื่องมือเครื่องไม้หลายเท่า ยิ่งต้องทำงานที่ไม่ใช่สำเร็จรูปเหมือนบะหมี่ใส่ซอง ก็ยิ่งยาก เพราะงานนี้มันต้องใช้มือทำ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และใช้การทำงานเป็นทีม โดยคนที่ต้องมารับช่วงต่องานในแผนกอื่นๆ ต้องสามารถทำงานเข้ากันได้หมด เพื่อให้ชิ้นงานออกมาดีที่สุด เราก็ค่อยๆ ฝึกคนของเราขึ้นมา และทำให้เขาทันตามกำหนด” เขาบอกกลยุทธ์ที่ธุรกิจไซส์เล็กใช้รับมือกับออเดอร์ใหญ่ และนับเป็นการเปิดตลาดต่างประเทศของพวกเขา  
               




     การออกแบบที่เน้นความประณีต สวยงาม และเสมือนจริง ด้วยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์สุดบรรเจิด  บวกการคิดหลายชั้น เน้นทำงานยาก ใช้เทคนิคซับซ้อน เพื่อให้ได้ผลงานที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ ทำให้คิวบิค เจมส์ กลายเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ พวกเขาเริ่มไปขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ  ขายทั้งตลาดทัวร์ และกลุ่มคนไทย ออกงานแสดงสินค้า และจับตลาดของที่ระลึกองค์กร ซึ่งนั่นคือจุดพลิกสำคัญที่ทำให้ธุรกิจซึ่งเคยย่ำแย่ กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง





     จากห้องแถวขนาด 2 ห้อง วันนี้คิวบิค เจมส์เติบใหญ่ขึ้น มีโชว์รูมขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง อวดโฉมผลงานมงคลที่น่าทึ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนกยูงงามเด่น มังกรคาบแก้ว ฝูงปลาคาร์ป 8 ตัว ตามเลขมงคลของจีน ม้ามงคลในท่วงท่างามสง่า เรือสุพรรณหงส์ทองคำประดับคริสตัล และอีกหลากหลายผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 10 แบบ เพื่อให้ลูกค้าได้เห็นอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ  ทั้งยังเคยได้รางวัลระดับประเทศ อย่าง OTOP Product Champion  ระดับห้าดาว มาแล้วด้วย ซึ่งปัจจุบันผลงานของพวกเขาถูกส่งออกไปในหลายประเทศทั่วโลก ในประเทศเองก็มีตลาดใหม่ๆ อย่าง การทำของขวัญงานแต่งให้กับชาวอินเดียฐานะดีที่นิยมมาแต่งงานในเมืองไทย เป็นต้นด้วย  จากบริษัทที่เคยเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารอย่างยากลำบาก วันนี้พวกเขาคือหนึ่งในลูกค้าชั้นดีของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในโครงการ Transformation Loan ที่ยังนำทุนมาสร้างการเติบโตของธุรกิจต่อไปได้
 




     นำความหรูหราเข้าสู่โลกออนไลน์
               

     ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลง พงศ์พศิน อาจเป็นผู้ประกอบการอีกยุคหนึ่ง ที่สู้รบด้วยสัญชาตญาณ ใช้เครื่องไม้เครื่องมือแบบเก่าเท่าที่คนตัวเล็กๆ อย่างเขาในวันนั้นจะทำได้ แต่วันนี้สนามแข่งขันเปลี่ยนไป แม้แต่พฤติกรรมและการใช้ชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย  หนึ่งในความโชคดีของพวกเขา คือการที่วันนี้มีคนรุ่นใหม่อย่าง “พัชรลักษณ์  ธนสินตระกูล” ทายาทรุ่นสอง คิวบิค เจมส์ เขามาช่วยสานต่อธุรกิจ ที่มาของแนวคิดใหม่ๆ ที่กำลังเติมเต็มกลยุทธ์อันแข็งแกร่งให้กับพวกเขาในวันนี้
                 

      โดย พัชรลักษณ์  เรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยมหิดล  จากนั้นมีโอกาสไปศึกษาต่อปริญญาโท ด้าน Luxury Brand Management ที่เซี่ยงไฮ้และฝรั่งเศส  ซึ่งตรงกับธุรกิจที่ครอบครัวทำ ก่อนกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวในเวลาต่อมา


      “อย่างที่ทุกคนเข้าใจว่า ณ ตอนนี้ธุรกิจในรูปแบบเก่าๆ ค่อนข้างมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ไปได้ยากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาเราพยายามทดลองขายออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับดี ถามว่าของพวกนี้ขายออนไลน์ง่ายไหม ในความเป็นจริงมันอาจจะขายได้ยากกว่าของถูก แต่ด้วยจุดแข็งที่เรามีคือ เราไม่ได้มีของที่เหมือนคนอื่น ยังมีคนต้องการสินค้าของเรา ซึ่งพอมีช่องทางออนไลน์ เราอาจจะปิดลูกค้าไม่ได้ในออนไลน์ทันที แต่มันทำให้คนเข้าไปดูแล้วมาปิดการขายในช่องทางออฟไลน์ หรือทางไลน์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเราส่งไปเยอะมาก วันๆ ต้องตอบแชตไลน์เยอะ เรียกว่าเยอะกว่าลูกค้าที่เดินมาที่ร้านอีก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งทางออนไลน์ จะเป็นฐานลูกค้าเก่าของเราที่เขาเคยมาซื้อที่ร้าน เขารู้จักเราแต่ไม่อยากมาที่โชว์รูมอีกแล้ว เขาอยากเลือกจากในเว็บที่เห็นภาพชัดๆ บอกข้อมูลครบ แล้วถ้าไม่พอเขาก็ขอให้ส่งวิดีโอให้ดูผ่านไลน์ ซึ่งกลายเป็นว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น” เธอบอก


      พัชรลักษณ์   บอกอีกว่า ที่เธอสามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างใน คิวบิค เจมส์ ได้ เพราะผู้เป็นพ่อค่อยข้างเปิดรับ เปิดกว้าง และชอบที่จะให้ลูกได้ทำของใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้คิวบิค เจมส์ในวันนี้ยังคงขยับขยายและเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ





     วันที่เราไปสัมภาษณ์ ยังเห็นผลงานระหว่างทำที่ออเดอร์มาจากต่างประเทศอีกหลายชิ้น ซึ่งบางชิ้นราคาหลักล้านบาท แม้แต่ขณะสัมภาษณ์ในโชว์รูม เดินกลับมาอีกครั้งก็พบว่าสินค้าบางชิ้นได้ถูกขายออกไปแล้ว เมื่อแอบถามเล่นๆ ว่า โชว์รูมแห่งนี้มีมูลค่าเท่าไร คนทำตอบเราเพียงว่า ไม่เคยคิด ไม่เคยคำนวณ แม้แต่ตอนถามว่าชอบชิ้นไหนที่สุด เขาก็ตอบเพียงว่า ชอบทุกชิ้น เพราะถ้าไม่ชอบก็คงไม่ทำออกมาขาย
               

      “ผมไม่เคยประเมินตัวเองว่าตอนนี้เรามีมากแค่ไหน แต่จะคิดว่าตัวเองต่ำที่สุด เราไม่จำเป็นต้องบ้าสมบัติอะไรขนาดนั้น ไม่เอา ยังย้ำว่าการทำธุรกิจนี้ไม่ใช่แค่เก่งแต่ต้องมีดวงด้วย ทุกอย่างต้องรวมกัน ดวงอาจจะเป็นตัวประคอง ตัวที่ทำให้เราเจอธุรกิจนี้ แต่การพัฒนาให้สำเร็จ เกิดจากตัวเราเอง” เขาสรุปในตอนท้าย
 
      

         
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
 

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

อย่างอาร์ต! MAMAD แบรนด์แฟชั่น X ศิลปะ วาดลวดลายสไตล์ Semi Abstract สร้างความแปลก ออกแบบ “ศิลปะที่สวมใส่ได้”

“Me As My Art Daily” ศิลปะคือส่วนหนึ่งของตัวตนเราในทุกวัน คือนิยามของแบรนด์แฟชั่นสุดอาร์ตอย่าง MAMAD ที่นำเอาศิลปะและแฟชั่นมาผสานกัน กลายเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และหมวกที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์ ความแปลกตา และสไตล์ที่ไม่ซ้ำใคร

Nyana Nyana Eco Fashion อดีตสถาปนิกนักสู้มะเร็ง สู่เจ้าของแบรนด์แฟชั่นออร์แกนิก เป็นมิตรต่อผู้สวมใส่ และสิ่งแวดล้อม

Nyana Nyana Eco Fashion แบรนด์แฟชั่นของอดีตสถาปนิกหญิงสิงคโปร์ที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แม้พบว่าป่วยเป็นมะเร็ง แต่ “Clara Simanjuntak” กลับใช้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต ทำสิ่งดีๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์เสื้อผ้าจากผ้าออร์แกนิก

บ้านโอบอุ่น ธุรกิจเล็กๆ ของนักศึกษาพยาบาล ที่ทำให้คนแปลกหน้ากลายเป็นเพื่อนกัน

พาไปรู้จักบ้านโอบอุ่น ธุรกิจโฮมสเตย์เล็กๆ ที่ปลูกขึ้นกลางทุ่ง ของ อั้ม-พัชราภา อ่ำปั้นนักศึกษาพยาบาล ที่นั่งรถไฟจากพิษณุโลกไปเชียงดาวทุกสัปดาห์เพื่อมาทำโฮมสเตย์เล็กๆ ที่เปลี่ยนคนแปลกหน้าให้กลายเป็นเพื่อนกัน